7 พ.ย. 2021 เวลา 00:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
3 ข้อมูลสำคัญในการดูหุ้นกลุ่มธนาคาร
ช่วงนี้เป็นช่วงที่งบการเงินไตรมาส 3/64 ของหุ้นกลุ่มธนาคารออกกันมา งบการเงินของธนาคารมี 3 ข้อมูลสำคัญที่ควรรู้จักในการอ่านงบการเงิน ไปอ่านกันว่ามีอะไรบ้าง...
1
1. NPL (Non-performing loans) หรือ “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้”
ก่อนอื่นเรามารู้จักการจัดชั้นหนี้ ซึ่งมีอยู่ 5 ชั้น โดยแบ่งตามอายุการค้างจ่ายหนี้
(1) ชั้นปกติ อายุการค้างขำระหนี้ น้อยกว่า 1 เดือน ก็คือการชำระหนี้เกิดขึ้นตามปกติ ไม่มีปัญหาอะไร
(2) ชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ เริ่มที่จะมีปัญการจ่ายเงินต้น และดอกเบี้ย อายุการค้างชำระหนี้ อยู่ในช่วง 1-3 เดือน
(3) ชั้นต่ำกว่ามาตราฐาน อายุการค้างชำระหนี้ 3-6 เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ
(4) ชั้นสงสัย อายุการค้างชำระหนี้ 6-12 เดือน เป็นชั้นที่ไม่น่าจะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน
(5) ชั้นสงสัยจะสูญ อายุการค้างชำระหนี้ นานกว่า 12 เดือน
และสุดท้ายจะมีอีกชั้นหนึ่ง คือ ชั้นสูญ ชั้นนี้จะเป็นชั้นที่ว่า การชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจะไม่เกิดขึ้น เช่น ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย/ สาญสูญ เลิกกิจการ เป็นหนี้ที่ฟ้องลูกหนี้ล้มละลาย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ตัดออกจากบัญชีทั้งจำนวนได้
NPL คือสินเชื่อที่ผิดชำระหนี้หนี้เกิน 3 เดือนติดต่อกัน ดังนั้นก็คือ ชั้นหนี้ ตั้งแต่ ชั้นที่ 3 "ชั้นต่ำกว่ามารตราฐาน" ลงมา
เมื่อตัวเลข NPL เริ่มสูงขึ้นนอกจากตั้งมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นธนาคารก็จะมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อได้ยากขึ้นเพราะไม่อยากให้มีหนี้สูญเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นการมี NPL ที่เพิ่มสูงขึ้นก็จะกระทบกับรายได้และกำไรของธนาคาร
นอกจากดูชั้นหนี้ที่จัดว่าเป็น NPL แล้ว อีกกลุ่มที่อาจต้องคอยดูคือ “ชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ” ที่อายุการค้างชำระหนี้ 1-3 เดือน ชั้นนี้รองลงมาจากชั้นปกติ และยังไม่ได้ถูกจัดเป็น NPL แต่ถ้าบริหารจัดการไม่ดี ชั้นนี้อาจตกชั้นมาเข้ากลุ่ม NPL ได้ง่าย จึงเป็นที่สนใจด้วยเช่นกัน
เวลาที่เราดูหุ้นกลุ่มธนาคารก็ควรมองเรื่องของหนี้เสียตรงนี้ไว้ด้วยนะ เราสามารถหาดูได้จาก “หมายเหตุประกอบงบการเงิน” หรือ “NOTES” ที่เป็นไฟล์แนบมากับงบการเงินฉบับเต็มได้ เขาก็จะมีเขียนแจกแจงไว้ในส่วนของ “เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ จำแนกประเภทการจัดชั้น” ว่า ลูกหนี้ของธนาคารอยู่ในชั้นไหน มีมูลค่าเท่าไหร่ และ NPL เท่าไหร่ ควรเทียบกับอดีตที่ผ่านมาด้วยมาเป็นยังไง และเทียบกับภาพรวมของกลุ่มด้วย.
.
2. ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin หรือ NIM)
NIM หรือส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ คิดมาจากแบบนี้
(รายได้ดอกเบี้ยรับ – ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย) / สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ย
.
เนื่องจากธนาคารมีดอกเบี้ยรับ และดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ที่มากกว่าแค่ เรื่องของสินเชื่อ และเงินฝาก เพราะธนาคารมีดอกเบี้ยรับการลงทุนในตราสารหนี้ ดอกเบี้ยจ่ายจากการออกตราสารหนี้ มีดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายจากการกู้ยืมกันเองระหว่างธนาคารด้วย ดังนั้นการคิดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยแบบ spread จึงยังไม่ครอบคลุมในส่วนตรงนี้
รายได้ดอกเบี้ยรับ คือ รายได้จากเงินให้สินเชื่อ การกู้ยืมระหว่างธนาคาร จากการลงทุนในตราสารหนี้
ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย คือ รายจ่ายจากเงินรับฝาก เงินกู้ยืมสถาบัน การออกตราสารหนี้ เงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ย เช่น เงินให้สินเชื่อ เงินลงทุน รายการระหว่างธนาคาร
จะเห็นว่าการคิดแบบ NIM นั้นจะบอกถึงความสามารถในการหารายได้ของธนาคารจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมด จึงเป็นอัตราส่วนทางการเงินตัวหนึ่งที่ไว้ใช้วัดผลกำไรเบื้องต้นในการดูหุ้นกลุ่มธนาคาร
3. ROE (Return on Equity) หรือ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น
คิดมาจาก กำไรสุทธิ/ ส่วนผู้ถือหุ้น
อัตราส่วนนี้จึงเป็นอีกอัตราส่วนที่สำคัญ เพราะเป็นการบอกว่า ท้ายที่สุดแล้ว ธนาคารนั้นๆ ทำผลตอบแทนกลับมาได้เท่าไหร่ จากเงินของผู้ถือหุ้นที่ได้ลงไป ค่านี้จึงยิ่งสูง ยิ่งดี
เช่น ถ้า ROE = 10% หมายถึงว่า ทุก 100 บ. จากเงินส่วนผู้ถือหุ้นที่ได้ลงไป ได้ผลตอบแทนกลับมา 10 บ.
และ ROE นั้นมีผลต่อการประเมินมูลค่าหุ้นกลุ่มธนาคารด้วย ซึ่งโดยทั่วไปการประเมินมูลค่าหุ้นกลุ่มธนาคารนั้นจะใช้ P/BV (price per book value) เนื่องจากทรัพย์สินของธนาคารส่วนใหญ่นั้นเป็นเงิน และเงินลงทุนต่างๆ ทรัพย์สินส่วนใหญ่จะใกล้เคียงกับมูลค่า และ ROE นั้นมีความสัมพันธ์กับ P/BV ยิ่ง ROE สูง การประเมินมูลค่าด้วย P/BV จะสูงขึ้น
ช่วงนี้เป็นช่วงที่งบการเงินไตรมาส 3/64 ทยอยออกกันมา ซึ่งปกติของหุ้นกลุ่มธนาคารก็จะออกมาก่อน ดังนั้นถ้าใครถือหุ้นกลุ่มนี้ หรือสนใจลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ ก็ลองอ่านงบการเงินที่ออกมากัน
โฆษณา