28 พ.ย. 2021 เวลา 13:02 • ท่องเที่ยว
เก๋งนุกิจราชบริหาร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
“เก๋งนุกิจราชบริหาร” … เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนขนาดเล็กใน “พระราชวังบวรสถานมงคล” (วังหน้า) หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครในปัจจุบัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้างในกลุ่มของ “พระที่นั่งบวรปริวัตร”
ถึงแม้จะเป็นเก๋งจีนขนาดเล็กแต่ก็มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนที่สามารถนำมาศึกษาถึงความนิยมสถาปัตยกรรมจีนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากนี้ภายในเก๋งนุกิจราชบริหารยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “ห้องสิน” พบแห่งเดียวในประเทศไทย
“เก๋งนุกิจราชบริหาร” เป็นส่วนหนึ่งของ “พระที่นั่งบวรบริวัติ” ... พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระวิสูตรวารี (มลิ) สร้างถวายตรงหน้า “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์” แต่ไม่ทันเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างต่อจนเสร็จให้สร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์และทรงใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จมาค้างแรมในวังหน้า พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งบวรบริวัติ”
1
พระที่นั่งบวรบริวัติ .. ตั้งอยู่ติดกับบริเวณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ แต่มีประตูและกำแพงกั้นเป็นแนวต่างหาก ศาลา (เก๋งจีน) และสวนที่สร้างในพระที่นั่งบวรบริวัติเป็นอย่างจีนทั้งสิ้น ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะทรงจัดเป็นอย่างจีนบริเวณหนึ่ง เป็นอย่างฝรั่งบริเวณหนึ่งมาแต่เดิม
ใน พ.ศ. 2477 พระที่นั่งบวรปริวัตรได้ใช้เป็นโรงเรียนศิลปากร แผนกนาฏดุริยางค์ ส่วนเก๋งนุกิจราชบริหารใช้เป็นที่พักอาจารย์
ในปีพ.ศ. 2505 กรมศิลปากรได้รื้ออาคารพระที่นั่งบวรบริวัติลง เนื่องจากชำรุดจนยากแก่การบูรณปฏิสังขรณ์ คงเหลือเพียงเก๋งนุกิจราชบริหาร ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เก๋งนุกิจราชบริหาร .. เป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 4.50 เมตร ยาว 7.8 เมตร สูงถึงสันหลัง 4.50 เมตร มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีน
หลังคามุงกระเบื้องแบบจีน หน้าบัน จั่ว และสันหลังคาเขียนรูปดอกพุดตานและไก่ฟ้า
ประตูด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักรูปเครื่องแจกันจีน
ตอนในสุดมีป้ายหินอ่อนสลักด้วยตัวทองว่า "เก๋งนุกิจราชบริหาร"
วาดงานจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “ห้องสิน” ภายในเก๋งนุกิจราชบริหาร .. การวาดงานจิตรกรรมชิ้นนี้ เป็นการวาดงานจิตรกรรมเวียนซ้าย ซึ่งเป็นความนิยมตามแบบช่างจีน
โดยลักษณะงานจิตรกรรมเรื่องห้องสินนั้น เป็นการดำเนินเรื่อง เป็น 1 ฝาผนัง 1 ตอน และมีการแบ่งเป็นฉากเหตุการณ์อยู่ในแต่ละตอน เช่น ฝาผนังทิศใต้ กล่าวถึงการรบระหว่างเจียงจื่อเอี๋ย และ เหวินไท่สือ โดยเหตุการณ์ที่ปรากฏในงานจิตรกรรมฝาผนังทิศใต้ กล่าวถึงอาจารย์ทั้งสิบ สร้างค่ายกล เพื่อช่วยเหวินไท่สือ ในการรบ
ผนังอีกซีกด้านหนึ่ง กล่าวถึงกองทัพของ เหวินไท่สื่อ ที่โดนกองทัพของ เจียงจื่อเอี๋ย ลุกไล่ โดยลักษณะที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในแต่ละเหตุการณ์ที่ปรากฏในงานจิตรกรรมฝาผนัง มีตัวละครประกอบในฉากมากมาย ตัวละครแต่ละตัวมีลักษณะการแต่งกายที่แตกต่างกัน
ในการเปรียบเทียบจิตรกรรมเรื่อง “ห้องสิน” ในเก๋งนุกิจราชบริหาร กับลักษณะรูปงิ้ว .. ทำให้ได้ข้อสรุปว่าเครื่องแต่งกายที่ปรากฏนั้นช่างผู้วาดมีความเข้าใจทั้งลักษณะการแต่งกายของอุปรากรจีน รวมถึงลักษณะที่ได้มีการบรรยายไว้ในพงศาวดารเรื่อง “ห้องสิน”
ชางวาด ได้วาดตัวละครที่ปรากฏในฉากมีลักษณะการแต่งกาย ตามบทบาท หน้าที่ของตัวละครนั้น ๆ นอกจากนี้ช่างยังให้ความสำคัญเรื่องฐานันดรศักดิ์ของตัวละครในเรื่อง เพื่อความเหมาะสมของบทบาท หน้าที่ของตัวละครนั้นๆ
องค์ประกอบต่างๆในงานจิตรกรรมเรื่อง “ห้องสิน” แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลงานจิตรกรรมแบบจีนประเพณีอย่างชัดเจน ทั้งลักษณะของการเขียนชื่อกำกับตัวละคร การวาดเปลวไฟเป็นเส้นโค้งต่อกันเป็นช่อ ซึ่งเป็นลักษณะที่มักพบในงานจิตรกรรมแบบจีนประเพณี
บางองค์ประกอบในงานจิตรกรรมเช่น ฐานรองเสารูปทรงภาชนะ มีการใช้จริงในศาลเจ้าที่มีประวัติการสร้างโดยชาวจีน สิ่งเหล่านี้บ่งบอกได้ว่าช่างได้รับอิทธิพลงานจิตรกรรมแบบจีนประเพณี
NOTE : รายละเอียดของวรรณกรรมเรื่องห้องสิน สามารถอ่านต่อได้ที่
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา