29 พ.ย. 2021 เวลา 02:00 • กีฬา
" รังนิคกับ 4-3-3 "
ช่วงนี้กระแสเรื่องของ ราลฟ์ รังนิค มาแรงมาก โดยเฉพาะสื่ออังกฤษที่แทบไม่ค่อยได้รู้เรื่องราว หรือการทำงานอะไรของชายวัย 63 ปีคนนี้มากนัก ก็ต้องพยายามขุดคุ้ยหาข้อมูลมาให้มากที่สุด
พวกเขามักเล่นประเด็นที่ว่า รังนิค คือแรงบันดาลใจของโค้ชเยอรมันยุคใหม่มากมาย โดยเฉพาะเรื่องการของการเพรสซิ่ง ไม่ว่าจะเป็น เยอร์เก้น คล็อปป์ หรือโธมัส ทูเคิ่ล
ทูเคิ่ล เคยเป็นนักเตะภายใต้การคุมทีมของ รังนิค ตอนอยู่ที่สโมสรอูลม์
ขณะที่ เยอร์เก้น คล็อปป์ ตอนมาคุมดอร์ทมุนด์ แรกๆ เมื่อปี 2008 ได้ดวลกับ รังนิค และประทับใจแนวทางการทำงานของกุนซือรุ่นพี่ จนนำไปปรับเปลี่ยนในแบบฉบับของตัวเอง
แฟนบอลส่วนใหญ่ มารู้จัก ราลฟ์ รังนิค เอาตอนคุม ฮอฟเฟ่นไฮม์ นี่เอง
ตอนนี้ สื่อนำเอาแนวทางการเล่น แผนการเล่นของ รังนิค ที่นิยมใช้ออกมาวิเคราะห์
ไม่นับเรื่องของปรัชญา ที่เขาอยากให้ทีมเล่นเกมเพรสซิ่ง, ทำให้เร็ว และเปิดบอลขึ้นหน้าไม่ใช่เปิดออกข้างหรือถ่ายบอลกลับหลัง
แผนการเล่นนั้น สื่ออังกฤษบอกว่าแผนโปรดของเขาคือ 4-2-2-2 หรือที่เยอรมัน เรียกว่า 4-4-2 แบบดับเบิ้ล 6 ก็คือมิดฟิลด์ตัวรับ (เบอร์ 6) 2 คนตรงกลาง
1
ความจริงแล้ว รังนิค ไม่ใช่เทรนเนอร์ที่เป็นระดับไฮโพรไฟล์มาตั้งแต่แรก เพียงแต่เขามีความจริงจัง และชัดเจนในสมอง เกี่ยวกับแนวทางที่เขาอยากให้ทีมเล่น
เขาคุม สตุ๊ทการ์ท ทีมสำรองสมัยเป็นหนุ่ม อายุ 20 กว่าขวบ เขาเริ่มมาจริงจังในการคุมทีมคือปี 1995 กับ รอยท์ลิงเง่น แล้วก็มาที่อูลม์
ทีมใหญ่ทีมแรกของเขาคือสตุ๊ทการ์ท ช่วงปี 1999-2000 แต่ก็ไม่ได้มีผลงานจับต้องได้เท่าไหร่นัก จากนั้นมาคุมฮันโนเวอร์อยู่ 3 ปี
กระทั่งปี 2004 เป็นครั้งแรกที่เขาได้จับทีมระดับบิ๊กจริงๆ นั่นก็คือการคุมชาลเก้ และปีนั้นเขาพาทีมได้รองแชมป์บุนเดสลีกา
มันเป็นครั้งแรกที่ รังนิค ได้รับการจับตาจากแฟนบอลกระแสหลัก ตอนนั้นเขาชื่นชอบ 4-4-2 ข้าวหลามตัด หรือไดมอนด์
เพียงปีเศษ เขาก็แยกทางกับชาลเก้ ระหว่างนี้เองที่เขาได้ซุ่มสร้างชื่อขึ้นมาใหม่จากลีกร่าง
ตอนนั้น ดีทมาร์ ฮ็อพพ์ เจ้าของทีมฮอฟเฟ่นไฮม์พยายามดันทีมขึ้นสู่ลีกสูงสุดให้ได้ เขาวางโปรเจ็คท์ระยะยาว และมองว่า รังนิค คือคนที่ใช่
ฮอฟเฟ่นไฮม์ สมัยยังอยูในเรกิโอนาลลีกา ยื่นโปรเจ็คท์น่าสนใจจนทำให้ ราลฟ์ รังนิค ตกลงคุมทีมตอนปี 2006/07
1
เพียงปีเดียวเขาก็นำทีมเลื่อนชั้นสู่ ลีกา 2 ได้ทันที และอยู่ในลีกา 2 ได้เพียงปีเดียว ฮอฟเฟ่นไฮม์ ภายใต้การคุมทีมของเขาก็ทะยานสู่บุนเดสลีกาได้ทันทีเช่นกัน
นั่นหมายความว่าเมื่อขึ้นมาสู่บุนเดสลีกาในปี 2008/09 มันคือการเลื่อนชั้นแบบรวดเดียวของฮอฟเฟ่นไฮม์ภายใต้การคุมทีมของ รังนิค
แถมนั่นยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรฮอฟเฟ่นไฮม์ ที่ได้เล่นบนลีกสูงสุดด้วย
ในช่วง 5-6 ปีหลัง เราเชื่อมโยงรังนิค เข้ากับอาณาจักรฟุตบอลของ เร้ดบุลล์ เขาทำงานให้กับ เร้ดบุลล์ หลากหลายบทบาท ทั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายฟุตบอลของอาณาจักรนี้
ที่สำคัญ เขาเคยรับบทเป็นเทรนเนอร์ด้วยตัวเองถึง 2 ครั้งด้วยกัน
ในปี 2015/16 เขานำ แอร์เบ ไลป์ซิก เลื่อนชั้นสู่บุนเดสลีกาได้เป็นครั้งแรก
และปี 2018/19 เขาก็ลงมาคุมทีมด้วยตัวเองอีกครั้ง เมื่อ ราลฟ์ ฮาเซนฮึทเทิ่ล อำลาไปคุมเซาธ์แฮมป์ตัน ทำให้เขาควบทั้ง ผอ.ฟุตบอล และเทรนเนอร์ไปด้วยกันเลย ปีนั้น ไลป์ซิก จบอันดับ 3 ของบุนเดสลีกา
การทำทีม ไลป์ซิก ในช่วงหลังนี้เองที่เขานิยมใช้ระบบ 4-4-2 แบบ ดับเบิ้ล 6 อย่างที่คนติดภาพกัน แต่ระหว่างซีซั่น รังนิค ก็ปรับแผนบ้างเป็นบางครั้ง
เราจึงเคยเห็น ไลป์ซิกเล่น 3-1-4-2 หรือ 5-3-2 ด้วยในบางเกมหรือแม้แต่ 4-3-3 ก็มีให้เห็น
ซึ่งต้องบอกว่า 4-3-3 นี้แหละคือสูตรที่สร้างชื่อให้กับ รังนิค ตอนคุมฮอฟเฟ่นไฮม์
ด้วยผลงานการพาทีมเล็กๆ (แต่เงินหนา) เลื่อนชั้นติดๆ กัน แฟนบอลทั่วโลกได้เห็นทีมระดับหมู่บ้านที่ชื่อฮอฟเฟ่นไฮม์เป็นครั้งแรกบนเวทีบุนเดสลีกาปี 2008/09 ทำให้สื่อเรียก ราลฟ์ รังนิค ว่า "พ่อมด"
ภายใต้โปรเจ็คท์ที่เขาดูแล ฮอฟเฟ่นไฮม์ ไม่ได้ซื้อนักเตะดัง แต่ซื้อนักเตะอายุไม่เยอะ แต่ฝีเท้าดี พวกที่คนยังไม่รู้จัก นักเตะที่ตัดสินใจย้ายมาอยู่กับทีมตั้งแต่ลีกรอง จนกระทั่งขึ้นสู่ลีกสูงสุดด้วยกัน
เมื่อขึ้นสู่บุนเดสลีกาปีแรก ก็เกิดปรากฏการณ์ทันที ฮอฟเฟ่นไฮม์ ภายใต้การคุมทีมของ รังนิค โชว์ผลงานสุดยอด จบด้วยการเป็นแชมป์ครึ่งฤดูกาลแรก ก่อนเบรกหนีหนาว
ทีมชุดนั้นของ รังนิค หลายคนยังจำได้ดี ผู้รักษาประตู ดาเนียล ฮาส
แนวรับมี อันเดรียส เบ็ค, มัทธิอัส ไยส์เลอร์, มาร์วิน คอมพ์เพอร์, อันเดรียส อิแบร์ตส์แบร์เกอร์
กองกลาง 3 คนประกอบด้วย ลุยซ์ กุสตาโว่, คาร์ลอส เอดูอาร์โด้ และ เซยัด ซาลิโฮวิช บางครั้งอาจมี โทเบียส ไวส์ สอดแทรกหากต้องการเน้นเกมรับ
แนวรุกสามตัวประกอบด้วย ชิเนดู โอบาซี่, เดมบา บา และ เวอัด อิบิเซวิช
อิบิเซวิช ดาวยิงบอสเนี่ยน สร้างชื่อทันที 17 นัดแรกบนเวทีบุนเดสลีกา เขาทำไปถึง 18 ประตูกับอีก 7 แอสซิสต์
ระบบ 4-3-3 ที่ในเยอรมัน ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีทีมเล่น แต่ฮอฟเฟ่นไฮม์ ในฐานะทีมน้องใหม่กล้าเล่น และทำออกมาได้ดีมากๆ
ฟุตบอลของพวกเขาไม่ได้ละเอียด เนี้ยบ เนียน แต่เต็มไปด้วยพลัง และความรวดเร็ว ทีมน้องใหม่แต่กล้าเล่นเกมรุกใส่ทุกทีมที่เผชิญหน้า
ด้วยผลงานแบบนี้ ทำให้คนย้อนไปถึงปี 1997 ที่ไกเซอร์สเลาเทิร์น เลื่อนชั้นขึ้นมาแล้วคว้าแชมป์ได้ทันที เพียงแต่ไกเซอร์ฯ ก็คือทีมใหญ่ พวกเขาแค่ตกชั้นไปแป้บเดียว
ผิดกับฮอฟเฟ่นไฮม์ ที่ถูกปลุกปลั้นมาไม่กี่ปี ด้วยความตั้งใจและเงินทุนของดีทมาร์ ฮ็อพพ์ เศรษฐีซอฟท์แวร์ ที่สมัยเด็กเคยเป็นเด็กฝึกของสโมสรมาก่อนเท่านั้นเอง
แต่โชคก็ไม่เป็นของฮอฟเฟ่นไฮม์ เพราะตอนเบรกหนีหนาว เวดัด อิบิเซวิช ดันเจ็บหนักในตอนเข้าแคมป์ ทำให้ต้องพักยาวตลอดฤดูกาลที่เหลือ
การขาดหายไปของ อิบิเซวิช ส่งผลต่อฮอฟเฟ่นไฮม์มาก ระบบไม่สมดุล ตัวจบสกอร์เบอร์ 1 ขาดหายไป ขนาดทีมของพวกเขายังเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับทีมใหญ่ๆ แม้ 11 ตัวแรกจะดีมากๆ ก็ตาม
1
ฮอฟเฟ่นไฮม์ เริ่มสะดุดในครึ่งซีซั่นหลัง จบเพียงอันดับ 7 เท่านั้น แต่หากไม่มองว่าครึ่งซีซั่นแรกพวกเขาคือจ่าฝูง น้องใหม่ที่จบอันดับ 7 ก็ยอดเยี่มมากๆ แล้ว นี่คือผลงานของ พ่อมดรังนิค
ต้นปี 2011 รังนิค ก็ตัดสินใจลาออก เพราะขัดแย้งกับบอร์ดบริหาร ที่ว่ากันว่า เริ่มขายนักเตะตัวหลักของทีมออกไป นักเตะที่เขาหวงแหนไว้เป็นแกนหลัก
1
ไม่ว่าจะเป็น คาร์ลอส เอดูอาร์โด้, เดมบา บา และ ลุยซ์ กุสตาโว่ ซึ่งรายนี้เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย เมื่อปล่อยไปให้กับ บาเยิร์น มิวนิค อริร่วมลีก
แม้จะอำลาทีมออกมากลางคัน แต่ผลงานและชื่อเสียงของ รังนิค ที่ทำไว้กับ ฮอฟเฟ่นไฮม์ ก็ทำให้เขาถูกยกกลายเป็นกุนซือชั้นยอดของเยอรมันไปในทันที
เขาเข้ามารับงานชาลเก้ อีกครั้งในอีก 2 เดือนต่อมาแบบกลางคัน เมื่อ เฟลิกซ์ มากัธ โดนปลด
ผลงานคือนำ ชาลเก้ พลิกชนะ อินเตอร์ มิลาน ได้เหลือเชื่อด้วยสกอร์ 5-2 และ 2-1 ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก
กระทั่งมาแพ้ในรอบรองชนะเลิศให้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในแบบที่สู้ความเจนจัดและเด็ดขาดไม่ได้
ชาลเก้ หนนี้ของเขาเล่นทั้ง 4-4-2 ทั้งคู่กลางสองคน ทั้งแบบข้าวหลามตัด รวมไปถึงการเจอกับปีศาจแดงที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด เขาก็งัด 4-3-3 กลับมาใช้อีกครั้งด้วยแต่ก็ต้านไม่ไหว
1
แม้ภาพที่หลายคนมอง รังนิค ในช่วงหลังจะเล่น 4-4-2 เป็นหลัก ปรับเปลี่ยนแค่ระบบของกองกลาง แต่เมื่อย้อนไปดูจริงๆ แล้ว 4-3-3 ยังเป็นอีกระบบที่เขาชื่นชอบและถนัด โดยเฉพาะเมื่อต้องการเปิดโหมดเกมรุกเต็มพิกัด
น่าสนใจว่าสุดท้ายแล้ว งานใหม่ของเขา เราจะได้เห็นฟุตบอลในรูปแบบไหนจาก"พ่อมด" วัย 63 ปีคนนี้
.
ทุกท่านสามารถติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ ..
.
และเพิ่มเพื่อนไลน์แอด "เพื่อเด้งเตือน" ให้คุณได้อ่านก่อนใคร กดที่ลิงค์นี้ครับ
ขอบคุณครับ
1
โฆษณา