31 ต.ค. 2021 เวลา 01:44 • ท่องเที่ยว
"พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร" (1) .. มรดกล้ำค่าของชาติ
“พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร” .. เดิมนั้นคือ "พระราชวังบวรสถานมงคล" หรือ “วังหน้า” ซึ่งเป็นสถานที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เทียบได้กับพระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๑-๕ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นตำแหน่งมกุฎราชกุมารในสมัยรัชกาลที่ ๖
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นพระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เดิมมีนามว่า พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เดิมสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อทำการพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีตรุษสารท พระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ เป็นต้น
หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2330 พระองค์เสด็จไปยังเชียงใหม่ และไดัอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมา พระองค์จึงทรงพระราชอุทิศพระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงเปลี่ยนนามพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ปัจจุบัน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประวัติ
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้น เดิมมีพระดำริว่าจะใช้สำหรับเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีตรุษสารท พระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ
ในระหว่างนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระบรมราชโองการให้พระองค์เสด็จขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่เพื่อสำราจการสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้ประชาชนอยู่ได้ตามปกติ ซึ่งในขณะนั้น เมืองเชียงใหม่อาจจะถือได้ว่าเป็นเมืองร้างเนื่องจากเกิดศึกสงครามอยู่บ่อยครั้ง ประชาชนส่วนใหญ่จึงอพยพลี้ภัยไปอาศัยอยู่เมืองอื่น
ในระหว่างการสำรวจนั้น พระองค์ได้พบพระพุทธสิหิงค์ และทรงระลึกได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่เคยประดิษฐาน ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา .. พระองค์จึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาที่พระนคร แล้วทรงพระราชอุทิศพระที่นั่งองค์นี้ พร้อมทั้งสร้างปราสาททองห้ายอดถวายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และประทานนามพระที่นั่งว่า "พระที่นั่งสุทธาสวรรย์"
ภายหลังการเสด็จทิวงคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชดำริว่า "พระพุทธรูปเงินทองและของพุทธบูชามีอยู่ในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์มาก หากทิ้งไว้ผู้ร้ายจะลักเอาไปเสีย" ดังนั้น จึงโปรดฯ ให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์และพระพุทธรูปอื่น ๆ มาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งแต่นั้นมา
ในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ พระองค์โปรดให้รื้อปราสาททองห้ายอดซึ่งเคยประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ออก แล้วให้ตั้งพระแท่นเศวตฉัตรแทนเพื่อใช้เป็นที่เสด็จออกแขกเมือง และพระสงฆ์ถวายพระธรรมเทศนา
ต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงปฏิสังขรณ์พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ใหม่ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า การปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้เป็นที่น่าชมอย่างหนึ่งที่ของเดิมสิ่งใดดีเอาไว้หมดทุกอย่าง เป็นแต่ซ่อมแซมที่ชำรุด จึงยังแลเห็นของเดิมที่ทำโดยประณีตบรรจงมาจนทุกวันนี้ พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงเปลี่ยนนาม "พระที่นั่งสุทธาสวรรย์" เป็น "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์" อาจจะด้วยเหตุผล 3 ประการ ได้แก่
1.เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีชื่อที่ใกล้เคียงกับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ดังนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพจึงเปลี่ยนนามพระที่นั่งเพื่อให้แตกต่างไป
2.สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้สร้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยขึ้นใหม่ ดังนั้น จึงได้เปลี่ยนชื่อพระที่นั่งเป็น "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์" เพื่อให้ชื่อคล้องจองกัน
3.หลังจากการสร้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระองค์ทรงให้ย้ายพระแท่นเศวตฉัตรซึ่งเดิมตั้งอยู่ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ไปไว้ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระองค์คงมีพระราชดำริให้พระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปดังที่เคยเป็น จึงเปลี่ยนพระที่นั่งใหม่เป็น "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์"
หลังจากนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับที่พระบวรราชวัง พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กลับมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ดังเดิม
ด้านหน้าพระที่นั่ง มีประติมากรรม “พระนารายณ์ทรงปืน” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ทรงหล่อขึ้น เพื่อจะนำไปตั้งหน้าพระราชวังรามราชนิเวศน์ จังหวัดเพชรบุรี แต่ยังไม่ทันส่งไปก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ภายหลังจึงนำมาตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พระนคร
พระพุทธสิหิงค์
พระพุทธสิหิงค์ .. เป็นพระพุทธรูปโบราณ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 หล่อด้วยสำริดหุ้มทอง ปางสมาธิ สูง 79 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร เป็นศิลปะแบบลังกา นับถือเป็นพระพุทธปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ทรงอานุภาพตามตำนานพระพุทธสิหิงค์
ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าสีหฬะ พระมหากษัตริย์แห่งลังกาทวีปทรงสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 700 ต่อมา เจ้านครศรีธรรมราชได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา
ต่อมา ได้มีผู้นำไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชรและเชียงราย เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. 2205 ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานถึง 105 ปี
เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่าใน พ.ศ. 2310 ชาวเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่ เมื่อมณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2338 โดยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล
พระพุทธสิหิงค์ นับเป็นพระพุทธรูปอำนวยความอุดมสมบูรณ์ ได้รับการอัญเชิญออกมาช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ประชาชนไทยได้สักการะและสรงน้ำ คติการบูชา เพื่อความเป็นศิริมงคลและความบริบูรณ์ของบ้านเมืองและผู้สักการะ
หากมองไปรอบๆ จะเห็นความวิจิตรงดงามของด้านในองค์พระที่นั่งฯ อันแสดงถึงฝีมือช่างชั้นครู … ส่วนด้านบนมีภาพวาดชุมนุมเทวดาอยู่โดยรอบ
พื้นที่ส่วนด้านหลัง เป็นที่ตั้งของลับแล และตู้พระธรรม … มีลวดลายรดน้ำด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งเป็นภาพเขียนสี ที่ผู้รู้เล่าว่า เป็นเรื่องรามเกียรติ์ที่ สมเด็จพระวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (วังหน้าสมัย ร.3) โปรดให้สร้างขึ้น
ประตูและผนังด้านหลังองค์พระที่นั่งงดงามด้วยภาพเขียนสี เข้าใจว่าเป็นรูปเทวดา
หากเรายืนด้านหลังขององค์พระที่นั่ง มองออกไปยังประตูทางเข้า … ผนังด้านซ้ายมือเวียนไปจนรอบ แล้วกลับมาทางด้านขวามืออีกครั้ง
… จะเห็นภาพวาดพุทธประวัติ เริ่มตั้งแต่การทูลเชิญเทวดา (ลืมชื่อไปแล้วค่ะ) ให้มาจุติเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า … ภาพประสูติ ..
ออกบวช .. ลอยถาดหลังเสวย แล้วตั้งจิตอธิษฐาน … ตรัสรู้ … เรื่อยมาจนถึงภาพสุดท้ายบนผนังด้านขวามือ คือภาพทรงดับขันธ์ปรินิพพาน
ที่สำคัญ ในแต่ละภาพของพุทธประวัติ ยังแทรกแง่มุมทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ น่าศึกษาไว้อย่างลงตัว ... เสียดายที่ในวันที่ไปเยือน เราไม่ได้อ่านอย่างละเอียด อีกทั้งมีภาพเขียนสีส่วนหนึ่งที่มองไม่เห็นตัวอักษร เพราะอยู่หลังที่ตั้งของแท่นที่นั่ง ...
หากท่านมีเวลาพอ อยากจะแนะนำให้ไปใช้เวลาสบายๆ ดูภาพททางวัฒนธรรมประเพณี ที่ควรค่าแก่การภาคภูมิใจของคนไทย และอ่านคำบรรยายภาพที่น่าสนใจเหล่านี้ด้วยตนเองค่ะ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา