26 พ.ย. 2021 เวลา 11:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
TRUE กับ DTAC ควบรวมกันไปแล้ว ก็อาจไม่ได้เป็นที่ 1 เพราะอะไร
1
การรวมร่างของ TRUE กับ DTAC เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมกัน
มีการประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาราว ๆ ถึง 2 ปี ในการผ่านกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ
 
และหากทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี ก็จะทำให้บริษัทใหม่แห่งนี้
มีจำนวนผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์รวมกัน 51.3 ล้านเลขหมาย
ที่เกิดจากฐานลูกค้า TRUE กับ DTAC รวมกัน
เป็นตัวเลขที่มากกว่า AIS ที่มีอยู่ 43.7 ล้านเลขหมาย (ข้อมูลไตรมาส 3 ปี 2564)
 
แต่จริง ๆ แล้ว การมีจำนวนเลขหมายที่มากกว่า มันกลับไม่ใช่คำตอบว่าใครคือเบอร์หนึ่งในธุรกิจนี้
เพราะขนาดคุณ Sigve Brekke ประธานและซีอีโอกลุ่ม Telenor ที่ถือหุ้นใหญ่สุดของ DTAC
ก็ย้ำว่าถึงควบรวมกันแล้ว AIS ก็ยังเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดเชิงรายได้มากกว่าอยู่ดี
1
สรุปง่าย ๆ ก็คือ ด้วยจำนวนลูกค้าที่อยู่ในมือ AIS
ยังสามารถสร้างมูลค่าในเชิงรายได้มากกว่า 2 เครือข่าย
และไม่ใช่แค่รายได้ที่มากกว่า แต่มูลค่าบริษัท AIS ก็ยังทิ้งขาด
ปัจจุบันมูลค่าบริษัท AIS อยู่ที่ 639,394 ล้านบาท
 
ส่วน TRUE 158,832 ล้านบาท และ DTAC 107,143 ล้านบาท
หากคิดแบบง่าย ๆ สมมติเกิดการควบรวมกิจการขึ้นจริง ๆ ในตอนนี้
มูลค่า 2 บริษัทรวมกันจะคิดเป็น 265,975 ล้านบาท
จะเห็นว่ามูลค่าบริษัท AIS ก็ยังเป็น 2.4 เท่าของบริษัทที่เกิดจากการควบรวมเลยทีเดียว
แปลว่าการจะจะวัดความเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดนี้ ไม่ใช่แค่ จำนวนเลขหมาย
แต่ยังมีเรื่องผลประกอบการ, รายได้, กำไรสุทธิ, มูลค่าบริษัท ที่ใช้เป็นตัวชี้วัดเรื่องนี้ได้ด้วย
3
ความสนุกของเรื่องนี้ มันอยู่ตรงที่ว่าการควบรวมกิจการของ TRUE กับ DTAC
ทางฝั่ง AIS เองก็ดูกังวลและไม่ได้นิ่งนอนใจโดยไม่ได้ทำอะไรเลย
 
เพราะเมื่อข่าวควบรวมกิจการผ่านไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง
AIS ก็ยิงโฆษณาออนไลน์กระหน่ำผ่านทาง Social Media ของตัวเอง
โดยขน Presenter หลายคน เช่น ลิซ่า, แบมแบม, เบลล่า, น้อง ๆ วง BNK48
ที่มีเนื้อหาการสื่อสารถึง สัญญาณเราดีที่สุด, คลื่นเราเยอะที่สุด, ย้ายมาอยู่กับเรานะ
โดยในทวิตเตอร์โฆษณาของ AIS ก็ขึ้นมาเป็นเทรนด์อันดับ 1
3
พร้อมกับทาง AIS ก็มีการประกาศ โปรย้ายค่าย โดยโปร 4G มีส่วนลด 50%
แถมใช้ฟรี 1 เดือน ส่วนโปร 5G ลด 25%
เป็นการฉกฉวยโอกาสที่เวลานี้ลูกค้าของทั้ง 2 ค่าย ยัง งง ๆ ว่าจะอยู่ค่ายเดิมหรือจะเปลี่ยนค่ายใหม่ดี
 
แต่แอ็กชันครั้งนี้ของ AIS กำลังบอกว่า
จำนวนลูกค้าในมือยังเปรียบเสมือนกล่องดวงใจที่ AIS หวงแหนเป็นที่สุด
ที่ตลอดเวลาเกือบ ๆ 30 ปี ทั้ง TRUE และ DTAC พยายามจะแย่งชิงลูกค้า
เพื่อก้าวสู่ความเป็นเบอร์หนึ่ง แต่สุดท้ายก็ทำได้เพียงแค่ผู้ตาม
ซึ่งตรงนี้เองก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลของการควบรวมกิจการ TRUE กับ DTAC ที่เป็นเสมือนการสร้างทางด่วนเพื่อไล่ตาม AIS ในแง่ของยอดผู้ใช้งาน
4
ทีนี้เมื่อในอนาคต จะเหลือผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมเพียงแค่ 2 ราย
จะส่งผลกระทบหรือผลดีต่อคนไทย ?
 
หากถามว่ากำแพงใหญ่สุดในธุรกิจนี้ที่ TRUE และ DTAC ต้องเผชิญมาอย่างยาวนาน
ก็คือผู้ใช้งานส่วนใหญ่ของประเทศมั่นใจและเชื่อว่า AIS คือเครือข่ายสัญญาณที่ดีที่สุด
 
ทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมไม่ว่าจะเปลี่ยนถ่ายมากี่ยุคกี่สมัยตั้งแต่ 2G จนมาถึง 5G
ต่อให้คู่แข่งพยายามทุกวิถีทาง AIS ก็ยังเป็นเบอร์ 1 ทั้งในแง่รายได้และจำนวนหมายเลขบริการ
เปรียบเสมือนกำแพงที่ TRUE และ DTAC ไม่อาจก้าวข้ามผ่านมันไปได้
3
สิ่งที่ AIS ควรจะกังวลใจคงไม่ใช่จำนวนฐานลูกค้าของคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น
หากแต่มันคือ Mindset ของผู้บริหารในการทำธุรกิจหลังจากควบรวมบริษัทเสร็จสิ้นต่างหาก
 
เมื่อคุณ Sigve Brekke ประธานและซีอีโอกลุ่ม Telenor พูดว่า
“ต่อให้ควบรวมกิจการแล้ว AIS ก็ยังเป็นพี่ใหญ่ และเราก็ยังต้องเรียนรู้จาก AIS”
 
ทางฝั่งคุณ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ย้ำว่าธุรกิจโทรคมนาคมเมืองไทย ถึงจุดที่ไปต่อได้ยากเมื่อทั้ง TRUE และ DTAC มีข้อจำกัด
ที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าต่อกับผู้บริโภคได้ทันตามเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป
3
ในขณะที่ AIS กลับมองต่าง และยังทุ่มเม็ดเงินลงทุนด้านโครงข่าย 30,000 ล้านบาทในปีนี้ และจับมือกับพันธมิตรที่เราได้เห็นข่าวกันเป็นระยะ
 
ทีนี้หลายคนคงสงสัยว่า แล้วแนวโน้มในอนาคตการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมจะเป็นอย่างไร
 
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจถึงพื้นฐานธุรกิจนี้กันก่อน
ธุรกิจโทรคมนาคม ถือเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนสูง โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงข่ายสัญญาณต่าง ๆ
อีกทั้งต้องผ่านการขออนุญาตหลายขั้นตอนเลยทีเดียว
ตรงนี้เองที่เปรียบเสมือนป้อมปราการขนาดใหญ่ ที่จะจำกัดให้มีผู้เล่นเพียงไม่กี่รายในตลาด
4
แต่ก็ตามมาด้วยข้อดี คือนอกจากคู่แข่งน้อยแล้วนั้น
ธุรกิจนี้มีต้นทุนคงที่ ถึงจะลงทุนมหาศาล แต่ต้นทุนก็ไม่ได้แปรผันตามจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
 
พูดง่าย ๆ ก็คือ ต่อให้มีผู้ใช้บริการ 10 ล้านเลขหมาย หรือ 50 ล้านเลขหมาย
ต้นทุนธุรกิจก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไร ก็เลยเป็นเหตุผลให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา
โอเปอเรเตอร์เลือกใช้ข้อดีตรงนี้ มาแข่งขันด้านอัตราค่าบริการเพื่อแย่งชิงลูกค้ามาใช้บริการสัญญาณตัวเอง
3
ทีนี้เมื่อผู้เล่นใหญ่ในตลาดจาก 3 เหลือ 2 ราย
หลายคนอาจคิดว่าการแข่งขันทางด้านราคาอาจลดน้อยลง
ส่งผลให้อัตราค่าบริการอาจสูงขึ้น ซึ่งก็ติดตามกันต่อไป
 
แต่ดูเหมือนว่าในอนาคตอันใกล้ธุรกิจโทรคมนาคมจะเปลี่ยนไปที่จะไม่ได้พึ่งพาแค่รายได้ จากการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว
เคยสังเกตบ้างไหมว่าเวลานี้กลุ่ม โอเปอเรเตอร์ มีธุรกิจใหม่ ๆ ที่เราเองคาดไม่ถึง
เช่น TRUE มีธุรกิจใหม่อย่าง TrueFood ที่เป็น Food Delivery
นอกเหนือจาก True Shopping, TrueCoffee และธุรกิจอื่น ๆ
 
อีกทั้งการควบรวมกิจการกับทาง DTAC ครั้งนี้ ก็มีการจัดตั้ง VC มูลค่าราว 6.6 พันล้านบาท
ที่จะเข้าไปสนับสนุน Startup ซึ่งตรงนี้เองจะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ
นอกเหนือจากการเป็นผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์
4
ส่วนทางฝั่ง AIS ที่นอกจากมีธุรกิจ Broadband Internet ที่ในเวลา 6 ปี มีลูกค้า 1.7 ล้านราย
ก็ยังมี AIS PLAY อีกทั้งยังมีการนำคลื่น 5G ไปร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม
จนถึงลงทุนผ่าน Startup หลากหลายรูปแบบที่อาจนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ ๆ ของบริษัท
จนถึงนโยบายล่าสุดของบริษัทที่ AIS จะรุกธุรกิจ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม อย่างจริงจัง
1
คงพอจะเห็นภาพในอนาคตที่จะเกิดขึ้นที่ โอเปอเรเตอร์ จะมีธุรกิจใหม่ ๆ
ที่เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มหลากหลาย เช่น เราอาจเห็น โอเปอเรเตอร์ ทำธุรกิจการเงิน,
ธุรกิจประกัน, ธุรกิจการแพทย์, ธุรกิจยานยนต์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
โดยมีสัญญาณ 5G เป็นตัวเนรมิตที่จะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกินคาดเหล่านี้ได้
 
โดยจะใช้ข้อได้เปรียบในการมีฐานลูกค้ามหาศาลที่ใช้บริการสัญญาณตัวเอง
ไปต่อยอดเชื่อมโยงไปยังธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม
เพื่อสร้างฐานลูกค้าให้เติบโตอย่างรวดเร็ว
5
ซึ่งก็ดูเหมือนว่า AIS จะนำหน้าไปหนึ่งสเต็ป ที่ไปร่วมมือกับธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง SCB เพื่อปล่อยสินเชื่อแล้ว แต่ทาง TRUE กับ DTAC ยังไม่ได้ร่วมมือกับธนาคารใด ๆ เลย
 
พอเป็นแบบนี้ ทั้ง AIS และบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE กับ DTAC
ย่อมต้องการฐานลูกค้าที่ใช้บริการสัญญาณตัวเองมากที่สุด เพื่อไปสู่การต่อยอดนั่นเอง
 
สิ่งที่ตามมานอกจากแข่งขันเรื่อง คุณภาพสัญญาณบริการแล้วนั้น
สงครามด้านราคาก็อาจเป็นอาวุธชิ้นสำคัญเพื่อแย่งชิงลูกค้า
โดยใช้จุดแข็งของธุรกิจบริการสัญญาณโทรศัพท์ ที่มีต้นทุนคงที่
เป็นตัวขับเคลื่อนเกมราคาเหมือนเดิม
2
เพราะในอนาคตลูกค้า 1 คน สามารถสร้างรายได้ที่ไม่ได้จำกัดแค่ธุรกิจโทรคมนาคม
แต่สามารถไปเพิ่มมูลค่าในธุรกิจใหม่ ๆ ที่หลากหลายของ โอเปอเรเตอร์
เป็นการเพิ่มมูลค่ามากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้
 
ทั้งหมดนี้เป็นภาพที่ลงทุนแมน คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
ส่วนถ้าถามว่าเกมนี้ ใครจะเป็นผู้ชนะ และตำแหน่งเบอร์หนึ่งในตลาดจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่
คงยังไม่มีใครตอบได้
3
เพราะก็ต้องตามดูว่า การควบรวมกิจการของ TRUE กับ DTAC
จะแก้ปัญหาเรื่องความทับซ้อนหลาย ๆ อย่างของทั้ง 2 บริษัทได้ดีแค่ไหน
ทั้งเรื่องโครงข่ายสัญญาณ, พนักงาน, ฐานลูกค้า และอีกสารพัดเรื่องมากมาย
 
ส่วน AIS จะไม่มีปัญหาความยุ่งยากเหล่านี้
พร้อมกับมีเวลาที่จะไปพัฒนาบริการของตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ดังนั้น การรวมกันของ TRUE กับ DTAC ในครั้งนี้ คงต้องบอกว่า
รวมกันไปแล้ว ก็อาจจะไม่ได้เป็นที่หนึ่งอยู่ดี..
 
References:
-งานแถลงข่าว Equal partnership for Thailand’s digital transformation
-รายการผลประกอบการไตรมาส 3 ปี พ.ศ. 2564 ของแต่ละบริษัท
5
โฆษณา