15 พ.ย. 2021 เวลา 05:30 • การเมือง
ระหว่างการมองไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับการมองไปยัง น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จะสัมผัสได้ในความแตกต่าง
มิใช่ในเรื่อง “วัย” อัน “ต่าง” กัน
หากแต่ในเรื่องของสำเหนียกแห่งความรับรู้ที่แผกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
คนหนึ่ง มากด้วยความลังเล ระแวดระวัง
คนหนึ่ง มากด้วยความฉับไว ทั้งในด้านของการรับรู้ ทั้งในด้านของการปรับตัวและตัดสินใจรับมือกับสภาพการณ์
ยิ่งไปมองกระบวนท่าของ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ยิ่งเห็นชัด
ทั้งๆ ที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ อยู่ในวัย 20 ตอนปลาย ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในวัย 60 ตอนปลาย
ความรับรู้และตัดสินใจก็แผกต่างเป็นอย่างสูง
หากมองกระบวนการทางการเมืองสำหรับบางคนจากก่อนรัฐประหาร 2549 มายังหลังรัฐประหาร 2557 คล้ายกับไม่มีการเปลี่ยนแปลง
เพราะดูเหมือน “อำนาจ” ยังอยู่กับคน “กลุ่มเดิม”
เพียงแต่เปลี่ยนตัวละครจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นผู้เล่นใหม่คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แต่ถามว่า “โครงสร้าง” ทางการเมือง “เปลี่ยน” หรือไม่
คำตอบไม่ว่าจะมาจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่ว่าจะมาจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คล้ายกับจะไม่เปลี่ยนแปลง
นั่นก็คือ การรักษาสถานะ “เดิม” ยังดำรงคงอยู่
กระนั้น หากถามคนรุ่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หากถามคนรุ่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ต้องยอมรับในการเข้ามาของ “นิวโหวตเตอร์”
นั่นคือ ปรากฏการณ์ของ “เยาวชนปลดแอก”
สถานการณ์ทางการเมืองหลังคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายในทางการเมือง
แม้จะต้องประสบกับสถานการณ์ “โควิด”
กระนั้น การเคลื่อนไหวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเดือนกรกฎาคม และการเคลื่อนไหว ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ในเดือนสิงหาคม
ก็นำมาซึ่งคำประกาศ “ทะลุเพดาน”
สภาพการณ์ทางการเมืองไม่เพียงแต่เปลี่ยนไปจากหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 หากแต่ยังเปลี่ยนไปจากหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562
แม้จะประสานเสียงเพลง “ขอให้เหมือนเดิม” ก็ตาม
ยิ่งเมื่อผ่านจากการอ่านคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 และประสบเข้ากับปฏิกิริยาในวันที่ 14 พฤศจิกายน
ทุกอย่างย่อมไม่เหมือนเดิม หากแต่แปรไปตามกฎแห่งอนิจจัง
สังคมไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ 2 สถานการณ์อันแหลมคม 1 ต้องการย้อนกลับไปสู่คืนวันอันเลิศแต่หนหลังในแบบ “กู้ด โอลด์ เดย์”
1 ต้องการเห็น “การเปลี่ยนแปลง”
อัตรา “เร่ง” ในการพิทักษ์รักษาสถานภาพ “เดิม” และอัตรา “เร่ง” ในการเรียกร้องต้องการให้เกิด “การเปลี่ยนแปลง” รุนแรงเป็นอย่างสูง
นี่คือการปะทะในทาง “ความคิด” อันกลายเป็นปมทาง “การเมือง”
โฆษณา