27 พ.ย. 2021 เวลา 00:00
[ #อย่าเพิ่งด่วนสรุป ]
ยังไม่ทันที่ ราล์ฟ รังนิก จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมแมนฯยูไนเต็ดอย่างเป็นทางการ แต่เกิดกระแสมากมาย โดยเฉพาะคาดเดาผลกระทบทั้งบวกและลบซึ่งจะต้องตามมา
ชื่อเสียงแต่หนหลังของกุนซือเยอรมันรายนี้ เป็นที่รู้กันดีว่า เน้นการซ้อมที่เข้มข้นหนักหน่วง รูปแบบชัดเจนมากๆ โดยเฉพาะเรื่องของเพรสซิ่ง อีกทั้งยังนิยมใช้ผู้เล่นดาวรุ่งสดใหม่
ถ้าคุณเป็นลูกน้อง รังนิก คงต้องขยันไว้ก่อน ตื่นตัวกระตือรือร้นตลอดเวลา พรสวรรค์ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
จากนั้นเหลียวมามองดูผู้เล่นหลักชุดปัจจุบันของปีศาจแดง จึงเกิดความสงสัยและคำถามมากมายว่า ใครกันบ้างที่จะมีโอกาสได้ไปต่อ แล้วใครล่ะที่จะตกสำรวจ โดนเขี่ยทิ้งออกจากทีม
1
เชื่อกันว่าหากวัดกันปัจจุบัน มีไม่น้อยเลยที่ต้องไปสอบซ่อม ไม่อย่างนั้นไม่มีทางผ่านการตัดเกรดจากเจ้านายคนใหม่ซึ่งเขี้ยวกว่าเดิมหลายเท่าแน่นอน
ตั้งแต่แนวรับยันแดนหน้า มีจุดอ่อนมากมายให้วิจารณ์ พูดถึงในด้านลบเสมอมา จะว่าไปแล้วนั่นคือสิ่งที่ต้องยอมรับความจริง
1
อย่างไรก็ดีในเมื่อ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ไม่ได้เป็นผู้จัดการทีมเน้นการเล่นแบบเพรสซิ่ง นั่นหมายถึงว่าทุกคนควรได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองในยุคของ รังนิก อย่างน้อยที่สุดต้องพยายามทำความเข้าใจกับแท็คติกใหม่ที่วางไว้ให้
ส่วน รังนิก เองก็ไม่ได้หมายความว่าผ่านความสำเร็จในระดับสูงมาก่อน ว่ากันตามตรงหากวัดงานกุนซือคงสู้ ซีเนดีน ซีดาน , เป๊ป กวาร์ดิโอล่า , เจอร์เก้น คล็อปป์ หรือกระทั่ง อันโตนิโอ คอนเต้ คงไม่ได้หรอก
รายชื่อที่ว่ามาคือกุนซือตัวท็อปในปัจจุบัน พิสูจน์มาแล้วไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่ระดับทวีปยุโรปยังการันตี
ในขณะที่ รังนิก เต็มที่คือพาชาลเก้คว้ารองแชมป์บุนเดสลีกา ผงาดเดเอฟเบ โพคาล รวมทั้งนำฮอฟเฟ่นไฮม์กับแอร์เบ ไลป์ซิกเลื่อนสู่บุนเดสลีกาได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร
เทียบกันแล้วคงเห็นความแตกต่างชัดเจน แต่สิ่งที่ช่วยให้ รังนิก ถูกยอมรับในวงกว้าง โดยเฉพาะแวดวงลูกหนังเยอรมัน คือการสร้างนักเตะดาวรุ่ง รวมทั้งปลุกปั้นเทรนเนอร์ที่มีแวว จนหลายคนก้าวขึ้นมาอย่างสง่างาม
ขณะเดียวกันแนวทางการเล่นเพรสซิ่งที่เราได้ยินกันมาตลอดว่า Gegenpressing เชื่อกันว่า รังนิก นำมาพัฒนาต่อยอดจนมีแนวทางที่ชัดเจนของตน เพราะการเล่นในลักษณะกดดันฝ่ายตรงข้ามอย่างรวดเร็ว แตกต่างกันไปตามกลยุทธ์แต่ละกุนซือ
เหมือนว่าเขาเป็นคนบุกเบิกอย่างชัดเจนในยุคใหม่ ก่อนวิธีการเช่นนี้จะได้รับความนิยมอย่างมากในเวลาต่อมา
อีกด้านคืองานบริหารทีมในบทบาทผู้อำนวยการ รังนิก สร้างชื่อมาเป็นที่รู้จักตอนปี 2012 ซึ่งไปวางรากฐานปูพื้นให้กับเครือข่ายเร้ดบูลล์ ไม่ว่าจะเป็นแอร์เบ ไลป์ซิกหรือซัลซ์บวร์ก เร้ดบูลล์ จนประสบความสำเร็จอย่างน่าประทับใจ
การพัฒนานักเตะระดับเยาวชนคือสิ่งที่จำต้องเห็นเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังวางโครงข่ายไว้ทั่วโลก คอนเน็กชั่นหรือสายสัมพันธ์ของ รังนิก จึงดีเยี่ยม สามารถเข้าถึงพวกช้างเผือกในป่าได้ก่อน
ด้วยเหตุนี้เองทำให้เชื่อกันว่า ตลาดมกราคมอาจมีผู้เล่นหน้าใหม่ย้ายมาเสริม จากที่มีข่าวว่า บอร์ดบริหารไม่อนุมัติงบเพิ่ม หลังใช้ไปแล้ว 130 ล้านยูโรจากซัมเมอร์ที่ผ่านมา
ขุมกำลังเปลี่ยนมากแค่ไหน? รูปแบบการเล่นจะเน้นเพรสซิ่งเข้มข้นทันทีทันใด? แล้วนักเตะคนใดบ้างจะเจอปัญหาใหญ่?
ล้วนเป็นคำถามที่น่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะประเด็นหลังสุด
1
ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน ราล์ฟ รังนิก เคยเจอคำถามเกี่ยวกับ ลิโอเนล เมสซี่ และ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ 2 ซูเปอร์สตาร์ ว่าอยากได้ไปร่วมทีมหรือไม่
"มันไร้สาระมากที่จะมาคิดว่าทั้งคู่จะร่วมงานกับเราได้หรือเปล่า พวกเขาอายุมากเกินและราคาแพงเกิน"
นี่คำตอบของ รังนิก ซึ่งหากพิจารณาข้อความระหว่างบรรทัดให้ดี ไม่ได้มีการหยามอะไรหรอก ออกจะยกย่องด้วยซ้ำว่า ไม่มีทางเป็นไปได้จะเห็นสองคนนี้ย้ายมาเล่นให้ไลป์ซิก
นอกจากสโมสรไม่ได้มีแรงดึงดูดมากพอแล้ว ไลป์ซิกเองก็ไม่ได้มีนโยบายใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะคอร์สของแข้งดังๆทั้งค่าตัวและค่าจ้างมหาศาลเกินกว่าจะเกิดขึ้นจริงได้
ส่วนประเด็นที่บอกว่าอายุมากเกินไปนั้น อันนี้ก็ต้องตีความให้ดีด้วย รังนิก นิยมใช้ผู้เล่นอายุไม่มากเป็นพื้นฐานของทีม อายุเฉลี่ยของแข้งไลป์ซิกอยู่ที่ 25 ปี นั่นคือแนวทางวางไว้อย่างชัดเจน
ถ้าจะบอกว่า รังนิก อาจไม่เคยมีแผนในหัวสมองเลยว่า จะได้ร่วมกับทั้ง เมสซี่ หรือ โรนัลโด้ มาก่อน
แต่เวลานี้กำลังจะเป็นจริง เขาจะมีลูกทีมที่ชื่อ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ในวัย 36 ปี ซึ่งเกินมาตรฐานมาเยอะมาก
บรรดากูรูหรือนักวิจารณ์ทั้งหลาย จึงแสดงความเห็นในเชิงวิตกกังวลว่าหาก รังนิก ใช้วิธีการเล่นในลักษณะเพรสซิ่งหนักหน่วงจริงๆ ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันวิ่งกดดันฝั่งตรงข้าม
อย่างนี้ โรนัลโด้ จะไหวหรือเปล่า เพราะไม่ใช่สไตล์เลย อีกทั้งยังอายุมากขึ้นทุกวัน จะให้ใช้พลังพร่ำเพรื่อคงแทบเป็นไปไม่ได้
จอห์น บาร์นส์ อดีตปีกซ้ายลิเวอร์พูลและทีมชาติอังกฤษเชื่อว่า โรนัลโด้ มีระยะทางวิ่งน้อยเกินไป โดยเฉพาะจังหวะที่ควรช่วยเพรสแดนบน แทบไม่มีให้เห็นเลย
1
อาจจะจริงตรงที่ว่ายังคงซัลโวประตูได้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะประตูสำคัญๆ สะท้อนมาตรฐานแทบไม่มีตกไปจากเดิม
แต่ถ้ามองในแง่ฟุตบอลยุคใหม่ที่ต้องเล่นเป็นทีม แล้วคุณมีบอสคือ ราล์ฟ รังนิก ไม่ใช่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา อีกต่อไป ประเด็นนี้จึงน่าติดตามอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกัน บาร์นส์ ยังมองว่า ยุคนี้เกมรับสำคัญไม่น้อยกว่ารุกเลย ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันวิ่งกดดันให้เยอะเข้าไว้ มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยเมื่อ โรนัลโด้ ยิงประตูได้จริง แล้วทีมต้องฝ่ายพ่ายแพ้ขึ้นมา
เข้าใจว่าคุณดึงแข้งรายนี้กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยความหวังการถล่มประตูเยอะๆ ทว่าลองนึกให้ดี ต่อให้เขาซัดได้เกิน 30 ประตูต่อฤดูกาล แล้วสโมสรไม่มีโทรฟี่หรือประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
เป็นอย่างนี้มันถูกต้องแล้วหรือ?
แน่นอนคำถามเหล่านี้เปิดมาแบบเรียกแขกได้เลยทีเดียว เกิดมุมมอง ความคิดเห็นที่แตกต่างมากมาย แต่ส่วนมากแล้วคิดว่า โรนัลโด้ ควรจะต้องออกแรงมากกว่าที่เป็นอยู่
ลองเปรียบเทียบกับ เอดินสัน คาวานี่ ที่พร้อมทำงานหนักเพื่อทีม วิ่งเพรสแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจะเห็นได้ชัดเจน
อย่างไรก็ดีเราไม่ควรรีบตัดสินเกินไปนัก ก่อนตัดสินใจรับงานนี้ รังนิก คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าต้องเผชิญหน้ากับอะไรบ้าง
แม้ โรนัลโด้ อาจไม่ใช่แข้งในสเป็คหรือไม่ต้องการมีไว้ในทีม แต่เขาจำเป็นต้องแก้สมการ หากมีอยู่ในทีมแล้วควรหาวิธีไหน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในอีกด้านเราก็ต้องไม่ลืมว่า โรนัลโด้ มีความเป็นมืออาชีพเต็มเปี่ยม หากเป็นแท็คติกของกุนซือ ก็พร้อมจะรับคำสั่งทำตาม เท่าที่ผ่านมาเราได้เห็นกันแล้วทั้งแพสชั่น ความมุ่งมั่น การดูแลเอาใจใส่ตัวเอง
ทางที่ดีคืออย่าเพิ่งสรุป จนกว่าจะได้เห็นผลลัพธ์การร่วมงานกันของทั้งสองคนก่อน เมื่อคุณมีแข้งระดับโลกที่อาจอายุมากไปไว้ใช้งาน มันคงไม่ได้เลวร้ายอะไรนักหรอก
บางทีอาจจะตรงกันข้ามอย่างที่คิดกันไว้ก็ได้
.
ทุกท่านสามารถติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ ..
.
และเพิ่มเพื่อนไลน์แอด "เพื่อเด้งเตือน" ให้คุณได้อ่านก่อนใคร กดที่ลิงค์นี้ครับ
ขอบคุณครับ
โฆษณา