2 ธ.ค. 2021 เวลา 00:00
“อีก 5 ปีข้างหน้า คุณมองตัวเองไว้แบบไหน?”
ว่าด้วยการตามหาความหมายของการมีชีวิตอยู่
“คุณมองอนาคตของตัวเองอีก 5 ปีไว้ยังไง?”
“อีก 10 ปีข้างหน้า คุณคิดว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่?”
คงจะไม่เป็นการพูดเกินจริงไปนักหากจะบอกว่า เกือบ 100% ของมนุษย์ออฟฟิศต้องเคยผ่านการสัมภาษณ์งานด้วยคำถามลักษณะนี้มาก่อนแน่นอน ซึ่งดิฉันเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ว่าจะไปสัมภาษณ์งานที่ไหนก็มักจะเจอคำถามนี้เสมอ
เข้าใจว่า เพราะคำถามดังกล่าวอาจจะช่วยให้องค์กรมองเห็นมายด์เซ็ตบางอย่างของเราได้ว่า คนคนนี้มองชีวิตของตัวเองอย่างไร เป้าหมายระยะยาวของเขาหรือเธอคนนี้ตรงกับองค์กรหรือเปล่า และเราเป็นคนมองวันข้างหน้าหรือที่ทางของตัวเองไว้ชัดเจนมากน้อยแค่ไหน
ดิฉันเคยคุยกับเพื่อนสนิทคนหนึ่งด้วยคำถามเดียวกันนี้ว่า ถ้าไม่ได้เป็นการสัมภาษณ์งาน เอาเข้าจริงแล้วตัวเราเองอยากทำอะไรในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้ากันแน่? เพื่อนคนนั้นตอบว่า เธอเป็นคนมองชีวิตด้วยเป้าหมายระยะสั้นๆ มากกว่า การมองอนาคตเกินจากนี้ 4-5 ปีก็ถือว่า มองชีวิตไว้ไกลและยาวมากๆ แล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อนสนิทคนนี้เท่านั้น แต่คนรอบตัวและเด็กเจนใหม่หลายๆ คนก็ไม่ได้มองชีวิตในระยะยาวเท่ากับคนยุคก่อนๆ
ส่วนหนึ่งเพราะความเร็วแแรงของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ทันรับมือนั้น อาจจะทำให้โลกนี้ไม่ได้น่าอยู่มากเท่าไร บวกกับการถูก ‘force’ ด้วยความกดดัน ความสำเร็จของคนรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ที่แม้ว่าหลายคนจะรู้สึกว่า ยิ่งเห็นคนอื่นโต เราต้องยิ่งอยากโตให้ทันเขาสิ
แต่ไม่เลย.. กับคนบางกลุ่มที่ไม่ได้มีศักยภาพมากพอ และอาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังจนติดสปีดแค่ไหนก็ตามไม่ทัน ตัวเลือกที่ดีที่สุดก็คงจะเป็นการมองเป้าหมายระยะสั้น มองแค่วันนี้พรุ่งนี้ให้มีความสุขก็เพียงพอแล้ว
“เวลามีคนถามว่า อีก 10 ปีข้างหน้า วางตัวเองไว้แบบไหนแล้วเรารู้สึกพังมากเพราะตอบไม่ได้ หรือเวลาถูกถามว่า มีชีวิตเพื่ออะไรก็คือไม่รู้เหมือนกัน รู้แค่ตอนนี้อยากทำหรือไม่อยากทำอะไร ตอบได้แค่นั้น” – ข้อความตอนหนึ่งบนทวิตเตอร์ที่พูดถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่
งานเขียนของแดเนียล ดานาเฮอร์ เคยตั้งคำถามคล้ายๆ กันนี้ไว้ในหัวข้อที่ชื่อว่า ‘Will Life Be Worth Living in a World Without Work?’ คือเราจะมีคุณค่า-ความหมายต่อไปได้ไหม หากวันหนึ่งโลกนี้ปราศจากสิ่งที่เรียกว่างานไปแล้ว
ดานาเฮอร์มองว่า อนาคตอันใกล้ที่หุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่แรงงานในตลาดเกือบทั้งหมด ในวันที่เทคโนโลยีพัฒนาไปจนถึงระดับที่มนุษย์ไม่มีความจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมนี้อีกเลย ชีวิตของเราจะยังมีความหมายอยู่ไหม ชีวิตของคนที่ไม่ต้องทำงานจะยึดโยงความหมายการมีชีวิตอยู่ไว้กับสิ่งใดแทน?
ดานาเฮอร์มองว่า ทุกวันนี้คนทำงานถูกงานทำลายความหมายของชีวิตด้วยการทำงานในลักษณะที่จำเจ ซ้ำซากมากขึ้น งานแบบนี้นอกจากจะลดทอนการใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาแล้ว พวกเขายังต้องเจอแรงกดดันและความรู้สึกเหนื่อยล้าจากเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาด้วย
หลายคนเลิกงานในทุกๆ วันด้วยความห่อเหี่ยวทั้งกายและใจ บางคนทำงานเพราะ ‘ต้องทำ’ แต่ไม่ได้ ‘อยากทำ’ หมายความว่า มีคนบางกลุ่มแหละค่ะที่เอ็นจอยกับเนื้องานที่ทำอยู่ แต่ก็มีอีกกลุ่มเช่นเดียวกันที่ไม่สามารถหางานที่ตอบโจทย์กับความชอบ หรือแพชชันของตัวเองได้
ทั้งหมดทำให้สิ่งที่เรียกว่า งาน เข้าไปลดทอนความหมายของชีวิต และคำตอบของเรื่องก็อาจจะเป็นการหาอิสระหรือช่องว่างที่ทำให้คนเหล่านี้ได้หยุดพักบ้าง
แม้ในมุมหนึ่งดานาเฮอร์จะมองว่า โลกที่มีงานอยู่มีส่วนทำให้ความหมายของการใช้ชีวิตของผู้คนนั้นลดน้อยลง แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า การไม่มีงานทำเลยจะทำให้พื้นที่ในการตามหาความหมายของชีวิตดีกว่าเดิม เพราะอันที่จริงแล้ว โลกที่ยังมีการทำงานอยู่ก็ช่วยให้ผู้คนสามารถฝึกฝนทักษะจนแหลมคน และมีประสิทธิผลจนพวกเขานำความสามารถเหล่านี้ไปเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแตกต่างให้กับตัวเอง หรือมีที่ทางบนโลกต่อไปได้
แต่สิ่งที่ดานาเฮอร์พูดมาอาจจะไม่ได้ถูกต้องทั้งหมดเสียทีเดียวนะคะ สำหรับเราเองที่เคยยึดความหมายของชีวิตไว้กับการทำงานหรือความสามารถของตัวเองเกือบ 100% พอผ่านจุดนั้นมาแล้วก็พบว่า ถ้าวันหนึ่งเราเก่งน้อยลง เราเพอฟอร์แมนซ์ตก วันนั้นความหมายของชีวิตเราก็จะลดลงด้วยเหรอ? แปลว่า เรากำลังเอาความรู้สึกหรือจิตใจของตัวเองไปแขวนไว้กับอะไรที่ไม่จีรังหรือเปล่า?
ไม่ว่าทุกคนจะตามหาความหมายของชีวิตตัวเองเจอหรือไม่ เรามองว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาตัวเองไปลงแข่งกับใครเลย และแม้อนาคตจะมีเทคโนโลยีอะไรมาคอย ‘disrupt’ แต่สิ่งที่มนุษย์มีมากกว่าแน่ๆ คือ ความสามารถในการปรับตัวอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ
เหมือนกับที่แม้เอไอจะเล่นหมากรุกได้ดี แต่มนุษย์ก็ไม่ได้ยอมแพ้ และผลลัพธ์ของบทพิสูจน์ก็มีให้เห็นแล้วว่า มนุษย์ยังสามารถอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างกลมกล่อม ไม่มีใครล้มหายตายจากหรือถูกเขี่ยจนตกขอบไปซะหน่อย
บางทีคำถามนี้อาจจะไม่ได้เป็นการตีตราความหมายของทุกคนว่า ถ้าตอบไม่ได้แปลว่า เราไม่มีเป้าหมายหรือเปล่า?
ไม่เลยนะคะ
ลองแบ่งชิ้นเป้าหมายเป็นก้าวเล็กๆ ระหว่างทาง ทยอยเก็บแต้มไปทีละนิดๆ อาจจะช่วยให้เรารู้สึกถึงความสำเร็จได้เร็วกว่า ทำให้แต่ละวันไม่ผ่านไปอย่างยากลำบากจนเกินไป
.
ที่สำคัญ อย่าเอาความหมายของชีวิตไปผูกติดกับความคาดหวังที่เกินกว่ามาตรฐานและความสุขระหว่างทาง จนทำให้ปัจจุบันถูกบั่นทอนลงไปนะคะ 🙂
เขียนโดย Piraporn Witoorut
.
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
.
.
“Knowledge is the only way to success”
- - - - - - - - - - - - - - - - - -
ติดตามคอนเทนต์เพื่อพัฒนาตัวเองสู่ความสำเร็จจาก Future Trends ได้ที่
(อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเทนต์ใหม่ในทุก ๆ วัน)
#FutureTrends #KnowledgeforSuccess
โฆษณา