16 พ.ย. 2021 เวลา 03:30 • การเมือง
กล่าวสำหรับหลายคนใน 250 ส.ว.และหลายคนในพรรคพลังประชารัฐ หลายคนในพรรคภูมิใจไทย หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเห็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับประชาชน’
ก็จะเห็นเพียงเงาร่างของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ก็จะเห็นเพียงเงาร่างของ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงรากฐานของรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับประชาชน’ มีรายชื่อที่แสดงการเข้าร่วมด้วยการลงชื่อพร้อมกับหลักฐานมากกว่า 130,000 คน
นี่เป็นการร่วมลงชื่อของคนซึ่งมีสิทธิในการเลือกตั้ง ทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่นเดียวกับจำนวนของผู้ที่เคยร่วม ลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมของ ‘ไอ-ลอว์’ ก่อนหน้านี้
นี่ย่อมเป็นเจตจำนงร่วมของคนจำนวนมากกว่า 1 แสนรายชื่อที่อาศัยช่องทางตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการ
ขอคนละชื่อ เพื่อนำไปสู่การ ‘รื้อระบอบประยุทธ์’
หากไม่เข้าใจรากฐานและที่มาของสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบประยุทธ์’ ก็จะไม่เข้าใจว่าการขับเคลื่อนเรื่องนี้สำคัญอย่างไร
อย่าได้แปลกใจหากว่าสิ่งที่ ‘รี-โซลูชั่น’ ปฏิบัติการสอดรับกับกระแส และความต้องการที่ดำรงอยู่ภายในสังคมไทยนับแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศและบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน 2560
อย่างน้อยก็เป็นการยืนยันอีกคำรบหนึ่งของประชามติที่ลงมติ ไม่เห็นด้วยเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 อย่างเป็นรูปธรรม
อย่างน้อยก็เป็นการประกาศแนวทางปฏิเสธการสืบทอดอำนาจ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย
การประชุมรัฐสภาในวันที่ 16 พฤศจิกายนจึงเท่ากับตอกย้ำ
มีท่าทีอย่างเด่นชัดจากหลายส่วนของ 250 ส.ว.แสดงการคัดค้านด้านหนึ่งจึงเท่ากับเป็นการพิทักษ์ปก ป้อง ‘ระบอบประยุทธ์’ ให้ดำรง
การประชุมรัฐสภาจึงเป็นการต่อสู้เพื่อกำหนด ‘ทางเลือก’
อย่างน้อยก็เป็นคำถามอันแหลมคมไปยัง 250 ส.ว.และไปยัง 500 ส.ส.ว่าจะมีบทสรุปอย่างไรต่อ ‘ระบอบประยุทธ์’
อันหมายรวมถึงรัฐประหาร 2557 และรัฐประหาร 2549
โฆษณา