18 พ.ย. 2021 เวลา 05:14 • การเมือง
แม้มติในที่ประชุมรัฐสภา 473 ต่อ 206 จะชี้ทิศทางของประเทศว่า “อำนาจนำ” ทางการเมืองยังกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อันมีรากฐานมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
กระนั้น ทิศทางต่อไปในทางการเมืองก็ใช่ว่าจะราบรื่นเหมือนยืนอยู่บนเนินเขา โดยเฉพาะเมื่อมองจากพรรคร่วมรัฐบาล
หากมองจากพรรคพลังประชารัฐ การลงมติไปในทิศทางเดียวกันกับทิศทางของ ส.ว.อาจมิได้ยากลำบากเท่าใดนักถ้ามองจากนิยามที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”
แต่กล่าวสำหรับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ก็ไม่แน่ว่าเมื่อเข้าสู่สมรภูมิแห่งการเลือกตั้งทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยความราบรื่นสะดวกสบาย
ตราบใดที่แคนดิเดต “นายกรัฐมนตรี” ของพรรคพลังประชารัฐยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขณะที่พรรคเหล่านั้นจำเป็นต้องชู “หัวหน้าพรรค” ของตนแข่ง
เว้นก็แต่ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา จะดำรงอยู่ในฐานะ “หางเครื่อง” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
มีความจำเป็นต้องนำเอาบรรยากาศแห่งการหาเสียงในการเลือกตั้ง เมื่อเดือนมีนาคม 2562 มาเป็นเครื่องเปรียบเทียบในประเด็นของนายกรัฐมนตรี ในประเด็นอันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
ทุกพรรคการเมืองที่มีสถานะและศักดิ์ศรีย่อมจะชูหัวหน้าพรรค หรือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันเป็นของตน
พรรคประชาธิปัตย์ชู นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2562 เช่น เดียวกับพรรคภูมิใจไทยชู นายอนุทิน ชาญวีรกูล ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์จะชู นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
เพียงการชูหัวหน้าพรรคของตนก็ต้องเสียดแย้งกับพรรคพลังประชารัฐแล้ว มิไยต้องนำเอานโยบาย “เด่น” ของตนขึ้นมา
คำถามก็คือแต่ละพรรคจะยืนยันท่าทีต่อ “รัฐธรรมนูญ” อย่างไร
ต้องยอมรับว่าปัญหาอันเกี่ยวกับผลงานรัฐบาล อันเกี่ยวกับท่าทีของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นข้อยุ่งยากสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพรรคพลังประชารัฐ
หากแต่พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ต่างหากที่มีปัญหา
เพราะว่าทุกพื้นที่ที่หาเสียงคำถามต่อพรรคภูมิใจไทย ต่อพรรคประชาธิปัตย์จะต้องดังขึ้นและเร่งเร้าคำตอบอย่างไม่ต้องสงสัย
นี่คือ โจทย์ในทางการเมืองที่จะต้องประสบในอนาคตอันใกล้
โฆษณา