12 พ.ย. 2021 เวลา 02:45 • ธุรกิจ
สรุปประเด็น ... งานเสวนาออนไลน์ "รถไฟจีน-สปป. ลาว: ประเมินโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย" จัดโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ร่วมกับ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564
1
- รถไฟจีน-สปป.ลาว มีกำหนดเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 โดยรถไฟสายนี้เชื่อมคุนหมิงของจีนกับเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว เข้าด้วยกัน และอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ "สายแถบและเส้นทาง" (Belt and Road Initiative: BRI) มีระยะทาง 1,020 กิโลเมตร (แบ่งเป็นระยะทาง 598 กิโลเมตรช่วงภายในจีน และ 422 กิโลเมตรช่วงภายใน สปป.ลาว) สามารถวิ่งทำความเร็วขนส่งผู้โดยสารได้ถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสำหรับการบรรทุกสินค้าสามารถวิ่งได้ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยในช่วงแรกจะเน้นการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศเป็นหลักจากข้อจำกัดของสถานการณ์โรคโควิด-19
- การค้าระหว่างไทยกับจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยไปยังจีนผ่านทางถนนซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 20 ของการส่งออกไปยังจีนทั้งหมด มีการขยายตัวขึ้นอย่างน่าจับตาในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ มิติใหม่ของการขนส่งด้วยรถไฟไปจีนผ่านช่องทาง จ.หนองคาย จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าไทยด้วยความสามารถในการช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้าไปยังนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน จึงนับว่ารถไฟที่เกิดขึ้นสายนี้เป็นเสมือนช่องทางขนส่งใหม่อีกทางที่น่าสนใจ
- นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟยังบรรจบกับเส้นทางหลักของไทยที่ใช้ขนส่งสินค้าไปยังนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งก็คือ เส้นทาง R3A ผ่านทาง จ.เชียงราย ไปยังด่านบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ดังนั้น รถไฟสายใหม่นี้จึงน่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าไทยผ่านช่องทางดังกล่าวขึ้นไปอีก ทั้งนี้ ในระยะเวลาอันใกล้ รถไฟจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการส่งออกของไทยไปยังจีน ด้วยรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ซึ่งจะช่วยเร่งขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศไทยกับจีนอย่างมีนัยสำคัญ
- มณฑลยูนนานเป็นหนึ่งในมณฑลที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศจีน ในปี 2563 GDP ของยูนนานมีมูลค่า 2.48 ล้านล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 4.0 แซงหน้าการเติบโตระดับประเทศของจีนที่ร้อยละ 2.3 นอกจากนี้ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของยูนนานในปี 2563 ยังขยายตัวที่ร้อยละ 7.6 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,902 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด
- ทั้งนี้ ยูนนานจะเป็น "ประตู" ที่เปิดโอกาสสำหรับสินค้าไทยสู่จีนตะวันตก โดยเฉพาะไปยังนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตใหม่ (New Production Hub) และรัฐบาลจีนตั้งเป้าให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายการพัฒนาความเป็นเมือง นอกจากนี้ ยูนนานยังสามารถเชื่อมต่อกับเมืองใหญ่หลายแห่งในจีนด้วยรถไฟความเร็วสูง
- ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันจีนมีเส้นทางขนส่งสินค้าทางรางไปยังเอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรป ดังนั้น ในระยะข้างหน้า การขนส่งทางรางจะเป็นโหมดการขนส่งศักยภาพของสินค้าไทยไปยังตลาดสำคัญอย่างยุโรปซึ่งเดิมมีการขนส่งทางเรือเป็นหลักเท่านั้น และอาจจะเป็นช่องทางในการแสวงตลาดใหม่อย่างเอเชียกลางได้ในอนาคต
- ข้อชวนคิดและบทสรุป Key Takeaway ของวิทยากรทั้ง 6 ท่าน จากงานเสวนาออนไลน์ "รถไฟจีน–สปป.ลาว: ประเมินโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย"
จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง
โฆษณา