29 พ.ย. 2021 เวลา 13:30 • ไลฟ์สไตล์
รีวิวหนังสือ "The High 5 Habit" จัดการชีวิตให้ดีขึ้นได้เพียงแค่ทำ "สิ่งนี้" ทุกๆ เช้า
ปกติเราตื่นนอนตอนเช้าเรารู้สึกอย่างไรบ้าง? สดชื่น เต็มไปด้วยพลังงาน หรืออยากดีดตัวขึ้นเพื่อลุกไปทำวันใหม่ให้ดีที่สุด? เป็นไปได้สูงว่าคนส่วนมากจะตอบว่า “ไม่” เพราะตื่นนอนทีไรเราก็มักจะรู้สึกง่วง สะลึมสะลือ และอยากกลับไปนอนซุกตัวในผ้าห่มเย็นๆ กันทั้งนั้น
กี่ครั้งแล้วที่เราเริ่มเช้าแต่ละวันด้วยคำว่า ‘ขออีก 5 นาที’ และใช้ชีวิตแบบขมุกขมัวทั้งวัน
ถ้าเราบอกว่ามี “บางสิ่ง” ที่ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก และใช้เวลาแค่แป๊บเดียว แต่ทำแล้วจะเปลี่ยนเช้าของคุณให้ดีขึ้นได้ล่ะ — ไม่สิ ไม่ได้ดีขึ้นแค่ตอนเช้า แต่ดีขึ้นทั้งชีวิตเลย! คุณจะลองทำหรือเปล่า
ในหนังสือ “The High 5 Habit: Take Control of Your Life with One Simple Habit” ของ เมล รอบบินส์ ผู้เขียนได้มาแบ่งปันประสบการณ์ของชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจากที่เธอทดลองทำ “บางสิ่ง” ในทุกๆ เช้า ในหนังสือเล่มนี้เราจะได้เรียนรู้ว่าวิธีการของเธอคืออะไร ส่งผลต่อสมองของเราอย่างไร และมีวิธีการอื่นๆ อีกไหม มาเรียนรู้วิธีเริ่มวันใหม่อย่างสดใสและส่งผลดีตลอดวันกันเถอะ!
1) ชีวิตที่เปลี่ยนไปของเมล รอบบินส์
เวลายืนอยู่หน้ากระจกมักจะทำอะไรกันบ้าง เราชื่นชมความสำเร็จ หน้าตา หรือหุ่นของตัวเองในแบบที่เป็นบ้างไหม หรือว่าเรามัวแต่มองหาจุดบกพร่องตั้งแต่หัวจรดเท้า ‘นี่สิวเสี้ยนเราเยอะไปหรือเปล่า’ และ ‘ทำไมเรายิ้มประหลาดจัง’ อะไรทำนองนี้
หลายคนทำอย่างหลังอยู่บ่อยๆ และเมล รอบบินส์ เองก็เช่น เธอมักจะใช้เวลาตอนเช้าขณะแปรงฟันมองดูรูปร่างตัวเอง คางก็ไม่ชอบ คอก็ไม่ชอบ แถมพุงย้วยอีก! พอบ่นพึมพำเรื่องรูปร่างหน้าตาเสร็จ สิ่งที่เธอทำต่อไปโดยอัตโนมัติคือบ่นเรื่องสิ่งที่ต้องทำในวันนั้นต่อ (เช่น ไม่อยากทำงานเลย หรือ เบื่อหัวหน้าจัง) ชีวิตของเธอเริ่มต้นเช่นนี้เป็นประจำ จนกระทั่งวันหนึ่งทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อเธอหยุดบ่นและทำ “บางสิ่ง”
“บางสิ่ง” ที่ว่าคือการแปะมือชื่นชม (หรือไฮไฟฟ์) กับตัวเองในกระจก
เพราะวันๆ นั้นเมลรู้สึกเครียด เหนื่อยล้า และไม่พอใจกับชีวิตของตัวเองเหลือเกิน เธอต้องการคนคอยให้กำลังใจ ทว่า ณ เวลานั้นไม่มีใครสามารถอยู่รอบข้าง อย่างไรก็ตาม เมลรู้ดีว่าเธอเองก็เป็นกำลังใจให้ตัวเองได้เหมือนกันนี่นา
‘ถ้าเราหัดเป็นกำลังใจให้ตัวเองบ้าง ชีวิตจะดีขึ้นกว่านี้หรือเปล่า’ เธอครุ่นคิด แทนที่จะติเตียนตัวเอง ทำไมไม่หันมาให้กำลังใจ ชื่นชมความสำเร็จ หรือแสดงความรักต่อตัวเองนะ เวลาเราเชียร์คนรอบตัว เรายังไฮไฟฟ์พวกเขาได้ง่ายๆ เลย
ว่าแล้วเมลก็ค่อยๆ แปะมือตัวเองในกระจกอย่างตั้งใจ
และหลังจากเช้าวันนั้น ชีวิตของเมลก็เปลี่ยนไปตลอดกาล
2) วิทยาศาสตร์เบื้องหลังการไฮไฟฟ์
แค่แปะมือก็รู้สึกดีขึ้นแล้วหรือ หลายคนอาจคิดว่าเป็นการพูดเกินจริงไปนิด แต่สำหรับเมล รอบบินส์นั้น การไฮไฟฟ์เป็น “สัญลักษณ์” แทนอะไรบางอย่าง
ปกติท่าทางนี้อาจชวนให้นึกถึงความดีใจตอนเด็กๆ เวลาเล่นกีฬาหรือเล่นเกมชนะ ไม่ก็การแสดงออกถึงความดีใจตอนอยู่กับเพื่อนฝูง แต่สำหรับเมลแล้ว การไฮไฟฟ์ชวนให้เธอนึกถึงปี 2001 ขณะที่เธอกำลังวิ่งมาราธอนของเมืองนิวยอร์กซิตี้ เธอจำได้ว่าเธอไม่พร้อมเลย เหนื่อยมากๆ แถมปวดตัวไปหมด แต่เพราะมีผู้ชมข้างสนามที่คอยแปะมือให้กำลังใจระหว่างที่เธอวิ่งผ่าน เธอถึงฮึดสู้จนวิ่งถึงเส้นชัยได้ (แม้ว่ารองเท้าจะกัดจนเลือดออกก็ตาม)
จะเห็นว่าท่าทางธรรมดาๆ อย่างการไฮไฟฟ์ แต่ถ้าเราพยายามเชื่อมโยงมันกับความรู้สึกบางอย่างในความทรงจำ ท่าทางนั้นก็สามารถเป็นเครื่องมือช่วยให้กำลังใจเราได้
1
ในงานวิจัยหนึ่ง นักวิจัยได้ให้เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งทำภารกิจต่างๆ แต่พวกเขาจะให้กำลังใจเด็กโดยวิธีต่างกันออกไป 3 วิธี ซึ่งก็คือ 1) ชมว่าฉลาด 2) ชมว่ามีความพยายาม 3) ให้กำลังใจผ่านการไฮไฟฟ์ ผลการทดลองพบว่าเด็กที่รู้สึก ‘มั่นใจ’ กับงานที่ทำและทำงานต่อได้นานที่สุดคือกลุ่มเด็กที่ถูกไฮไฟฟ์นั่นเอง
อีกงานวิจัยด้านนิวโรบิกหรือการบริหารสมอง พบว่าเมื่อเราทำกิจกรรมที่เราคุ้นเคย (เช่น แปรงฟันหรือหวีผม) ไปพร้อมๆ กับกิจกรรมที่ไม่เคยทำด้วยกัน (เช่น ไฮไฟฟ์ตัวเองในกระจก หรือ ยกนิ้วชมตัวเอง) เซลล์ประสาทในสมองของเราจะเชื่อมต่อกันได้ดียิ่งขึ้น!
1
จริงๆ แล้วการเรียนรู้สิ่งใหม่หรือการเจอประสบการณ์ใหม่ เซลล์ประสาทในสมอง (Neurons) จะเชื่อมถึงกันอยู่แล้ว แต่การทำกิจกรรมที่คุ้นเคยไปพร้อมๆ กับสิ่งใหม่จะทำให้สมองเราตั้งใจดูเป็นพิเศษว่าอะไร ‘แปลกใหม่’ กำลังจะเกิดขึ้น และหากเราผนวกการให้กำลังใจตัวเองไปในจังหวะที่สมองของเรากำลังตั้งใจนี้แหละ มีแนวโน้มว่าพฤติกรรมเชิงบวกจะอยู่กับเราจนเป็นนิสัย
2
และเมื่อใดที่เราให้กำลังใจตัวเองซ้ำๆ จนเป็นนิสัยนั่นแหละ ความคิดที่ว่าตัวเอง ‘ดีไม่พอ’ หรือ ‘เก่งไม่พอ’ จะหายไป แทนที่ด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสในการเรียนรู้ต่อไปด้วย
คำถามต่อมาคือ แล้วทำไมการพูดกับตัวเองซ้ำๆ (ไม่ว่าจะด้วยข้อความเชิงลบหรือเชิงบวก) ถึงส่งผลต่อชีวิตเราได้มากขนาดนั้นเลยหรือ
3) รู้จักกับฟิลเตอร์สมองที่ชื่อ RAS
1
สมองเรามีฟิลเตอร์ที่ชื่อว่า Reticular Activating System หรือ RAS ซึ่งคอยทำหน้าที่กรองข้อมูล และโดยส่วนใหญ่จะเลือกข้อมูลที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับข้อมูลที่มันเคยเรียนรู้มา
อธิบายง่ายๆ คือหากเรามองหา ‘ข้อบกพร่อง’ เป็นประจำ ระบบ RAS ก็จะกรองแต่ความคิดลบๆ อย่างคำติ คำพูดดูถูกตัวเอง การถูกปฏิเสธ และความล้มเหลว ผลที่ตามมาคือสมองเราโฟกัสแต่เรื่องลบๆ จนฉุดรั้งเราไม่ให้มีความสุขและเติบโต
1
สมมุติว่าในทุกๆ เช้า เราเริ่มด้วยการส่องกระจกแล้วบ่นว่าไม่ชอบใบหน้าของตัวเอง มีความเป็นไปได้สูงว่าเราจะบ่นเรื่องอื่นๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถติด ลูกค้าพูดจาไม่สุภาพ และโดนเจ้านายบ่น นั่นเป็นเพราะสมองเราโฟกัสไปที่เรื่องแย่ๆ เหล่านั้น แม้ในวันเดียวกันจะมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นแต่เราอาจจะจำมันไม่ได้ด้วยซ้ำ
เช่นเดียวกัน หากเราฝึกสมองให้มองหา ‘สิ่งดีๆ’ และ ‘ความสุข’ ระบบ RAS นี้เองก็จะคอยทำหน้าที่กรองให้เรามองเห็นข้อมูลส่วนนี้ชัดขึ้น และหนึ่งในวิธีที่ได้ผลที่สุดในการฝึกให้สมองเรียนรู้ได้เร็วก็คือการทำกิจกรรมที่เราคุ้นเคยไปพร้อมๆ กับกิจกรรมที่ไม่เคยทำด้วยกัน เหมือนที่เมล รอบบินส์ ไฮไฟฟ์ให้กำลังใจตัวเองขณะแปรงฟันนั่นเอง
4) สามสเต็ปในการสอนสมองให้มองหาความสุข
1
ในหนังสืออธิบายเพิ่มเติมว่าการฝึก RAS ให้มองหาความสุขสามารถทำได้ตาม 3 ขั้นตอนดังนี้
อันดับแรกคือการ “หยุดความคิดเดิมๆ” หากเรารู้สึกตัวว่าเรากำลังตำหนิตัวเองหรือคิดว่าตัวเองไม่เก่งอีกแล้ว ให้หยุดความคิดนั้น ตั้งสติ และพูดกับตัวเองว่า ‘ไม่เอา จะไม่คิดแบบนี้แล้ว’ ฟังดูง่าย แต่การปฏิเสธอย่างแน่วแน่ซ้ำๆ นั้นช่วยฝึกฟิลเตอร์ RAS ในการกรองข้อมูลครั้งต่อไป
แน่นอนว่าการเลิกความคิดเดิมๆ อย่างเดียวคงไม่พอ เราต้องต่อด้วยสเต็ปที่สองซึ่งก็คือการ “ทดแทน” ความคิดเดิมด้วยความคิดที่ดีกว่า อ่อนโยนกว่า ให้กำลังใจมากกว่า และที่สำคัญต้องใกล้เคียงกับความจริงด้วย (ซึ่งก็คือ การไม่อวยตัวเองจนเกินไปนั่นเอง) เมล รอบบินส์ แนะนำว่าให้เราเลือกคติประจำใจที่เราชอบและเข้ากับเรามาสักประโยค จากนั้นก็ใช้มันเตือนใจบ่อยๆ เวลามีความคิดลบๆ เป็นต้นว่า ‘ถ้าล้มเหลวก็แค่เรียนรู้แล้วลองใหม่’ หรือ ‘วันนี้ฉันสมควรได้รับความสุข’
1
สเต็ปสุดท้ายคือ “จงเป็นตัวฉันที่ฉันใฝ่ฝันอยากจะเป็น” ไม่ว่าเราจะอยากเปลี่ยนความคิดแค่ไหน หากการกระทำเรายังเหมือนเดิมก็คงจะไม่ดีนัก เราต้องพิสูจน์ให้สมองเราเห็นด้วยว่า ‘สิ่งใหม่’ ที่เราเชื่อนั้น เราสามารถทำได้จริงๆ
และนี่ก็คือบทเรียนจากหนังสือ “The High 5 Habit: Take Control of Your Life with One Simple Habit” คุณผู้อ่านล่ะ สนใจหันมาให้กำลังใจตัวเองในทุกๆ เช้าบ้างไหม
ถ้าหากสนใจเรามาลองกัน! ขณะแปรงฟันในแต่ละวัน ลองไฮไฟฟ์ตัวเองพร้อมชื่นชมความสำเร็จของตัวเอง 1 ข้อ ชื่นชมสิ่งที่ชอบที่สุดในหน้าตา 1 ข้อ และสิ่งที่ชอบที่สุดในร่างกาย 1 ข้อ ทำแบบนี้สักสัปดาห์แล้วลองดูว่าชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
1
อ้างอิง
หนังสือ “The High 5 Habit: Take Control of Your Life with One Simple Habit”
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- ฝึกสมองให้มองเห็นความสุขได้ด้วย "The Tetris Effect" >> https://bit.ly/3kHsu1Y
- ไม่อยากทำงาน แต่ก็ต้องทำ! ลอง 10 วิธีที่จะทำให้คุณมี “ความสุขในการทำงาน” มากขึ้น >> https://bit.ly/312SnSM
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#selfimprovement
#book
โฆษณา