11 พ.ย. 2021 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยกับภัยพิบัติ “น้ำท่วม”
Ep.03 ข้อมูลแจ้งเตือนจากภาครัฐแบบไหน ที่จะทำให้เรารับมือได้ทัน?
องค์ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้าน อาจจะทำให้ชาวบ้านบางกลุ่มสามารถคาดการณ์สถานการณ์น้ำในภูมินิเวศ ท้องถิ่นของตัวเองได้ แต่ระบบการจัดการน้ำที่รัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้การแจ้งเตือนและให้ข้อมูลของทางการมีส่วนสำคัญต่อการรับมือหรือเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะคนเมืองและประชาชนทั่วไปที่เดิมพันชีวิตและพื้นที่เศรษฐกิจในฤดูมรสุม ขึ้นอยู่กับฟ้าฝนและการสื่อสารข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้ว ข้อมูลแจ้งเตือนแบบไหน จะทำให้พวกเขารับมือได้อย่างทันท่วงที?
รศ.เสรี ศุภราทิตย์ อธิบายว่า ประเทศไทยยังขาดการเตือนภัยที่ชัดเจน แม้จะมีการเตือนภัยจากหลายหน่วยงาน แต่เป็นชุดข้อมูลของหน่วยงานนั้น ๆ ขาดการบูรณาการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดภัยให้แคบลงตรงกลุ่มเป้าหมายของการแจ้งเตือน เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว
“ต้องมีการฉายภาพอนาคตให้ประชาชนรู้ล่วงหน้า เพื่อเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจว่าเมื่อภัยมา จะอยู่ จะสู้ หรือหนี เพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน”
เช่น การแจ้งเตือนอัตราระบายน้ำจากเขื่อน กรมชลประทาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะแจ้งข้อมูลเป็นหน่วย “ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที” หรือ หากเป็นการแจ้งเตือนปริมาณฝน กรมอุตุนิยมวิทยา จะแจ้งข้อมูลเป็นหน่วย “มิลลิเมตรต่อวัน” หรือมากกว่านั้น การแจ้งเตือนเช่นนี้ หากประชาชนไม่สามารถประเมินข้อมูลร่วมกับลักษณะพื้นที่ของตัวเองได้ ก็น่าจะเป็นไปได้ยาก ที่จะนำมาสู่การตัดสินใจว่าต้องรับมือแบบไหน
รศ.เสรี ยกตัวอย่าง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 – 16 ตุลาคม 2564 เพื่อฉายภาพการบริหารความเสี่ยงจากพายุคมปาซุ (Kompasu) โดยจำลองภาพสถานการณ์ 7 แบบ โดย 4 แบบแรก เป็นการประเมินจากปัจจัยระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ส่วนอีก 3 แบบ เป็นการประเมินจากปัจจัยร่วมของการระบายน้ำจากเขื่อนฯ และปัจจัยฝนที่ตกลงมาในพื้นที่
ภาพแรก กรณี ปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 2,500 ลบ.ม./วินาที และปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ 1,000 ลบ.ม. จะส่งผลให้บางอำเภอของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เห็นเป็นสีส้ม น้ำจะท่วมสูงไม่เกิน 1.5 เมตร ส่วนสีแดง น้ำจะท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร
ภาพสอง
กรณี ปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 3,000 ลบ.ม./วินาที และปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ 1,000 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้บางอำเภอของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีบางส่วน ที่เห็นเป็นสีส้ม น้ำจะท่วมสูงไม่เกิน 1.5 เมตร สีแดง น้ำจะท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร
ภาพสาม กรณี ปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 3,500 ลบ.ม./วินาที และปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ 1,000 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้บางอำเภอของจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีและนครปฐม ที่เห็นเป็นสีส้ม น้ำจะท่วมสูงไม่เกิน 1.5 เมตร สีแดง น้ำจะท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร
ภาพสี่ กรณี ปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 4,000 ลบ.ม./วินาที และปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสัก 1,000 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้บางอำเภอของจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม ที่เห็นเป็นสีส้ม มีน้ำท่วมสูงไม่เกิน 1.5 เมตร สีแดง น้ำจะท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร
แต่หากคำนวณร่วมปัจจัยฝน จากพายุคมปาซุ และหย่อมความกดอากาศต่ำ พื้นที่ได้รับผลกระทบจะกว้างขึ้น โดยคำนวณจากกรณีฝนตกสะสม 3 วัน ภาพแรก 200 มิลลิเมตร และมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 3,000 ลบ.ม./วินาที และปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสัก 1,000ลบ.ม./วินาที จะส่งผลกระทบต่อบางอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
ภาพสอง กรณี 300 มิลลิเมตร และมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 3,000 ลบ.ม./วินาที และปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสัก 1,000ลบ.ม./วินาทีจะส่งผลกระทบต่อบางอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
และ ภาพสาม กรณี ฝนตกสะสม 3 วัน 400 มิลลิเมตร และปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 3,500ลบ.ม./วินาที และปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ 1,000ลบ.ม./วินาที จะส่งผลกระทบต่อบางอำเภอของจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม
ซึ่งหากมีการฉายภาพผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ประชาชนทราบ มีการเตือนภัยด้วยข้อมูลที่ง่าย เข้าถึงประชาชนและชุมชนได้ชัดเจนกว่าการเตือนด้วยข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน จะส่งผลให้ชุมชนและคนในพื้นที่ตัดสินใจประเมินความเสี่ยงว่าจะ อยู่ สู้ หรือหนี เพื่อลดปัญหาและลดความเสียหายได้อีกมาก
ส่วนปัจจัยเสริมอื่น ๆ เช่น คันกั้นน้ำ หรือพนังกั้นน้ำ ไม่ว่าจะก่อสร้างโดยหน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น หรือชุมชน รวมถึงถนนบางสาย ก็จะส่งผลให้ทิศทางน้ำเปลี่ยนไป และน้ำยกตัวสูงกว่าเดิมในบางพื้นที่ หรือหากสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ชำรุด เสียหาย ในบางพื้นที่ก็อาจควบคุมความสูงของน้ำไม่ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยจึงจำเป็นต้องสื่อสารข้อมูลดังกล่าวอย่างรวดเร็วและชัดเจนถึงประชาชนด้วยเช่นเดียวกัน
โปรดติดตามตอนต่อไป
The Active
โฆษณา