25 พ.ย. 2021 เวลา 11:50 • คริปโทเคอร์เรนซี
รู้จัก OpenSea ตลาดซื้อขาย NFT อันดับหนึ่งของโลก
ถ้าพูดถึงเทคโนโลยี ที่เป็นกระแสร้อนแรงในช่วงปีที่ผ่านมา
หลายคนน่าจะเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เรียกว่า “NFT”
1
NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token ซึ่งเป็นคริปโทเคอร์เรนซีประเภทหนึ่ง เหมือนกับ Bitcoin แต่ต่างกันตรงที่ แต่ละเหรียญจะมีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทดแทนได้ ทำให้มีเพียงชิ้นเดียวในโลก และมีมูลค่าในตัวเอง
พอเป็นแบบนี้ เราจึงได้เห็น NFT ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น รูปภาพ, กราฟิก, ไอเทมเกม หรือคลิปวิดีโอ ถูกประมูลกันด้วยมูลค่ามหาศาลบนโลกออนไลน์
1
ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจที่เป็นตลาดกลางสำหรับซื้อขายสินทรัพย์ NFT กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
โดยแพลตฟอร์มที่ครองส่วนแบ่งเกือบทั้งหมดของตลาดอยู่ในเวลานี้ มีชื่อว่า “OpenSea”
เรื่องราวของ OpenSea มีความเป็นมาอย่างไร ถึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำวงการได้
แล้วปัจจุบัน แพลตฟอร์มมีมูลค่าการซื้อขาย NFT สูงแค่ไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
OpenSea ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 หรือ 4 ปีที่แล้ว โดยคุณ Devin Finzer และคุณ Alex Atallah
คุณ Finzer ซึ่งเป็นซีอีโอของ OpenSea นั้นมีประสบการณ์ในแวดวงเทคโนโลยีพอสมควร โดยเขาเป็นอดีตพนักงาน Pinterest และเคยปั้นแพลตฟอร์มบริการเรียกคืนเงิน ชื่อว่า Claimdog ขายให้กับบริษัทบริการข้อมูลเครดิตอย่าง Credit Karma ได้สำเร็จ
 
ต่อมา คุณ Finzer เริ่มสนใจเกี่ยวกับ เทคโนโลยีบล็อกเชน และคริปโทเคอร์เรนซี เลยลองศึกษาข้อมูล จนหลงใหลอยากทำธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้
1
เขาจึงร่วมมือกับคุณ Atallah นำเสนอไอเดียธุรกิจแชร์สัญญาณ Wi-Fi ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งก็ได้รับเงินทุนจาก Y Combinator ที่เป็นสตาร์ตอัป Accelerator ชื่อดัง เพื่อไปเริ่มต้นกิจการ
แต่ระหว่างนั้น คุณ Finzer ได้เห็นข่าวของ CryptoKitties เกมเลี้ยงแมวออนไลน์ ที่สามารถนำของภายในเกมมาซื้อขายต่อด้วยสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี บนเครือข่ายบล็อกเชนได้ ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ NFT โปรเจกต์แรก ๆ ของโลก
4
และเขารู้สึกประหลาดใจมาก ที่คอลเลกชันในเกมชื่อว่า Genesis ถูกซื้อขายกันในราคา 247 ETH หรือคิดเป็นเงินมูลค่าสูงถึงราว ๆ 3.8 ล้านบาท ในขณะนั้น
ทำให้เขามองว่าในอนาคต หากเทคโนโลยีนี้แพร่หลายมากขึ้น ก็น่าจะมี NFT ประเภทอื่น ๆ เกิดขึ้นมากมาย และมีมูลค่าการซื้อขายสูงยิ่งกว่านี้อีก
คุณ Finzer จึงตัดสินใจเปลี่ยนธุรกิจ จากเดิมจะทำธุรกิจแชร์สัญญาณ Wi-Fi ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน
หันมาสร้างแพลตฟอร์มตลาดสำหรับซื้อขายสินทรัพย์ NFT แทน
โดยตั้งชื่อแบรนด์ว่า “OpenSea”
อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกบริษัทไม่ได้เร่งขยายกิจการสักเท่าไร โดยมีพนักงานแค่ 7 คน จนถึงปี 2020 เนื่องจากต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย และพัฒนาแพลตฟอร์มให้มีคุณภาพดีเสียก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมรอวันเวลาที่กระแส NFT เริ่มติดตลาดจริง ๆ
1
ซึ่ง OpenSea ได้ออกแบบแพลตฟอร์ม ให้ผู้คนสามารถเข้ามาวางขายผลงาน NFT ประเภทใดก็ได้ โดยจะมีการแบ่งหมวดหมู่ไว้ชัดเจน เช่น คอลเลกชันสิ่งของที่มาจากแพลตฟอร์ม Sandbox, คอลเลกชันสิ่งของที่มาจากแพลตฟอร์ม Decentraland
1
การแบ่งหมวดหมู่ชัดเจนแบบนี้ ทำให้ค้นหาสะดวก รวมทั้งเก็บประวัติการซื้อขาย และความเคลื่อนไหวของราคาในอดีต เพื่อให้ติดตามข้อมูลของสินทรัพย์ได้อย่างละเอียด
ผ่านมาถึงปี 2020 การซื้อขาย NFT บน OpenSea ยังมีมูลค่าอยู่ที่เพียง 3,000 ล้านบาท
แต่เข้าสู่ปี 2021 กระแสของ NFT ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ OpenSea ที่บุกเบิกตลาดมาหลายปี และมีแพลตฟอร์มใช้งานง่าย กลายเป็นทางเลือกแรก ๆ ที่คนเข้ามาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกัน
มูลค่าการซื้อขาย NFT บน OpenSea ในปี 2021
ไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 8,200 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 7,600 ล้านบาท
แต่พอครึ่งปีหลัง มูลค่าการซื้อขายก็พุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดด
เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 10,700 ล้านบาท
เดือนสิงหาคม อยู่ที่ 112,000 ล้านบาท
เดือนกันยายน อยู่ที่ 98,000 ล้านบาท
เดือนตุลาคม อยู่ที่ 86,000 ล้านบาท
โดยปัจจุบัน OpenSea มีมูลค่าซื้อขาย NFT สะสมรวมตั้งแต่เปิดตัว อยู่ที่ราว ๆ 340,000 ล้านบาท
อ้างอิงจากเว็บไซต์ Tokenist
OpenSea มีส่วนแบ่งตลาด คิดเป็น 97% ของมูลค่าการซื้อขายรายเดือน
บนเครือข่ายของ Ethereum ซึ่งเป็นระบบบล็อกเชนหลักของตลาด NFT
ทีนี้ คำถามที่หลายคนน่าจะสนใจคือ แล้ว OpenSea มีรายได้และมูลค่าบริษัทเท่าไร ?
ต้องบอกว่า OpenSea มีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมในการดำเนินธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์ม อยู่ที่ 2.5% ของมูลค่าการซื้อขายในแต่ละครั้ง
ถึงแม้บริษัทไม่ได้เปิดเผยผลประกอบการ
แต่จากข้อมูลยอดซื้อขายสะสมราว 340,000 ล้านบาท เราก็พอประเมินได้คร่าว ๆ ว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา OpenSea มีรายได้รวมประมาณ 8,500 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงประสบความสำเร็จในการระดมทุนไปแล้วทั้งหมดกว่า 4,100 ล้านบาท
โดยในรอบล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2021 ซึ่งเป็น Series B บริษัทถูกประเมินมูลค่าธุรกิจไว้อยู่ที่ 49,000 ล้านบาท ถือเป็นสตาร์ตอัประดับยูนิคอร์น
ซึ่งคงต้องบอกว่า นับเป็นช่วงเวลาระดมทุนที่เหมาะเจาะพอดี เพราะตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2021 ยอดการซื้อขาย NFT บนแพลตฟอร์ม ก็เพิ่มขึ้นราว 10 เท่า ทำให้หากมีการระดมทุนในครั้งถัดไป มูลค่าประเมินของบริษัท ก็น่าจะพุ่งสูงขึ้นมากเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความนิยม คือ ต่อไปก็น่าจะมีคู่แข่งเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ
เช่น ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่อย่าง Coinbase เพิ่งประกาศเปิดตัวตลาดซื้อขาย NFT ของตัวเองเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2021 ที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ส่วนใหญ่แล้ว OpenSea ใช้งานระบบ Smart Contract บนเครือข่ายของ Ethereum ซึ่งมีค่าธรรมเนียม หรือที่เรียกกันว่า ค่า Gas ค่อนข้างแพง
ในขณะที่แพลตฟอร์มคู่แข่ง ได้เพิ่มการใช้งานระบบบนเครือข่ายบล็อกเชนอื่น ๆ เช่น Solana, Cardano ซึ่งมีค่า Gas ถูกกว่ามาก
อีกประเด็นสำคัญ คือ เครดิตความน่าเชื่อถือ เพราะเมื่อเดือนกันยายน ปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดกำลังร้อนแรง มีข่าวว่าพนักงานของ OpenSea ใช้ข้อมูลภายใน ซื้อ NFT ที่บริษัทมีแผนโปรโมตเก็บเอาไว้ ก่อนที่จะขายทำกำไรมหาศาลในภายหลัง
ซึ่งแม้ OpenSea ครองตลาดอยู่เกือบทั้งหมดในตอนนี้
แต่ถ้าไม่ระวังปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ให้ดี ก็อาจสูญเสียส่วนแบ่งไปได้ เพราะในตลาดเสรีอย่างคริปโทเคอร์เรนซี และ NFT ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิ์เปลี่ยนไปใช้งานแพลตฟอร์มอื่นได้อยู่เสมอ
จากเรื่องราวนี้ คงเป็นแง่คิดที่น่าสนใจว่า
ในบางครั้ง เราอาจต้องเชื่อมั่นและอดทนเฝ้ารอ จนกว่าโอกาสที่คาดหวังจะมาถึง
2
เหมือนกรณีของ OpenSea ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพของ NFT ตั้งแต่แรก
แต่ก็รู้ดีว่า ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่นี้ จึงค่อย ๆ พัฒนาแพลตฟอร์มให้มีคุณภาพดี พร้อมรองรับการซื้อขายที่จะเติบโตในอนาคต
1
และเมื่อเวลานั้นมาถึง บริษัทจึงสามารถเก็บเกี่ยวผลตอบแทนได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย และก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่สุด ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของวงการไปแล้วนั่นเอง
ที่ผ่านมา
ถ้าพูดถึงเซิร์ชเอนจิน คนมักนึกถึง Google
ถ้าพูดถึงโซเชียลมีเดีย คนมักนึกถึง Facebook
ถ้าพูดถึงศูนย์รวมคริปโทเคอร์เรนซี คนอาจนึกถึง Binance
และถ้าพูดถึงหัวข้อเกี่ยวกับ NFT ในตอนนี้ คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึง OpenSea เป็นชื่อแรก นั่นเอง..
2
References
โฆษณา