8 พ.ย. 2021 เวลา 04:59 • ท่องเที่ยว
“พิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนคร” .. พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
“พิพิธภัณฑสุานอห่งชาติ พระนคร .. ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล หรือส่วนหนึ่งของที่ประทับวังหน้า (พื้นที่พระราชวังของสมเด็จพระบวรราชเจ้าตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมามีอาณาเขตตั้งแต่บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนามหลวงตอนเหนือ อนุสาวรีย์ทหารอาสา และโรงละครแห่งชาติในปัจจุบัน) ในสมัยรัชกาลที่ 1 ตั้งอยู่ที่ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงละครแห่งชาติ ตรงข้ามสนามหลวง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งต่าง ๆ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย หมู่พระวิมาน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ และ อาคารมหาสุรสิงหนาท
ประวัติ
การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้นเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ขึ้นที่พระที่นั่งราชฤดีซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงสร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์ขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดฯ ให้ย้ายโบราณวัตถุและของแปลก ๆ มาไว้ยังพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งนับเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ หรือ “รอยัล มิวเซียม” (Royal Museum) มิได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้นที่หอคองคอเดีย (ศาลาสหทัยสมาคม ในปัจจุบัน) เรียกว่า "มิวเซียม" หรือ "พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย" โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 ซึ่งนับเป็นวันกำเนิดของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย
พิพิธภัณฑสถานตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวังเป็นเวลา 13 ปี จนกระทั่ง กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคต พร้อมกันนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นเหตุให้พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ว่างลง พระองค์จึงโปรดฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานมาจัดแสดงโดยใช้พื้นที่ของพระราชวังบวรฯ บางส่วน ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430 นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดฯ ให้มีการปรับปรุงพื้นที่เขตวังหน้าและให้ตัดพื้นที่บางส่วนไปใช้ในราชการทหารด้วย
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ เหลือน้อย พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรฯ เข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวัง และพระราชทานพระมหามณเฑียร ณ ขณะนั้นให้เป็นโรงทหาร
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดฯ ให้ย้ายโรงทหารไปอยู่ที่วังจันทรเกษม (บริเวณกระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) ส่วนพระราชมณเฑียรของพระราชวังบวรฯ ทั้งหมดจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครและหอสมุดพระวชิรญาณเพื่อจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2469 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2477
ในปี พ.ศ. 2510 ได้สร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีก 2 หลัง คือ "อาคารมหาสุรสิงหนาท" ปัจจุบัน จัดแสดงความเป็นมา ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และในยุคประวัติศาสตร์ตั้งแต่อาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี ตลอดจนอิทธิพลอารยธรรมอินเดียสมัยก่อนพุทธศักราช 1800 และ "อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์" ปัจจุบัน จัดแสดงศิลปวัตถุจากอาณาจักรล้านนา สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ตลอดจนจัดแสดงงานประณีตศิลป์ของกรุงรัตนโกสินทร์
สิ่งของจัดแสดง
แนวทางการจัดแสดง ปัจจุบัน พิพิธภัณสถานแห่งชาติ พระนคร แบ่งการจัดแสดง ออกเป็น 3 หัวเรื่องใหญ่ ๆ คือ
1.ประวัติศาสตร์ชาติไทย จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
2.ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย จัดแสดงตามยุคสมัย คือ
2.1สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงในอาคารส่วนหลัง ของ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
2.2 สมัยประวัติศาสตร์ จัดแสดงในอาคารใหม่ 2 หลัง ที่สร้างขนาบสองข้างของหมู่วิมานเมื่อ พ.ศ. 2510 โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สมัยก่อนพุทธศักราช 1800 ได้แก่ สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย และ สมัยลพบุรีจัดแสดงในอาคารมหาสุรสิงหนาท และส่วนที่ 2 คือ สมัยหลังพุทธศักราช 1800 เป็นต้นมา จนถึง สมัยรัตนโกสินทร์จัดแสดงในอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
3.ประณีตศิลป์ และ ชาติพันธุ์วิทยา จัดแสดงในหมู่พระวิมาน คือ พระที่นั่งวสันตพิมาน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ และ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา ศิลปโบราณวัตถุที่จัดแสดง ได้แก่ เครื่องทอง เครื่องถม เครื่องมุก เครื่องดนตรี เครื่องไม้จำหลัก ผ้าโบราณ เครื่องถ้วย เครื่องสูง ราชยานคานหาม อาวุธโบราณ เครื่องใช้ในพิธีพระพุทธศาสนา และ อัฐบริขารของสงฆ์ และ เครื่องการละเล่นต่าง ๆ เช่น หัวโขน หุ่นกระบอก หุ่นเล็ก และหนังใหญ่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมี ราชรถที่ใช้ในกระบวนแห่พระบรมศพ คือพระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตรราชรถ ราชรถน้อย และ เครื่องประกอบการพระราชพิธีต่าง ๆ ที่ใช้ใน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดแสดงใน อาคารโรงราชรถ
นอกจากศิลปะโบราณวัตถุแล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังมีโบราณสถานคือ พระที่นั่ง และ พระตำหนักบางองค์ ที่เป็นตัวอย่างของ งานสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพระที่นั่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามยิ่ง พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ประทับ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระตำหนักแดง ที่ประทับ ของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 2
นอกจากนี้ยังรวมไปถึง พระที่นั่งขนาดย่อม และศาลาทรงไทยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ศาลาสรง ศาลาสำราญมุขมาตย์ พระที่นั่งมังคลาภิเษก และ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศนัย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังคงมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย ที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน
“พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย”ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ... เดิมเป็นพระที่นั่งท้องพระโรงของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า สำหรับพระมหาอุปราช เสด็จออกฝ่ายหน้าคือเสด็จออกว่าราชการ หรือเสด็จออกรับแขกเมือง ซึ่งเป็นการเสด็จออกอย่างเต็มยศในการพระราชพิธีอันเป็นมหาสมาคม
รวมทั้งใช้เพื่อการพระราชพิธีและการบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ เช่น พระราชพิธีบวรราชาภิเษก อุปราชาภิเษก การเทศน์มหาชาติในการพระราชพิธีเข้าพรรษา การพระราชพิธีสงกรานต์ และใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพของสมเด็จพระบวรราชเจ้า และพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อการบำเพ็ญพระราชกุศล เช่นเดียวกับพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง
ท้องพระโรงวังหน้า .. สมเด็จพระวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อราว พ.ศ. 2373-2375 โดยสร้างต่อจากมุขเด็จของหมู่พระวิมานออกมาด้านหน้า ตรงที่เคยเป็นชาลาสำหรับให้ข้าราชการเข้าเฝ้ากหลางแจ้ง พระที่นั่งองค์นี้สร้างครอบพระที่นั่งบุษบกเกรินที่มุขเด็จเดิมไว้ข้างท้าย จึงมีลักษณะเหมือนกับ พระที่นางอัมรินทรวินิจฉัย ท้องพระโรงวังหลวง ที่มีพระที่นั่งบุษบกมาลา อยู่ตรงท้ายพระที่นั่ง
หลังจากที่มีการยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชไปในสมัยรัชกาลที่ 4 ... พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระที่นั่งตอนหน้าของวังหน้า คือ พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ แปละพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นที่ตั้ง “มิวเซียมหลวง” เมื่อ พ.ศ. 2430 โดยใช้พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นคลังที่เก็บรักษาอาวุธโบราณ จนถึงรัชกาลที่ 7 มีการปรับปรุงวังหน้าเป็นพิพิธภัณฑ์สถาน สำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2469 จึงใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุประเภทเครื่องสำริดและโลหะ .. ต่อมาเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการพิเศษต่างๆ และปัจจุบันเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่อง พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
พระราชบัลลังก์บุษบกมาลา ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล อันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในปัจจุบัน ตั้งเป็นประธานอยู่ใน พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
พระราชบัลลังก์บุษบกมาลาวังหน้าองค์นี้ สร้างด้วยไม้เป็นฐานลดหลั่นรองรับกัน 3 ชั้น จำหลักลายปิดทองประดับกระจก ที่ฐานเชิงบาตรทั้งสามชั้น มีรูปแกะสลักเป็นยักษ์ ครุฑ และ เทพพนม ติดประดับเรียงรายโดยรอบ ที่ปลายสองข้างของฐานชั้นบนสุดมีที่ปักฉัตร ปลายฐานแต่ละชั้นมีเกรินแกะสลักอย่างงดงามประดับอยู่ทั้งสองข้าง ทำให้บุษบกมาลาองค์นี้พลิ้วอ่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา เป็นศิลปกรรมไทยแบบอยุธยายุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ราว พ.ศ. 2325-2328
พระแท่นราชบัลลังก์เศวตฉัตรวังหน้า เดิมคงจะสร้างขึ้นไว้แล้วแต่เมื่อครั้งรัชกาลที่1 แต่ผุพังเสียหายไป จึงมาสร้างขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีตราพระจุฑามณี (ปิ่น) ติดอยู่ตรงกลางพนักพิง ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (เคียงคู่กับพระราชบัลลังก์บุษบกมาลา) เป็นศิลปะไทยแบบอยุธยา ทำด้วยเครื่องไม้แกะสลัก ลงรักปิดทองประดับกระจก มีฐาน 2 ชั้น ที่ฐานเชิงบาตร์ชั้นล่างแกะสลักรูปครุฑ ชั้นบนเป็นเทพพนม ติดประดับโดยรอบ
พระแท่นบวรเศวตฉัตร .. เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 สำหรับพระเกียรติยศ สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นของพระราชวังสถานมงคลมาแต่เดิม
พระแท่นราชบัลลัก์ จำหลักไม้ลงรัก ปิดทอง ประดับกระจก เดิมปักพราสัปคปฏลเศวตฉัตร ฉัตรขาว 7 ชั้น ตามพระอิสริยยศของพระมหาอุปราช .. ที่กระดานพิงประดับตราจุฑามณีบนพานแว่นฟ้า พระบวรราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากเป็นพระแท่นราชบัลลังก์สำหรับเสด็จออกอย่างเต็มยศในการพระราชพิธี ยังใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พระบรมอัฐิ และเป็นที่สำหรับพระสงฆ์นั่งแสดงพระธรรมเทศนาในพระราชพิธีต่างๆ
ภายในท้องพระโรงนี้ ปัจจุบันมีการจัดแสดง ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเจาโล้น ซึ่งเพิ่งได้รับกลับคืนสู่ประเทศไทย
บานประตูเขียนสีเล่าเรื่องปลาหลีฮื้อกระโดดข้ามประตูมังกร
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 โปรดฯให้เขียนบนด้านหลังของบานประตูกลางพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
ภาพแสดงให้เห็นว่า ปลาหลีฮื้อ พยายามแหวกว่ายมายังประตูมังกรที่ปากทางสวรรค์ ปลาตัวใดพยายามโดดข้ามประตูมังกรไปได้จะกลายร่างเป็นปลามังกร และเป็นมังกรที่สง่างามทะยานขึ้นท้องฟ้าไปในที่สุด .. เป็นคติจีนที่สอนให้เห็นถึงความเพียร พยายามอดทนเอาชนะอุปสรรค มีความหมายอันเป็นมงคล ที่เกี่ยวกับความสำเร็จ ความเจริญก้าวหน้า ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการที่ได้มาโดยไม่คาดหมาย
 
บริเวณเหนือประตูมังกร มีตัวอักษรจีน “ยู่ เหมิน” แปลว่า ประตูของจักรพรรดิ หยู่ จักรพรรดิ์ผู้สร้างประตูกั้นแม่น้ำเหลือง
บานประตู และบานหน้าต่างอื่นๆ ที่สวยงาม
มุขกระสัน .. เฉลิมพระเกียรติกรมพระราชวังสถานมงคล
พระที่นั่งพุดตาน เป็นเป็นราชบัลลังก์เวลาเสด็จออกท้องพระโรงและพระที่นั่งราชยานสำหรับเสด็จพระราชดำเนินกระบวนพยุหยาตราทางบก เป็นชื่อของพระที่นั่งที่เรียกกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานว่า นามพระที่นั่งพุดตานอาจมาจากลวดลายแบบจีนที่พระที่นั่งสัปคับพุดตานสมัยกรุงศรีอยุธยา หรืออาจมาจากแผ่นรูปกระจังขนาดใหญ่ที่ข้างพระที่นั่ง
"พระที่นั่งพุดตานวังหน้า" ทำด้วยไม้ปิดทองประดับกระจก สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระที่นั่งพุดตานวังหน้า มีรูปทรงใกล้เคียงกับพระที่นั่งพุดตานทองหรือพระที่นั่งพุทธตาลกาญจนสิงหาสน์ของวังหลัง
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดง เครื่องใช้ส่วนพระองค์ต่างๆ เช่น บุษบก พระเสลี่ยง กองอินทเภรี
พระโธรน ไม้จำหลักลาย ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็นของอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่เดิม
เมื่อพุทธศักราช 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกธรรมเนียมการหมอบกราบเข้าเฝ้า วังหน้าจึงโปรดให้สร้างพระโธรน เป็นพระเก้าอี้พนักสูง สำหรับประทับให้ขุนนางยืนเฝ้าตามธรรมเนียมตะวันตก มาจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า throne แปลว่า บัลลังก์
กลองอินทรเภรี เป็นกลองที่อยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่เดิม ใช้สำหรับตีให้สัญญาณในกองทัพสันนิษฐานว่า ทำขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์เสด็จไปตีเมืองเวียงจันทน์ หน้ากลองขึงหนังตึงด้วยหมุดงาช้าง มีหูระวิงติดด้านบนสำหรับสำหรับสอดไม้นวม เขียนยันต์ลายทอง รูปวัว และยันต์อื่นๆหลายประเภท อาทิ ยันต์สี่เหลี่ยม ยันต์กลม ยันต์หน้าจั่ว ลงอักขระ รูปอักษรขอม ภาษาบาลี เป็นหัวใจพระคาถาต่างๆ เพื่อเป็นสิริมงคลต่อการศึกสงคราม
จากลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ฉบับหนึ่ง มีเนื้อความเกี่ยวกับกลองอินทเภรีว่า
“...กลองอินทเภรีนั้นสำหรับตีทำไม ด้วยชื่อว่าอินทเภรีเข้ากับความว่าเป็นกลองของแม่ทัพสำหรับตีเป็นสัญญาณให้ยกพล เหมือนอย่างแตรเดี่ยวที่ทหารเป่าสัญญาณเรียกคนเข้ากระบวน ที่กลองอินทเภรีมีอยู่ในวังหน้าหลายใบนั้นก็พอสันนิษฐานเหตุได้ ด้วยเมื่อกรมศักดิ์เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันท์ยกไปหลายทัพหลายทาง นายทัพแต่ละคนคงมีกลองอินทเภรีไปด้วยใบ ๑...”
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา