25 พ.ย. 2021 เวลา 11:43 • หนังสือ
2 ทักษะสำคัญในโลกที่วุ่นวาย
1.
ในโลกที่อะไรก็ไม่รู้ มากมายเต็มไปหมด ทักษะที่เราต้องมี อาจไม่ใช่แค่เขียนหรือพูด เพราะยุคนี้มีคนเขียน มีคนพูดเต็มไปหมดแล้ว คนเขียนเริ่มเยอะกว่าคนอ่าน คนพูดเริ่มเยอะกว่าคนฟัง
ภาพโดย Andrew Martin จาก Pixabay
ทักษะการฟัง ทักษะการคิดเป็นระบบ ผมคิดว่าสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกอย่างมีสติ ฟังแล้วคิด คิดแล้วแยกแยะให้ออก แยกแยะให้ออกด้วยการตั้งคำถาม อันไหนจริง อันไหนลวง อันไหนทำให้รู้ อันไหนทำให้หลง อันไหนมีประโยชน์ อันไหนไร้สาระ อันไหนหวังดี อันไหนเคลือบแฝง อันไหนความคิดเห็น อันไหนข้อเท็จจริง
ฟังอย่างตั้งใจ คิดอย่างมีสติ อย่าเพิ่งเชื่อ ให้ตั้งคำถามก่อน...ในโลกที่อะไรก็ไม่รู้ มากมายเต็มไปหมด
2.
ในโลกที่อะไรก็ไม่รู้ มากมายเต็มไปหมด ไม่มีอะไรจะมั่วและสับสน เท่ากับความคิดของคนเรา ฟุ้งซ่าน สับสน วกวน สงสัย ...อยากได้คำตอบ
1
ในความคิดเห็นของผม เมื่ออายุเพิ่มขึ้น เราต้องฝึกตั้งคำถาม...ไม่ใช่ฝึกหาคำตอบ แต่บางคนก็ถามมากเกินไป ถามแบบไร้คุณภาพ หนึ่งในวิธีฝึกถามคำถามให้ได้ประโยชน์กับตัวเองก็คือ ก่อนจะถามคนอื่น ให้ถามตัวเองก่อน เพื่อกำจัดความฟุ้งซ่านทางความคิด โดยให้เราลองถามตัวเองดังต่อไปนี้
คำถามแรก : ตกลงฉันต้องการจะถามเขาว่าอะไรกันแน่?
ข้อนี้ฝึกให้เราเป็นคนชัดเจน บางคนยังไม่รู้เลยว่าจะถามว่าอะไร แต่ถามไปเรื่อยเปื่อย ไม่เหนื่อยเลย ก่อนถามคนอื่น ต้องถามตัวเองก่อน เรียบเรียงคำถามนั้นให้สั้น กระชับ อย่าทะลึ่งพรวดถามออกมาทันที เพราะมันจะแสดงให้เห็นความเป็นคนคิดไม่ละเอียด ...ฝึกคิดแบบนี้บ่อย ๆ จะเรียบเรียงความคิดได้ดีขึ้น
คำถามที่สอง : แล้วฉันถามคำถามนี้ทำไมกันนะ?
บางคนถามไปอย่างนั้น ถามยิบถามย่อย เป็นเจ้าหนูจำไม ทั้งที่ตัวเองก็ไม่เคยคิดว่าถามทำไม ลองปรับความคิดใหม่ครับว่า ถ้าถามได้แค่คำถามเดียว เราจะถามว่าอะไร? และหากได้คำตอบ จะเอาคำตอบไปทำอะไร? ...ฝึกคิดแบบนี้บ่อย ๆ ความคิดเราจะแหลมคมขึ้น
คำถามที่สาม : แล้วฉันหาคำตอบเองก่อนได้หรือไม่?
ข้อนี้ฝึกให้รู้จักพึ่งพาตัวเอง ข้อมูลหลายอย่าง แค่ google ก็ตอบได้แล้ว แต่บางคนขี้เกียจบ้าง คิดสั้น ๆ บ้าง นึกอะไรก็ถามเลย โพล่งออกมาเลย แบบนี้เรียกว่าไม่มีสติ ต้องฝึกเสียใหม่ ให้ค้นหาคำตอบดูก่อน จนแน่ใจว่าไม่รู้จริง ๆ จึงค่อยถาม ไม่ใช่ถามเพราะมักง่าย
ฝึกถามให้ชัดเจน มีเป้าประสงค์ และฝึกหาคำตอบเองก่อน 3 อย่างนี้จะช่วยเราได้มาก...ในโลกที่อะไรก็ไม่รู้ มากมายเต็มไปหมด
1
3.
ในโลกที่อะไรก็ไม่รู้ มากมายเต็มไปหมด ผมมีหนึ่งคำถามที่ใช้ถามตัวเองบ่อย ๆ เป็น "คำถามทองคำ" ถามแล้วดีต่อทุกเรื่องในชีวิต ไม่ว่าจะธุรกิจหรือความสัมพันธ์ คำถามนั้นคือ "เขาได้ประโยชน์อะไร จากการกระทำครั้งนี้ของเรา?"
คำถามนี้ชวนให้เราออกจากตัวเอง เพราะเรามักนึกถึงแต่ตัวเองเป็นใหญ่ ฉันจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ เธอทำโน่นนี่ให้หน่อย เรียกร้องการเติมเต็มอยู่ตลอดเวลา
"เขาได้ประโยชน์อะไร จากการกระทำครั้งนี้ของเรา?" คำถามนี้จะทำให้เราฉุกคิดว่า "นั่นสิ แล้วเขาได้อะไรจากเราบ้าง?" ตัวอย่างมีให้เห็นเยอะ ที่เราลืมคิดเรื่องนี้ไป เช่น...
ช่วยซื้อหน่อยสิ เดือนนี้ยังขายไม่ได้เลย / ช่วยไลค์เพจหน่อย คนยังไลค์ไม่เยอะเลย / เห็นเงินเยอะ ขอยืมเงินหน่อย มีเรื่องต้องใช้ / วานทำอันนี้ให้หน่อย กำลังไม่ว่างเลย และอีกมากมายหลายตัวอย่างที่เชื่อว่าหลายคนอาจเคยทำ
แต่เราลืมไปหรือเปล่าว่าอีกฝ่ายก็คิดเหมือนเรา นั่นคือเขาก็อยากเรียกร้องเหมือนเรา เขาจะคิดในใจว่า "อ้าว แล้วตูได้อะไรวะครับเนี่ย?"
ฟังดูเหมือนอีกฝ่ายเห็นแก่ตัว นึกแต่ผลประโยชน์ตอบแทน ...ถูกต้องนะครับ ทุกคนเห็นแก่ตัวทั้งนั้น เราก็เห็นแก่ตัวนั่นแหละ เราจึงบอกว่าคนอื่นเห็นแก่ตัว
ตรงกันข้าม ผมพบเจออีกคนประเภทหนึ่ง เขาให้ผู้อื่นก่อน ให้แบบไม่กลัวขาดทุน เขาคิดถึงประโยชน์อีกฝ่ายก่อนเสมอ ฟังดูเหมือนจะทำให้ขาดทุน
แต่ที่สุดเขาจะกำไรทุกครั้ง ทั้งความสัมพันธ์ ทั้งธุรกิจ
4.
บางคนตั้งแง่ บอกว่า...แล้วถ้าเป็นฝ่ายให้คนอื่น แต่ดันเจอคนเอาเปรียบล่ะ เราไม่ขาดทุนแย่เหรอ? คำตอบคือ ก็อาจเสียเงิน แต่ได้รู้ธาตุแท้คน คุ้มจะตายไป แต่หากเจอคนที่ใช่ คนที่ดีจริง การให้ในครั้งนี้ จะคุ้มค่า คบกันยาว ๆ
ถ้าถามว่าทักษะอะไรอยู่ยั้งยืนยง ต่อให้อนาคตจะมีหุ่นยนต์มาแทนที่คน ผมคิดว่าทักษะนั้นคือ "ทักษะการคิดถึงผู้อื่นก่อน" นี่คือเครื่องมือที่ลดความเห็นแก่ตัว มนุษย์ต้องการสักคนเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร
"เขาได้ประโยชน์อะไร จากการกระทำครั้งนี้ของเรา?" ลองฝึกให้คำถามนี้เป็นค่าที่ตั้งจากโรงงาน เจอสถานการณ์อะไร เจอใครก็ตาม ให้ถามคำถามนี้ไว้ในใจก่อนเลย แล้วทุกเรื่องในชีวิตจะดีขึ้นทันตาเห็น
ในโลกที่อะไรก็ไม่รู้ มากมายเต็มไปหมด เราต้องฟัง มากกว่าพูด เราต้องคิด แล้วตั้งคำถาม เราต้องถามตัวเอง ก่อนจะไปถามคนอื่น
และเราต้องคิดถึงคนอื่น ก่อนคิดถึงตัวเอง.
โฆษณา