27 พ.ย. 2021 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
คนทุกคนต้องตาย แต่น้อยคนสามารถตายดี
ทำอย่างไรจะตายดี มีลมหายใจสุดท้ายที่เป็นสุข หรือเรียกว่า 'สุขสุดท้าย'?
หลายปีก่อน แม่ของเพื่อนสนิทคนหนึ่งของผมเสียชีวิตในวัยแปดสิบเก้า เป็นการเข้าโรงพยาบาลครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิต ก่อนตายเธอเตรียมกระเป๋าที่บรรจุข้าวของจำเป็นสำหรับงานศพเรียบร้อยล่วงหน้า สั่งเสียลูกหลานพร้อมสรรพ บอกว่าหากไม่หายใจก็ไม่ต้องเจาะคอ หากหัวใจหยุดเต้นก็ไม่ต้องปั๊มกลับมา
2
แล้วก็จากโลกไปอย่างสงบ ลูกหลานก็จัดงานศพเรียบง่ายแบบคริสต์ กลับคืนสู่พระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าตามความเชื่อของเธอ
ย้อนหลังไปหลายปีก่อน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ สุภาพสตรีผู้ใหญ่คนหนึ่งในบ้านเมืองของเราจากโลกไปอย่างสงบในวัยเก้าสิบห้า ก่อนตายร่วมสิบปีสั่งเสียให้จัดงานศพแบบเรียบง่ายที่สุด นั่นคือไม่มีงานศพ! ไม่มีการสวดอภิธรรม ไม่รับเงินบริจาค ไม่รับดอกไม้ ศพมอบให้นักศึกษาแพทย์เรียน และไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น
2
ย้อนหลังไปนานกว่านั้น ท่านพุทธทาสภิกขุสั่งเสียก่อนตายว่า เมื่อท่านสิ้นใจ ศพของท่านก็นำลงในโลงไม้โดยไม่ฉีดยารักษาสภาพศพ ให้เผาศพท่านอย่างเรียบง่าย ไม่ต้องมีเมรุ เพียงขึงผ้าผืนเดียวแทนหลังคา ไม่ต้องสวดอภิธรรม ไม่มีงานพิธี เผาศพบนกองฟืนง่าย ๆ
2
ดูเหมือนว่าคนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตยิ่งมาก ยิ่งเข้าใจความสวยงามของความเรียบง่ายของชีวิต
ในโลกที่มีมนุษย์เจ็ดพันล้านคน หาคนที่สามารถตายได้อย่างหมดจดสวยงามเช่นนี้ไม่ง่ายเลย
แน่นอนเราไม่อาจเลือกประเภทการตายได้ คนจำนวนมากตายอย่างทรมานด้วยโรคร้ายที่รุมเร้านานปี อีกไม่น้อยตายตาไม่หลับเพราะยังห่วงกังวลเรื่องโน้นเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เราอาจเลือกวิธีการจากโลกไปได้ - ไปแบบพร้อมหรือไปแบบไม่พร้อม
ไปแบบพร้อมคือไปเสียตั้งแต่วันนี้
เมื่อไปแล้วเสียแต่วันนี้ การอยู่ในโลกในเวลาที่เหลืออยู่คือการอยู่ 'เหนือโลก' และเวลาที่เหลืออยู่ในโลกคือโบนัส
2
มองแบบนี้ ทุกนาทีในโลกก็คือกำไร
ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือชาวคริสต์ หรือศาสนาใด ๆ ก็สามารถจากชีวิตนี้ไปอย่างมีสติและสงบ เพราะสาระหลักของชีวิตก็คือการได้ใช้ชีวิตจริง ๆ และอิ่มกับการมีชีวิต
สิ่งหนึ่งที่ผู้รอดชีวิตจากอุบัติภัยร้ายแรงเห็นตรงกันก็คือความรู้สึกว่า เวลาที่เหลือในโลกคือกำไร และรู้สึกอิ่มเอิบกับทุกนาทีที่มีอยู่
1
และจะมีวิธีผ่านวันเวลาใดดีไปกว่าการผ่านวันเวลาด้วยการรู้คุณค่าของเวลานั้น?
เมื่อถึงเวลาจากโลกจริง ๆ ก็ไม่รู้สึกว่ายังไม่ได้ทำหลายเรื่อง เพราะพร้อมจะละสังขารไปได้ทุกเมื่อมาตั้งนานแล้ว
และเพราะเข้าใจว่าความตายที่ดีไม่ใช่เป็นเรื่องที่เศร้าสลดหรือต้องไว้ทุกข์
ครั้งหนึ่งมีโยมคนหนึ่งถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่า คนเราควรไว้ทุกข์ให้คนตายกี่วัน
ท่านตอบว่า "ทุกข์ต้องกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วก็ให้ละเสีย ไปไว้มันทำไมเล่า?"
หมายเหตุ ขอแนะนำหนังสั้นเกี่ยวกับประเด็นนี้ [สุขสุดท้าย – Dying well] เป็นภาพยนตร์สั้นเล่าถึงทางเลือกในการดูแลสุขภาพในระยะท้ายของชีวิตด้วยการดูแลแบบประคับประคอง ที่นำไปสู่ลมหายใจสุดท้ายที่เป็นสุข หรือการตายดี
หนังเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนใจก็ดูได้ ความยาวแค่หกนาทีกว่า
โฆษณา