8 พ.ย. 2021 เวลา 12:20 • สิ่งแวดล้อม
บอนสี ราชินีไม้ใบ ไม้ประดับ
ภาพโดย Jacques GAIMARD จาก Pixabay
บอนสี ต้นไม้ประดับที่นิยมกันอย่างมากในเวลานี้ เป็นพืชที่มีความสวยงาม เป็นไม้ประดับที่นิยมมาปลูก พร้อมๆกับกระแสไม้ใบด่างต่างๆ จึงได้รับความนิยมอย่างมาก ในยุคนี้ ประกอบกับผู้คนเริ่มมีเวลาอยู่บ้าน ทำงานอดิเรกมากขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน วันนี้จะพามารู้จักต้นบอนสีกันครับ
ภาพโดย Jan Haerer จาก Pixabay
พืชวงศ์บอน(Araceae)มีสมาชิก ถึง114 สกุลและมากกว่า 3,700 สปีชีส์ ส่วนใหญ่กระจายพันธุ์ในโลกใหม่เขตร้อน(ทวีปอเมริกาและทวีปออสเตรเลีย) บางส่วนอยู่ในเขตร้อนของโลกเก่า(บริเวณเส้นศูนย์สูตร)และเขตอบอุ่นทางเหนือ และยางของพืชวงศ์นี้มีพิษ
ซึ่งบอนสี เป็นสายพันธุ์ในสกุลบอนจากลาตินอเมริกา มักถูกปลูกเป็นต้นไม้ประดับ เนื่องจากใบขนาดใหญ่รูปหัวใจหรือรูปหอก ที่มีทั้งสีเขียว ขาว ชมพู หรือสีแดงที่โดดเด่น บอนสีมีมากกว่าร้อยสายพันธุ์ ทุกส่วนของบอนสีมีพิษ และในขณะที่บอนสีได้รับความนิยมในประเทศไทย แต่กลับสร้างปัญหาในประเทศ ตรินิแดดและโตเบโก กวม ไมโครนีเซีย ปาเลา รัฐฮาวายของอเมริกา และฟิลิปปินส์ บอนสีสามารถพบได้ในเขตร้อนส่วนใหญ่ของโลกรวมทั้งทวีปแอฟริกา อนุทวีปอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เกร็ดความรู้ บอนที่เรานำมาแกงทานกัน ก็คือพืชวงศ์เดียวกับบอนสีที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ
1
ส่วนการเข้ามาของบอนสี ก็มีประวัติมาอย่างยาวนาน ในประเทศไทยสมัยก่อนนั้นมีบันทึกการนำเข้าบอนสีจากยุโรปมาในปี พ.ศ. 2425 บอนสีโบราณที่นิยมในยุคนั้นชื่อว่า กระนกกระทาและถมยาประแป้ง ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ของรัชกาลที่5 ในปี พ.ศ. 2440 ได้ทรงนำบอนสีกลับเข้ามาปลูกในพระบรมมหาราชวัง สร้างความนิยมให้กับฝ่ายใน โดยในยุคนั้นสายพันธุ์บอนสีที่มีชื่อเสียง คือ บอนสีเจ้ากรุงไกเซอร์และบอนสีเจ้ากรุงเดนมาร์ก
และในภายหลังบอนสีได้นิยมในหมู่เจ้าขุนมูลนายในสมัยนั้น มีการนำบอนสี หน่อบอนสี เมล็ดบอนสี ไปถวายวัด และยังมีการนำมาประกวดแข่งกันในกลุ่มอีกด้วย
ซึ่งไทม์ไลน์ของบอนสีในประเทศไทยก็คือ
พ.ศ. 2425 : พระยาวินิจอนันกร บันทึกว่าฝรั่งสั่งบอนสีเข้ามาปลูก
พ.ศ. 2449-2459 : มีบันทึกว่าชาวต่างชาติชื่อมะโรมิ เลนซ์ สั่งบอนสีมาขาย และขยายพันธุ์
พ.ศ. 2450 : รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ทรงนำ สายพันธุ์บอนสีเจ้ากรุงไกเซอร์และเจ้ากรุงเดนมาร์กเข้ามาปลูก สร้างความนิยมให้ฝ่ายใน
พ.ศ. 2472 : เจ้านายฝ่ายในนิยมเลี้ยง และขยายออกสู่วัดวา อารามต่างๆ ที่เจ้านายนำไปถวาย บอนตระกูลไก่ ก็นิยมในยุคนี้
พ.ศ. 2475 : บอนสี นกยิบ ซื้อขายกันในราคา 10 ชั่ง ถือได้ว่าเป็นบอนไม้ประดับที่มีราคาสูง
พ.ศ. 2497: นายชลอ ทองสุพรรณ ริเริ่มประกวดบอนสีที่สมาคมพฤกษชาติ
พ.ศ. 2501 : มีประกวดบอนสีที่ทีวีช่อง 4
พ.ศ. 2525 : ก่อตั้งสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย มีสนามหลวงเป็นตลาดบอนสีที่ใหญ่ที่สุด
ภาพโดย Jan Haerer จาก Pixabay
เทคนิคดูแลบอนสี
ให้เปลี่ยนกระถางหรือเปลี่ยนดินปลูก ต้องนำกระถางบอนสีต้นเดิมมาแช่น้ำให้ปริ่มขอบกระถางนาน 5-10 นาที เพื่อให้ดินปลูกชุ่มน้ำและร่อนออกจากหัว เวลาแกะออกจากกระถาง รากจะไม่ขาดหรือบอบช้ำและอย่าปลูกให้หัวหรือรากลอย ควรกลบดินให้มิดหัวหรือลึกประมาณ 3 เซนติเมตร
หาไม้ค้ำใบบอนสีและเช็ดใบให้สะอาด จะช่วยให้ทรงพุ่มบอนสีสวยงาม ทำให้ต้นบอนสีสดใสขึ้น
1
บอนสีจะพักตัวในช่วงฤดูหนาว ใบจะค่อยๆเหี่ยวแห้งจนไม่มีใบ ผู้ปลูกควรงดให้น้ำ ปล่อยให้หัวแห้งในกระถาง หรือขุดหัวขึ้นมาผึ่งให้แห้งในที่ร่ม 2-3 วัน แล้วใส่ถุงกระดาษเก็บไว้ในที่ร่ม พอถึงฤดูฝนก็นำมาปลูก โดยฝังหัวลงดินในกระถางที่จะปลูก แล้วรดน้ำให้ชุ่ม บอนสีก็จะค่อยๆแทงรากแทงปลีเป็นใบต่อไป
1
แต่ถ้าจะให้บอนสีมีใบตลอดปี ต้องเลี้ยงบอนสีในตู้อบ วิธีง่ายๆ โดยใช้ไม้ระแนงมาต่อเป็นโครงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1.20 เมตร ยาว 2.50 เมตร ด้านบนทำเป็นหลังคาหน้าจั่วเพื่อป้องกันน้ำขัง ให้หลังคาสูงสัก 15-20 เซนติเมตร แล้วพลาสติกใสปิดช่องว่างที่เหลือ
สำหรับบอนสีที่จะเลี้ยงในตู้อบ ต้องมีภาชนะใส่น้ำใต้ถางบอนสีด้วย โดยใส่น้ำให้มีความสูงจากก้นภาชนะที่ใช้รองกระถางบอนสีสัก 2-3 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 นิ้ว ทำอย่างนี้แล้วบอนสีจะไม่พักตัว จะแตกใบใหม่และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อผ่านเดือนมกราคมให้นำบอนสีออกมาวางในโรงเรือนหรือด้านนอกได้ตามปกติ
cr.ถ่ายเองครับ
ภาพโดย james ken lequigan จาก Pixabay
ก็จบไปแล้วสำหรับ ราชินีไม้ใบ ต้นบอนสี เป็นพืชที่คนนิยมและมีความสวยโดดเด่น และมีประวัติมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 ได้รับความนิยมจากในวังมาสู่คนนอกวัง และตอนนี้ก็ยิ่งได้ความนิยมมากกว่าเดิม เพราะเกิดวิกฤต โควิด19
อ้างอิง
โฆษณา