23 พ.ย. 2021 เวลา 11:42 • ข่าวรอบโลก
สหรัฐฯ ไม่เข้า CPTPP แต่จะตั้งกรอบความร่วมมือใหม่
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
2
สหรัฐฯ ประกาศแล้วครับว่าจะไม่กลับมาเข้า CPTPP แต่จะตั้งกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจใหม่ โดยจะเปิดตัวในปีหน้าชื่อ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF)
4
ช่วงที่ผ่านมาเหมือนการเดินหมากพลิกเกมไปมาระหว่างจีนและสหรัฐฯ เริ่มจากเมื่อเดือนตุลาคม จีนตีฆ้องขอเจรจาเข้าร่วมความตกลงการค้า CPTPP ซึ่งแต่เดิมเป็นกลุ่มการค้าที่โอบามาเป็นผู้ริเริ่มผลักดัน แต่ทรัมป์ดันถอนตัวไป และไบเดนเองยังไม่มีแนวโน้มจะกลับเข้าร่วม
เป็นคำขู่จากจีนว่าจะสวมบทพี่ใหญ่แทนที่สหรัฐฯ ในกลุ่มการค้าที่สหรัฐฯ ริเริ่มตั้งขึ้นมาสกัดกั้นจีน ทั้งยังเป็นคำเชิญจากจีนให้สหรัฐฯ กลับมาร่วมเจรจาในเวทีพหุภาคีร่วมกับจีน
1
แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้กล่าวในงาน Bloomberg New Economic Forum ที่สิงคโปร์ว่า สหรัฐฯ จะไม่กลับเข้าร่วม CPTPP
1
แต่ในต้นปีหน้า รัฐบาลไบเดนวางแผนการใหญ่จะเปิดตัวกรอบความร่วมมือใหม่ชื่อ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF)
IPEF จะมีจุดต่างกับ CPTPP เพราะจะเป็นกรอบความร่วมมือที่หลวม ไม่ใช่ข้อตกลงลดภาษีอย่างเคร่งครัดแบบ CPTPP ความหลวมและยืดหยุ่นกว่าของ IPEF น่าจะทำให้พันธมิตรสหรัฐฯ อย่างอินเดีย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สามารถตกลงได้ทั้ง RCEP และ CPTPP สามารถเข้าร่วม IPEF ได้
5
หัวใจของกรอบความร่วมมือใหม่จะอยู่ที่การสร้างซัปพลายเชน “สหรัฐฯ เชื่อมโลก” ซึ่งไรมอนโดเรียกว่าเป็นแนวคิด “Friendshoring” กล่าวคือ ทุนสหรัฐฯ จะขยายการค้าการลงทุนเน้นไปที่กลุ่มเพื่อนพันธมิตรที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน
7
จึงไม่แปลกหากในปีหน้า เรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองจะร้อนแรงขึ้นในระดับโลก เพราะนี่จะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจของโลกเสรีประชาธิปไตยในภูมิภาค (a trade coalition of democracies) ขึ้นมาสู้กับ “ห่วงโซ่จีนเชื่อมโลก” ผ่าน BRI ของจีน และกลุ่มการค้า RCEP ที่จีนเชื่อมกับเอเชีย
สัปดาห์ที่ผ่านมา ไรมอนโดมาเยือนญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพื่อเริ่มพูดคุยกรอบความร่วมมือใหม่ จะเห็นว่าทั้งสามประเทศเคยอยู่ใน CPTPP เดิม ส่วนในการประชุมที่สิงคโปร์ ไรมอนโดยังได้พบพูดคุยกับผู้แทนของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งก็อยู่ใน CPTPP เดิมด้วยเช่นกัน
4
หัวข้อสำคัญในกรอบความร่วมมือใหม่ นอกจากการสร้างเครือข่ายซัปพลายเชนแล้ว ยังจะมีเรื่องดิจิทัลเทรด เรื่องการสร้างมาตรฐานเทคโนโลยี เช่น ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และมาตรฐานเรื่องข้อมูล รวมทั้งความร่วมมือเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไบเดน
2
ในงาน Bloomberg New Economic Forum ที่สิงคโปร์ ยังมีอีกวงเสวนาหนึ่งเรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งมีฮิลลารี คลินตัน อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ และอดีตผู้สมัครประธานาธิบดี เข้าร่วมเสวนาด้วย
 
ผู้ดำเนินการเสวนาถามคลินตัน ซึ่งเคยสนับสนุนและผลักดัน CPTPP มาก่อนว่า มองอย่างไรที่สหรัฐฯ ในวันนี้ ไม่ได้อยู่ในกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 และ 2 ของโลก คือ RCEP และ CPTPP ขณะที่จีนอยู่ในอันแรกและกำลังขอเข้าอันที่สอง
คลินตันตอบว่า เธอได้เปลี่ยนความคิดเรื่องการเข้าร่วม CPTPP เรียบร้อยแล้ว เพราะวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ตั้งแต่หลังโควิด นโยบายการค้ายุคใหม่ควรให้ความสำคัญกับความมั่นคงของซัปพลายเชนในกลุ่มพันธมิตร มากกว่าการลดกำแพงภาษีหรือเข้าร่วมกลุ่มการค้าเสรีใหญ่ๆ เช่นในอดีต
3
ถอดรหัสระหว่างบรรทัดจากคำพูดของฮิลลารีก็คือ เทรนด์ใหม่ของทุนสหรัฐฯ กำลังเน้นย้ายกลับไปลงทุนที่บ้าน (Reshoring) บวกกับลงทุนที่บ้านเพื่อน (Friendshoring) สหรัฐฯ ไม่ได้สนใจทุกตลาดเช่นในอดีต แต่จะเจาะเป็นตลาดไปตามเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์
4
เหมือนกับที่ไรมอนโดพูดชัดเจนที่สิงคโปร์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐฯ จะผลิตเซมิคอนดักเตอร์เองภายในสหรัฐฯ ทั้งหมด เพราะซัปพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์มีความซับซ้อนมาก แต่สิ่งที่ต้องมั่นใจคือซัปพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์อยู่กับเรา เชื่อมกับเพื่อนเรา ไม่ใช่อยู่กับจีนหรือต้องพึ่งจีน
 
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ แผนความร่วมมือในการสร้างซัปพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังได้ประกาศสนับสนุนบริษัทชิปให้ย้ายมาลงทุนที่ญี่ปุ่น ประเดิมด้วยแผนการลงทุนใหญ่ทั้งจาก TSMC และ Sony โดยรัฐบาลญี่ปุ่นสัญญาว่าจะอุดหนุนต้นทุนการก่อสร้างโรงงานใหม่ นับว่าเป็นข่าวร้ายที่สั่นสะเทือนวงการชิปของจีน
8
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางปี ไบเดนยังได้เคยเสนอแนวคิด 3BW (Build Back Better World) โดยย้ำเน้นว่าสหรัฐฯ จะกลับมาสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศทั่วโลกแข่งกับจีน แนวคิด 3BW น่าจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของ IPEF ด้วยเช่นกัน
2
โดยสหรัฐฯ จะเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาดและเศรษฐกิจสีเขียวในกลุ่มพันธมิตรในอินโดแปซิฟิก เพื่อให้แตกต่างจากจีนที่ยังลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหินและพลังงานเก่าในหลายประเทศ
3
ถ้าใครถามว่า ข่าวใหญ่ปีหน้าสำหรับวงการเศรษฐกิจระหว่างประเทศคืออะไร คำตอบก็คือ การที่สหรัฐฯ จะเดินเกมเชิงรุก เริ่มแสวงเพื่อนเข้าร่วมกรอบเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯ
2
กลยุทธ์ของสหรัฐฯ เมื่อถูกจีนวางหมากจะสวมแทนตนในเกมเดิมอย่าง CPTPP ก็คือเปิดและเปลี่ยนเกมใหม่ไปเลย
2
โฆษณา