28 พ.ย. 2021 เวลา 00:00 • หนังสือ
บทความ ต้นพะยอมของสมเด็จฯ
จากหนังสือ ลำธารริมลานธรรม
เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล
แม้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์จะทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ (อุปัชฌาย์) ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ แต่ก็หาทรงถือพระองค์ไม่ ทรงเป็นกันเองกับลูกศิษย์และญาติโยม ขณะเดียวกันก็ทรงเปี่ยมด้วยเมตตาและทรงเป็นแบบอย่างในทางธรรมได้เป็นอย่างดี
คราวหนึ่งเสด็จกลับจากหัวหิน มาถึงวัดบวรนิเวศก็เย็นแล้ว ไม่นาน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเคยเป็นสัทธิวิหาริกของท่าน ได้เดินทางมาเยี่ยม ม.ร.ว. คึกฤทธิ์สังเกตเห็นที่ปากประตูตำหนักมีต้นไม้ต้นเล็ก ๆ แค่คืบใส่กระป๋องนมวางอยู่ ถึงทูลถามพระองค์ว่า ต้นอะไร
“ต้นพะยอมว่ะ สมภารวัดหัวหินท่านให้มา” สมเด็จฯตอบ
“โอ้โฮ!” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์อุทาน
“ทำไมโอ้โฮ” สมเด็จฯถาม
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์จึงอธิบายว่า “ก็ต้นพะยอมมันต้องใช้เวลาตั้ง ๔๐ หรือ ๕๐ ปีตั้งแต่ปลูก จึงจะโตออกดอกได้ สมเด็จฯแก่จะตายมิตายแหล่อยู่แล้ว จะไปได้ดูดอกมันทันอย่างไร”
“อย่างนั้นหรือ?” สมเด็จฯตรัสถามย้ำ “เอ็งว่ากี่ปีนะ?”
“๕๐ ปี” คือคำตอบยืนยัน
1
เมื่อทรงได้ยินเช่นนั้นพระองค์ก็ทรงตะโกนเรียกไวยาวัจกรลั่นตำหนัก พอไวยาวัจกรมาถึงก็รับสั่งให้เอาต้นพะยอมนั้นไปปลูกทันที อย่าให้เสียเวลาแม้แต่นาทีเดียว
“ไอ้นี่มันบอกว่าต้องปลูกถึง ๕๐ ปี ต้นพะยอมมันถึงจะออกดอก ต้องรีบปลูกเร็ว ๆ อย่าให้เสียเวลา ลุแก่ความประมาทไม่ได้”
เมื่อประสบกับอะไรก็ตามที่ให้ผลช้า ใช้เวลานานกว่าจะบังเกิดความสำเร็จ คนทั่วไปมักจะเฉื่อยแฉะหรือนิ่งดูดาย เพราะคิดว่ายังมีเวลาอีกมาก หรือยิ่งกว่านั้นก็คือถึงกับวางมือด้วยความท้อแท้ ไม่มีกำลังใจที่จะทำ แต่สำหรับสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นี้ ยิ่งให้ผลช้า ยิ่งต้องรีบทำเพื่อให้ผลนั้นมาถึงเร็วขึ้น เพราะยิ่งทอดธุระ ผลก็ยิ่งมาถึงช้าลงไปเรื่อย ๆ และหากผลนั้นเป็นสิ่งที่ดีงามด้วยแล้ว ก็ไม่ต้องห่วงกังวลว่าตนเองจะเป็นผู้รับผลนั้นหรือไม่ เพราะถึงตนเองไม่ได้รับ คนอื่นก็ได้รับอยู่ดี
ด้วยเหตุนี้แม้จะทรงตระหนักว่า กว่าต้นพะยอมจะออกดอก พระองค์ก็คงละโลกนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังทรงกระตือรือร้นที่จะปลูก ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของอนุชนรุ่นหลังนั่นเอง
โฆษณา