8 พ.ย. 2021 เวลา 03:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เช็ค = เงินสดหรือไม่? ใครสงสัยเรามีความจริงมาบอก
เป็นคำถามที่หลายคนยังคาใจว่า ใบเช็ค นี่มันมีมูลค่าเท่ากับเงินสดหรือไม่? เพราะมีหลายคนจะนำเช็คไปจ่ายค่าบริการสินค้า ที่อีกฝ่ายไม่รับเช็ค บอกว่ามีค่าไม่เท่าเงินสด หรืออยากได้เงินสดจริง ๆ มากกว่า อย่าเพิ่งตกใจว่าตัวเองกำลังโดนมิจฉาชีพหลอก การจ่ายเงินด้วยเช็ค สามารถทำได้แต่เราต้องทำมันให้ถูกต้อง ถึงจะมีค่าเท่ากับการจ่ายเงินสด หากใครที่ยังไม่รู้ว่าเช็คที่เราพูดถึงคืออะไร และจะมีเหตุผลอะไรที่ต้องจ่ายเงินด้วยเช็ค วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ ‘เช็ค’ กระดาษหนึ่งใบที่เราสามารถแทนเงินสดได้อย่างมากมาย พร้อมข้อควรระวังในการใช้เช็ค แบบไหนให้ปลอดภัย ไม่มีโดนหลอก
เช็ค = เงินสดหรือไม่? ใครสงสัยเรามีความจริงมาบอก
เช็คคืออะไร?
เช็ค คือเอกสารในแบบตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกกันว่า ‘ผู้สั่งจ่าย’ จะสั่งให้ ‘ธนาคาร’ ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่อีกบุคคลคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของอีกหนึ่งบุคคลที่เรียกกันว่า ‘ผู้รับเงิน’ ถ้าจะแปลให้เข้าใจกันได้ง่าย ๆ คือ เช็ค ก็เป็นตัวแทนของเงินสดที่เจ้าของใบเช็คมีเงินในบัญชี และพร้อมจ่ายให้กับใครก็ตามที่ได้รับเช็คใบนั้น และจะได้เป็นเงินสดเมื่อนำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคาร แต่ไม่ใช่ว่าเราเขียนตัวเลขลงในเช็คแล้วจะเอาไปขึ้นเงินได้ในทันที เพราะเช็คก็มีด้วยกันอีกหลายแบบ และมีอีกหลายปัจจัยถ้าหากเราจะนำเช็คไปแลกกลายเป็นเงินสดกลับมา โดยเช็คจะมีด้วยกัน 6 แบบดังนี้
1. เช็คเงินสด คือ เช็คที่มีเงินสด แทนชื่อผู้รับเงิน สามารถนำเช็คแบบนี้ไปเบิกเงินสดได้ทันทีจากธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นใคร แต่ผู้สั่งจ่ายเช็คจะต้องมีบัญชีธนาคารเดียวกันกับธนาคารที่เป็นผู้ออกเช็คเงินสด แต่หากเงินในบัญชีแบบกระแสรายวันของผู้สั่งจ่ายเช็คไม่เพียงพอ เมื่อผู้รับเงินจะไปเบิกเงินสดด้วยเช็คใบดังกล่าว ทางธนาคารจะตีว่าเช็คใบนี้มันเด้ง แล้วผู้สั่งเช็คจะมีความผิดทางกฎหมาย หากผู้รับอยากได้เงินสดแบบปลอดภัย การจ่ายด้วยเช็คเงินสดจะเป็นทางออกที่ดี
2. เช็คจ่ายตามสั่ง คือ เช็คที่จะต้องระบุชื่อผู้รับเงินและวันที่ลงในใบเช็คให้ชัดเจน และชื่อของผู้เบิกเงินสดจะต้องตรงกับชื่อบนใบสั่งจ่ายเช็คเท่านั้น หากผู้รับเงินอยากจะโอนเช็คใบนี้ให้คนอื่นเบิกเงินสดให้แทน จะต้องเซ็นชื่อกำกับที่หลังเช็ค ก่อนที่ผู้สั่งจ่ายเช็ค และผู้รับเงินจะต้องมีบัญชีธนาคารเดียวกันกับธนาคารที่เป็นผู้ออกเช็คเงินสด
1
3. แคชเชียร์เช็ค คือเช็คที่เราจะต้องจ่ายเงินสดให้กับทางธนาคารก่อน แล้วธนาคารจะเป็นผู้ออกแคชเชียร์เช็คให้ แล้วเราค่อยนำไปให้ผู้รับเงิน และเช็คแบบนี้จะต้องระบุจำนวนเงิน และชื่อผู้รับชัดเจนจากทางธนาคาร สำหรับแคชเชียร์เช็คจะมีความเสี่ยงน้อยถ้าเทียบกับเช็คเงินสด เพราะผู้รับเงินจะได้รับเงินแน่นอน ไม่มีโอกาสที่จะเป็นเช็คเด้ง แต่ถ้าหากผู้รับเช็คนำไปขึ้นเงินไม่ตรงกับจังหวัดที่เป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการขึ้นเงิน อย่างเช่น หมื่นละ 10 บาท ตามมูลค่าของจำนวนเงินตามเช็ค เป็นต้น
1
4. เช็คของขวัญ คือเช็คที่นิยมซื้อให้เป็นของขวัญแก่ผู้อื่นในโอกาสพิเศษ โดยเราจะต้องจ่ายเงินสดให้กับทางธนาคารพร้อมจ่ายค่าธรรมเนียม เมื่อเสร็จเรียบร้อยเราจะได้เช็คของขวัญไปมอบให้กับใครก็ได้ ไม่ว่าเป็นครอบครัว หรือคนรัก
5. เช็คเดินทาง คือเช็คที่ผู้จะเดินทางนำหลักฐานการเดินทาง เช่น ตั๋วเครื่องบิน หรือพาสปอร์ตมาขอซื้อเช็คการเดินทางจากธนาคาร เพื่อไปเบิกเงินสดที่ต่างประเทศ หรือใช้จ่ายแทนเงินสด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของทางร้านค้านั้น ๆ ด้วยว่าจะมีค่าธรรมเนียมในการใช้จ่ายในแต่ละครั้งเท่าไหร่
6. ดราฟต์ คือตั๋วแลกเงินสด แต่จะแตกต่างกับแคชเชียร์เช็คและเช็คเงินสด ตรงที่ผู้ที่ซื้อดราฟต์ต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อตามราคาบนหน้าดราฟต์อย่างเช่น เราต้องการซื้อดราฟต์สองหมื่นแรก จะมีค่าธรรมเนียม 20 บาท สองหมื่นต่อไปอาจมีค่าธรรมเนียมหมื่นละ 10 บาท เป็นต้น แต่ผู้รับเงินจะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เมื่อนำดราฟต์ไปเบิกเงินสดในจังหวัดที่ไม่ใช่สาขาที่เป็นผู้ออกดราฟต์ฉบับนั้น
ทำไมเราถึงควรใช้เช็คแทนเงินสด
การใช้เช็คจะมีความปลอดภัยมากกว่าการถือเงินสด เพราะการซื้อของใหญ่ ๆ อย่างเช่น บ้าน คอนโด หรือรถยนต์ ที่มีมูลค่าหลายล้านบาทหากจะให้พกเงินสดมูลค่าเท่านั้นติดตัวไปด้วยอาจทำให้เกิดอันตราย หรือถูกขโมยไปได้ หลายคนเลยนิยมไปที่ธนาคารแล้วใช้บริการเช็คจากธนาคาร เพื่อความปลอดภัย และการใช้เช็คแทนเงินสดยังช่วยป้องกันการฉ้อโกงได้ เพราะทางธนาคารจะสามารถตรวจสอบที่มาของเช็ค และข้อมูลการทำธุรกรรมย้อนหลังของผู้สั่งจ่ายเช็ค ทำให้ผู้รับเงินรู้สึกมั่นใจมากกว่าที่จะรับเงินจำนวนเยอะ ๆ เป็นเงินสด นอกจากนี้การใช้เช็คแทนเงินสด ยังช่วยให้เรากำหนดเวลาในการบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้ดีขึ้น เพื่อนำไปใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นก่อน
และถ้าหากเราไม่อยากใช้เช็คเพื่อใช้จ่าย ปัจจุบันมีทางเลือกในการชำระค่าสินค้า หรือบริการที่มีมูลค่าเยอะ ๆ ได้เช่น
- จ่ายด้วยการโอนเงินออนไลน์ผ่านแอปฯ KMA (Krungsri Mobile App) เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสให้น้อยที่สุด เพราะเชื้อโรคสามารถแฝงอยู่บนกระดาษได้นานนับเดือน การเปลี่ยนไปใช้การโอนเงินก็ช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่เราจะได้รับเชื้อโรคได้อีกเยอะเลย แถมการโอนเงินผ่านแอปฯ KMA (Krungsri Mobile App) ยังมีความปลอดภัยในการทำธุรกรรม ไม่มีเงินหายระหว่างทางแน่นอน
- จ่ายด้วยบัตรเครดิต นอกจากจะใช้วิธีการโอนเงินผ่านแอปฯ การเลือกจ่ายด้วยบัตรเครดิตก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย เพราะนอกจากความปลอดภัย ทุกครั้งที่เราใช้บัตรเครดิตเรายังได้คะแนน หรือแคชแบ็ก กลับมาหาเรา และเราสามารถนำคะแนนจากบัตรเครดิตที่ได้มาไปใช้ในการซื้อสินค้า หรือนำไปเป็นส่วนลดได้อีกมากมายเลยทีเดียว
มาถึงจุดนี้ การใช้เช็คก็เหมือนกับตัวกลางที่เราจะนำไปใช้ขึ้นเงินสด แล้วเบิกเอามาใช้แบบปกติ และสามารถเอามาใช้ทำธุรกรรมโดยที่มีกฎหมายคุ้มครองเรา แต่อาจมีขั้นตอนในการเบิกออกมาสักเล็กน้อย ใครอยากได้เงินสด แต่มีความปลอดภัย การเลือกใช้บริการเช็ค ก็เป็นตัวเลือกที่สะดวกสบายมาก ๆ เลย ที่จะย่อเงินจำนวนมาก อยู่ในมือเราแค่กระดาษใบเดียว
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โฆษณา