28 พ.ย. 2021 เวลา 00:22 • ท่องเที่ยว
‘พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์’ .. เราที่สองรองภูมินทร์ นาม ปิ่นเกล้า
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ .. ปัจจุบันอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพระที่นั่งตึกแบบตะวันตก เดิมชื่อพระที่นั่งวงจันทร์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้หลวงชาติเสนี (ทัด) สร้างเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับ 2 ชั้น หลังคาพระที่นั่งทรงจั่วชั้นเดียวไม่มีมุขลด
หน้าจั่วทั้งสองด้านปั้นปูนประดับเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ คือ รูปปิ่นประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า อยู่ภายในช่อมาลาประกอบลายพันธุ์พฤกษา อันมีที่มาจากพระนามเดิมคือ “เจ้าฟ้าจุฑามณี”
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี หรือ เจ้าฟ้าบุญรอด พระธิดาในกรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน ถือว่าพระองค์นั้นมีเชื้อสายจีนทางพระราชมารดา
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศบวรราชาภิเษกเป็น สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ .. เป็นอาคารซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างตามพระราชนิยมในวัฒนธรรมตะวันตกของพระองค์เอง ถือเป็นอาคารฝรั่งแห่งแรกในวังหน้า
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงประทับที่นี่ตลอดมาจนเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2408 และเป็นที่รับรองแขกต่างบ้านต่างเมือง เช่น ต้อนรับเซอร์จอห์น เบาว์ริง อัครราชทูตอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2398
ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์หลายอย่าง อาทิ พระแท่นราชบัลลังก์เศวตฉัตรมีตราพระราชลัญจกรของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ เครื่องเรือนแบบยุโรปและจีน ตามลักษณะการใช้งานพระที่นั่งมาแต่เดิม
สำหรับการเดินชมภายใน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ จะขอเล่าโดยอาศัยการตามเสด็จ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขึ้นไปชมพระที่นั่งองค์นี้ ตามที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานวังหน้าว่า ...
"พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงสร้าง ตามแบบอย่างตึกฝรั่ง เป็นตึกเก้าห้อง พื้น ๒ ชั้น รูป ๔ เหลี่ยมรี มีบันไดทำเป็นมุขขึ้นข้างนอก เพราะในสมัยนั้นยังถือกันอยู่ว่า ถ้าขึ้นทางใต้ถุนเป็นอัปมงคล…ชั้นล่างเป็นแต่ที่พนักงานอาศัยหาได้ใช้การอย่างอื่นไม่…”
เมื่อขึ้นบันไดมาถึงชั้น๒อันเป็นที่ประทับแล้ว จะเป็นเฉลียงไม้ยาวตลอดหน้าห้อง
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงบรรยายต่อไปว่า .. "ตัวพระที่นั่งด้านหน้ามีเฉลียงโถง ๗ ห้อง ข้างในประธานตอนกลาง ๓ ช่อง กั้นเป็นห้องเสวย ห้องต่อมาข้างใต้ ๒ ช่อง เป็นห้องพระบรรทม มีฝาเฟี้ยมกระจกกั้นขวางอีกชั้น ๑ ต่อมาถึงที่สุดด้านใต้เป็นห้องเล็กชั่วช่อง ๑ เป็นห้องแต่งพระองค์"
“…ลักษณะที่ตกแต่งพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์เป็นแบบฝรั่งทั้งสิ้น พระแท่นบรรทมสั่งมาแต่เมืองนอก เป็นพระแท่นคู่ มีรูปช้างเผือกสลักอยู่ที่พนัก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้ยกไปตั้งที่พระที่นั่งในพระราชวังบางปะอิน…”
ปัจจุบันพระแท่นทั้งคู่ ได้ถูกนำกลับมาประดิษฐานยังห้องพระบรรทมดังเดิมแล้ว ลักษณะของพระแท่นที่เห็นมีประทุนสูงนั้น ก็เพื่อไว้กางมุ้ง (Note : มิได้ดูหรูหราอลังการมากเท่ากับที่คิดไว้ก่อนจะมาเห็นของจริง )
ตามที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯทรงบรรยายว่า .. "ตัวพระที่นั่งด้านหน้ามีเฉลียงโถง 7 ห้อง ข้างในประธานตอนกลาง 3 ช่อง กั้นเป็นห้องเสวย” นั้น ปัจจุบันได้ปล่อยพื้นที่ไว้เป็นห้องโถง มิได้มีโต๊ะเสวยแบบฝรั่งขนาดใหญ่ที่พระราชทานเลี้ยงรับรองเซอร์จอห์น เบาวริ่งในครั้งกระนั้น
“…เวลามีแขกเมืองฝรั่งต่างประเทศ เช่นราชทูตเข้ามา ก็ทรงรับรองเลี้ยงดูที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์นี้ เล่ากันว่าถึงที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จฯอยู่ที่พระที่นั่ง อิศเรศราชานุสรณ์ ก็เสด็จอยู่อย่างฝรั่ง มีบ๋อยผู้ชาย และพนักงานข้างในเป็นสาวใช้จำกัดพอสำหรับรับใช้ แม้เจ้าจอมก็อยู่เฉพาะผู้ที่เป็น ราชูปฐาก พระเจ้าลูกเธอและพระสนมกำนัลเข้าเฝ้าฯ แต่เฉพาะเวลาเสวยเท่านั้น..."
เซอร์จอห์น เบาวริงยังเขียนถึงการได้รับพระราชทานเลี้ยงในห้องนี้ไว้อีกว่า
“ในที่นี้ ได้จัดโต๊ะสำหรับเลี้ยงอาหารกลางวันไว้พร้อมสรรพอย่างโต๊ะเลี้ยงของยุโรป ของที่ตั้งบนโต๊ะนั้นมีแต่ผลไม้และขนมแช่อิ่มเท่านั้นที่เป็นของไทย นอกนั้น ขนมปังอย่างอเมริกัน และอาหารแบบชาวตะวันตก หากพ่อครัวที่ปรุงอาหารนั้นไม่ใช่ฝรั่งแล้ว ก็ต้องเป็นผู้ที่เรียนทำอาหารแบบชาวตะวันตกมา ได้ยินมาว่า ในการทำอาหารนั้น ทรงเอาเป็นพระธุระและทรงตรวจตราอย่างละเอียดยิ่งกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทุกอย่างถูกตระเตรียมด้วยความสะอาด และจัดทำการเสริฟอย่างคล่องแคล่ว”
หลังจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จสวรรคตในปีพ.ศ.๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดห้องกลางในพระนั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งเป็นห้องเสวยเดิมนี้ ให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ
ครั้นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าในรัชกาลที่๕เสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวร และย้ายเจ้านายและข้าราชการวังหน้าไปสังกัดวังหลวงทั้งหมด เป็นเหตุให้วังหน้าว่างลง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัฑสถานในพระบรมมหาราชวังมาจัดแสดงใน พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๐
ส่วนพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ และกรมพระราชวังบวรทุกพระองค์ ที่ประดิษฐานอยู่ในวังหน้ามาแต่เดิม โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญไปไว้ที่หอพระนาก ในพระบรมมหาราชวัง
ส่วนตู้ทองที่เคยประดิษฐานพระบรมอัฐินั้น ได้อัญเชิญพระป้ายฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสได้ทรงสร้างขึ้นสำหรับเจ้านายวังหน้าปฏิบัติบูชา เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของลูกหลานตามคติจีน มาสถิตย์พร้อมพระป้ายสมเด็จพระบรมราชชนก(พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) และพระราชมารดา(สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี)ยังด้านข้างด้วย
พระป้ายฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯมีขนาดกว้าง๙เซนติเมตร ยาว๑๕เซนติเมตร และสูง๑๒เซนติเมตร จำหลักอักษรจีน ออกพระนามว่าเจิ้ง แซ่เจิ้ง อ่านแบบแต้จิ๋วว่า แต้เจี้ย มีข้อความในลิ้นชักระบุว่า ทรงได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์องค์ที่สองของสยาม และวันเดือนปีที่พระราชสมภพ
ภาพสีน้ำมันประธานาธิบดี “ยอร์ช วอชิงตัน” ของพระปิ่นเกล้า ที่วังหน้า
ภาพสีน้ำมันประธานาธิบดียอร์ช วอชิงตัน ของพระปิ่นเกล้า ที่วังหน้า แขวนภายในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ในปี พ.ศ.2399 (ค.ศ.1856) ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ (Franklin Pierce) ประธานาธิบดีคนที่ 14 แห่งสหรัฐอเมริกา ได้แต่งตั้งให้ เทาเซนต์ แฮรีส (Townsend Harris) เป็นทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี และได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2399 และวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2399 เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในบันทึกรายวันของเทาเซนต์ แฮรีส ที่กรมศิลปากรได้แปลไว้ มีความตอนหนึ่งว่า
“พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองทรงไต่ถามถึงสุขภาพของเรา พระองค์ตรัสว่า ทรงรู้ชื่อประธานาธิบดีทุกคน ยกเว้นแต่ประธานาธิบดีคนที่แล้ว และทรงมีพระราชปสงค์ที่จะทราบชื่อของรองประธานาธิบดีซึ่งเป็นอยู่ในเวลานี้”
ข้อความนี้สะท้อนถึงความสนพระทัยของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อประเทศสหรัฐอเมริกา
ในการเยือนครั้งนี้ของทูตสหรัฐฯ ได้มีเครื่องราชบรรณาการแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ เครื่องไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ ปืน หนังสือ ภาพเขียนทิวทัศน์ และที่สำคัญคือ ภาพวาดนายพล ยอร์ช วอชิงตัน ขนาดเท่าตัวจริง 1 ภาพ และภาพประธานาธิบดีเพียร์ซ ขนาดเท่าตัวจริง 1 ภาพ
ภาพสีน้ำมันประธานาธิบดียอร์ช วอชิงตัน ที่แขวนภายในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระบวรราชวังที่ประทับในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน เป็นภาพสีน้ำมันแบบเดียวกับที่แขวนอยู่ในห้องรูปไข่ในทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ภาพสีน้ำมันดังกล่าววาดโดย เรมบรันต์ พีล (Rembrandt Peale) เป็นศิลปินผู้มีชื่อชาวอเมริกัน ที่มีชื่อเสียงในการวาดภาพคนเหมือนในระดับผู้เชี่ยวชาญ มีหลักฐานว่าเขาวาดภาพเหมือนประธานาธิบดียอร์ช วอชิงตัน จำนวน 76 ภาพ และมีจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะในประเทศสหรัฐอเมริกา 3-4 แห่งเท่านั้น (ข้อมูลในปี 2551)
ที่สำคัญภาพสีน้ำมันประธานาธิบดียอร์ช วอชิงตัน ที่แขวนภายในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ นับเป็นภาพฝีมือเรมบรันต์ พีล ในชุดนี้ภาพเดียวที่อยู่นอกประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา
ห้องพระบรรทม สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงบรรยายว่า ... “มีฝาเฟี้ยมกระจกกั้นขวางอีกชั้น 1 ต่อมาถึงที่สุดด้านใต้เป็นห้องเล็กชั่วช่อง 1 เป็นห้องแต่งพระองค์” นั้น ปัจจุบันไม่ปรากฏฝาเฟี้ยมกระจกดังกล่าวแล้ว
ผนังห้องพระบรรทม ด้านที่จะเข้าไปสู่ห้องแต่งพระองค์นั้น มีพระบวรฉายาทิศลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์แม่ทัพเรือสยามประดิษฐานอยู่
พระบวรฉายาทิศลักษณ์ดังกล่าว จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้พระมัสสุ มีผู้ลงความเห็นแต่โบราณว่าพระองค์ท่านทรงเป็นผู้นำชาวสยามในการไว้หนวด เพราะก่อนหน้านั้นเจ้านายไม่ทรงนิยมไว้พระมัสสุกัน
1
พระบวรฉายาทิศลักษณ์นี้เป็นภาพสีน้ำมัน ดูเก่าและมีริ้วรอยการเสื่อมสภาพขนาดหนัก เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นภาพที่วาดมาจากอินเดีย ไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลที่เดาเอาจากลักษณะพระพักตร์ที่ออกแนวแขกๆหน่อยหรือเป็นความจริงตามนั้น เพราะจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ คนอังกฤษที่เข้ามาเมืองไทยสมัยนั้นแทบจะทั้งหมด ก็โยกย้ายมาจากอินเดียด้วยกันทั้งสิ้น มิศหนอกหรือร้อยเอกน๊อกซ์ ครูฝึกทหารวังหน้าที่พระองค์ทรงจ้างไว้ นั่นก็คนสำคัญคนหนึ่งแหละ อาจจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดหาภาพนี้มาถวายก็เป็นได้
“ด้านใต้เป็นห้องเล็กชั่วช่อง 1 เป็นห้องแต่งพระองค์”
ห้องทรงงานในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงเป็นผู้ใฝ่รู้ โดยเฉพาะในเรื่องของชาวตะวันตกตั้งแต่ครั้งทรงเป็นเจ้าฟ้าน้อย การศึกษาของพระองค์มุ่งไปในแนวทางเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงมีพระราชประสงค์
ในบันทึกหรือข้อเขียนต่างๆที่บรรดาฝรั่งทั้งหลายกล่าวถึงพระองค์ ล้วนแต่ศรัทธาในความเป็นผู้ที่มีการศึกษาทันสมัย และชื่นชมในความเป็น “ผู้เจริญแล้ว”ของพระองค์ ต่างกับที่เขาบันทึกถึงเจ้านายประเทศเอเซียทั่วๆไป ที่ฝรั่งมักจะมีอคติ ว่ายังเถื่อนๆอยู่ มิได้เป็นมนุษย์ที่เจริญแล้วเช่นพวกตน
ดอกเตอร์ แซมวล เฮ้าส์ (SAMUAL R. HOUSE, M.D.)ที่คนไทยเรียกว่า “หมอเหา”ที่เข้ามาเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่๓ เรื่องราวของท่านผู้นี้ได้ถูกบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “ในตอนแรกเจ้าฟ้าน้อยทรงถือโอกาสที่ได้รู้จักกันนี้ให้ช่วยแนะนำวิชาวิทยาศาสตร์ให้ พระองค์ใช้มหาดเล็กมาขอยืมหนังสือ และขอคำแนะนำเกี่ยวกับเคมี ไฟฟ้า การถ่ายรูป การพิมพ์หนังสือ และงานที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ดร.เฮ้าส์ได้ถูกเชิญให้เข้าไปเฝ้าในวังบ่อยๆ เพื่อขอความช่วยเหลือหรือถวายการสอนเกี่ยวกับการทดลองวิทยาศาสตร์บางประการ”
ศาสตรจารย์ริกซซ์ (Professor Fred W. Riggs) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “การปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ของสยามและพม่า” เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอขึ้นไว้ในตำแหน่งอุปราช ซึ่งมีพระราชอิสสริยยศเสมอพระเจ้าแผ่นดิน อุปราชพระองค์นี้ทรงนิยมตะวันตกและรับสั่งภาษาอังกฤษได้ดีกว่าพระเจ้าอยู่หัวเสียอีก พระองค์จึงได้อาศัยความช่วยเหลือและแนะนำจากอุปราชเป็นอันมาก”
ในขณะที่เอกสารของฝรั่งต่างยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงเป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และอาจจะเป็นทรงเป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯด้วย แต่เอกสารของไทยกลับไม่ได้กล่าวถึงไว้เลย
... เข้าใจได้จากพระราชดำรัสสุดท้ายก่อนเสด็จสวรรคต เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนักแต่ยังทรงดำรงพระสติอยู่ ได้มีกระแสพระราชดำรัสแสดงความที่ทรงห่วงใยบ้านเมืองไว้ว่า “...การต่อไปภายหน้า...การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว...”
ชั้นล่างของพระที่นั่งจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถทั้งการช่าง การปกครอง การทหาร และศิลปกรรม ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรก วางรากฐานการจัดกิจการทหารเรือให้เข้าสู่ระบบสากลตามแบบอย่างอารยประเทศ
ด้วยความที่ทรงใฝ่พระทัยในวิทยาการตะวันตก โปรดให้นำธรรมเนียมปฏิบัติแบบตะวันตกมาใช้หลายประการ เช่น โปรดให้ติดตั้งเสาธงเพื่อชักธง พระจุฑามณี ออกแบบตราประจำพระองค์เป็นรูปพระปิ่น สมอเรือ และปืนใหญ่ แสดงถึงการที่ทรงบังคับบัญชาทั้งทหารเรือและทหารปืนใหญ่
ในด้านการปกครอง แม้จะไม่ทรงมีหน้าที่โดยตรง แต่พระองค์ก็โปรดการเสด็จประพาสหัวเมือง โดยเฉพาะภาคอีสาน โปรดให้สร้างพระตำหนักที่บ้านสีทา จังหวัดสระบุรี นอกจากนี้ยังทรงโปรดทางศิลปะ ทั้งดนตรี กวี และนาฏศิลป์ ทรงเป็นนักเล่นสักวาที่มีฝีพระโอษฐ์คมคาย ทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อมและเพลงยาวต่างๆ ขึ้นหลายสำนวน
ทรงริเริ่มประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็กขึ้น โดยมีการจัดเล่นประกอบกับระนาดแบบเดิม รวมเป็นเครื่องดนตรี 4 ชนิด เรียกว่า “ปี่พาทย์เครื่องใหญ่” สืบมาจนทุกวันนี้
ด้านการทะนุบำรุงบ้านเมือง และพระศาสนา
เบื้องปลายพระชนม์ชีพ พระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) จนกระทั่งเสด็จสวรรคต ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408
เป็นความจริงที่ว่า .. นอกจากคนที่หลักสูตรการศึกษากำหนดให้เรียนวิชาประวัติศาสตร์แล้ว จึงไม่มีใครจะรู้จักพระองค์ ที่รู้จักก็ยังน้อยมาก .. หวังว่าบทความนี้อาจทำให้ท่านผู้อ่านรู้จักพระองค์ในบางแง่บางมุมเพิ่มขึ้น
.. นอกเหนือไปจากที่คนยุคใหม่เข้าใจว่า “พระปิ่นเกล้า” คือสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งหนึ่งในกรุงเทพเท่านั้น
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา