30 พ.ย. 2021 เวลา 14:11 • กีฬา
สิ้นมนต์ขลังหรือตั้งใจทำ : ทำไมบัลลงดอร์มักค้านสายตาแฟนบอลแทบทุกครั้ง ? | MAIN STAND
1
ท่ามกลางความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของโลกลูกหนัง หลัง ลิโอเนล เมสซี่ ผงาดคว้ารางวัล บัลลงดอร์ 2021 และเป็นการคว้ารางวัลครั้งที่ 7 ของเจ้าตัว นำโด่งผู้คว้ารางวัลนี้มากที่สุดในโลก กลับมีสิ่งที่แปลกออกไปบ้างคือ แม้จะมีคำยินดีและเยินยอ เมสซี่ แต่กระแสด้านลบก็เยอะไม่ต่างกัน
1
หลายคนบอกว่ารางวัลนี้ไม่แฟร์ บ้างก็ว่าบัลลงดอร์หมดค่าและเสื่อมมนต์ขลังไปแล้ว เพราะความเชื่อว่าในรอบปี 2020-21 มีนักเตะที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมยิ่งกว่า เมสซี่ อยู่ไม่น้อย
เมสซี่ ไม่ได้ผิดอะไรที่ผลออกมาเป็นเช่นนี้ และถ้าเป็นเช่นนั้น ปัญหาจริง ๆ ของรางวัลบัลลงดอร์หรือรางวัลสำหรับนักเตะที่ดีที่สุดในโลกอยู่ตรงไหน ?
Main Stand รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ จากทั่วโลก และวิเคราะห์ผ่านเกณฑ์การให้คะแนน เพื่อหาคำตอบนี้
บัลลงดอร์ = นักเตะที่ดีที่สุดในโลก (?)
รางวัลบัลลงดอร์ คือรางวัลที่มีไว้เพื่อมอบให้กับนักเตะที่ดีที่สุดในโลก ตามคำจำกัดความที่สื่อที่เป็นแม่งานอย่าง ฟรองซ์ฟุตบอล สื่อดังจากฝรั่งเศสเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น ... มันอาจจะฟังดูเหมือนเคลียร์ แต่แท้จริงแล้วมีประเด็นให้ถามต่อมากมายว่า จริง ๆ แล้วนักเตะที่ดีที่สุดในโลกหมายถึงอะไรกันแน่ ?
ด้วยประเด็นที่ว่า "ใครคือนักเตะที่ดีที่สุดในโลก" เป็นคำถามปลายเปิด ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะถามใคร เพราะแต่ละคนก็มีคำตอบในใจที่ไม่เหมือนกัน
แม้ที่สุดแล้วจะมีการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนมาหลัก ๆ 3 ข้อ ได้แก่
1. ผลงานส่วนตัวและผลงานส่วนรวมในปีนั้น
2. ผลงานตามระดับการแข่งขันที่นักเตะคนนั้นลงเล่นและพฤติกรรมโดยรวมทั้งในและนอกสนาม
3 เส้นทางการเป็นนักฟุตบอลของผู้เข้าชิงรางวัล (กรณีนี้เปรียบได้กับอิทธิพล ความเป็นผู้นำ หรือปัจจัยที่ไม่มีค่าตัวเลขและสถิติมาเป็นตัววัดเป็นต้น)
แค่นี้ก็พอจะทราบได้แล้วว่าทำไมรางวัลบัลลงดอร์มักจะเป็นที่ถกเถียงกันในแทบทุกปี คนนั้นเด่นกว่าคนนี้, คนนี้ยิงเยอะกว่าใคร, คนนี้พาทีมประสบความสำเร็จมากที่สุด หรือคนนั้นคือบุคคลที่ทีมขาดไม่ได้ ... แม้เกณฑ์การให้คะแนนจะชัดแค่ไหน แต่ที่สุดแล้วมันก็วนกลับมาที่คำถามเดิมว่า "มันขึ้นอยู่กับว่าคุณถามใคร"
เพราะแม้กระทั่งเกณฑ์การให้คะแนนก็ยังมีถึง 3 ข้อ แถมไม่ได้บอกด้วยว่าข้อไหนสำคัญกว่า ผลงานส่วนตัวหรือผลงานทีม ? พฤติกรรมนอกสนามหรืออิทธิพลในสนามและนอกสนาม อันไหนกันแน่ที่ควรใช้เป็นเกณฑ์หลัก
ยังไม่จบแค่นั้น ถ้วยรางวัลไหนควรได้รับคะแนนมากกว่า การแข่งขันใดควรให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะอย่าลืมว่าในโลกฟุตบอล ปี ๆ หนึ่งจะมีการเตะชิงแชมป์กันเป็นสิบ ๆ รายการ แม้เราจะรู้เป็นนัย ๆ ว่า ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก, ชิงแชมป์ทวีป (ยูโร, โคปา อเมริกา) และ ฟุตบอลโลก คือรางวัลใหญ่ แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่ารางวัลไหนสำคัญเป็นอันดับ 1
หลักเกณฑ์การให้คะแนนและคำถามปลายเปิดแบบฟุตบอลเป็นอะไรที่ตอบยากมาก ต่างกันกับลีกบาสเกตบอล NBA ที่ชัดกว่าเพราะแข่งกันอยู่ลีกเดียว มีทีมแชมป์ทีมเดียว มันช่วยให้การตัดสินนั้นง่ายและเคลียร์กว่ากันเยอะ ดาวเด่นของทีมแชมป์ มักจะได้รางวัลผู้เล่น MVP ไปครอง แต่ฟุตบอลล่ะ ? มีดาวเด่นจากหลายถ้วย หลายทีม และบางครั้งคนที่ได้รับรางวัลบัลลงดอร์ก็ไม่ได้คว้าแชมป์ 3 ถ้วยใหญ่ที่กล่าวมาในข้างต้นด้วยซ้ำ
เรื่องนี้คนที่สงสัยกับเกณฑ์การให้คะแนนที่ไม่ชัดเจนที่สุดคือ ฟรองก์ ริเบรี่ กองกลางชุด 3 แชมป์ของ บาเยิร์น มิวนิก ในปี 2013 ซึ่งเจ้าตัวยังจี๊ดจนถึงทุกวันนี้ว่า ต่อให้เขาเด่นที่สุดในทีมและพาทีมคว้าทุกแชมป์ที่ลงแข่งขัน แต่ที่สุดแล้วเขาก็ได้แค่อันดับ 3 ของบัลลงดอร์เท่านั้น
แม้กระทั่ง ฟร้องก์ ริเบรี่ เองก็ยอมรับว่าการตัดสินบัลลงดอร์นั้นไม่เคยแฟร์ในมุมมองของเขา มันเหมือนเกมมอบรางวัลให้นักเตะเด่นมากกว่าเป็นการให้กับนักเตะที่ดีและประสบความสำเร็จมากที่สุด เพราะในปีนั้นเขาพาสโมสรคว้าแชมป์บุนเดสลีกา, เดเอฟเบ โพคาล และ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ซึ่งเขาเป็นนักเตะที่เด่นที่สุดในทีม บาเยิร์น ชุดนั้น เพียงแต่ว่าที่สุดแล้วรางวัลก็ตกเป็นของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ และอันดับที่ 2 เป็นของ เมสซี่
1
"ผมเติมเต็มทุกช่อง ผมคว้าแชมป์ทุกรายการเท่าที่จะทำได้กับบาเยิร์น ผมทำดีกว่านั้นไม่ได้อีกแล้ว มันเป็นปีที่ผมทำผลงานได้โดดเด่นมาก ๆ ผมไม่ได้อิจฉาโรนัลโด้หรือเมสซี่นะ แต่ผมประสบความสำเร็จมากในปีนั้น ผมรู้สึกว่าการได้อันดับสามมันไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย"
1
"ผมถูกถามคำถามนี้เป็นหมื่นครั้ง ว่าทำไมผมถึงไม่ได้ ? ยิ่งผมคิดมากเท่าไหร่ ผมยิ่งรู้สึกขยะแขยงมากเท่านั้น มันไม่ชัดเจนเลย" ริเบรี่ กล่าว
มันเป็นเรื่องของคนดัง
แรกเริ่มเดิมที ฟรองซ์ ฟุตบอล จำกัดให้นักข่าวจากชาติในทวีปยุโรปเท่านั้นที่มีสิทธิ์โหวตรางวัลบัลลงดอร์ เนื่องจากยุคแรกของรางวัลนี้คือรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของยุโรป
กระทั่งปี 2010 การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก็มาถึง เมื่อสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า เข้ามาร่วมด้วย กลายเป็น ฟีฟ่า บัลลงดอร์ กลุ่มผู้มีสิทธิ์โหวตจึงเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากนักข่าวฟุตบอลจากทั่วโลกแล้ว, กัปตันทีม และ เฮดโค้ช ของทีมชาติที่เป็นสมาชิกของฟีฟ่า ยังได้สิทธิ์ด้วย
ฟีฟ่า เชื่อว่าคนกลุ่มนี้มีประสบการณ์และมีวุฒิภาวะมากพอที่จะวิเคราะห์และจิ้มตัวเลือกที่ดีที่สุด หากมองจากสายตาของพวกเขาเหล่านี้ แฟนบอลที่ไม่มีสิทธิ์โหวตก็น่าจะยอมรับผลโหวตได้
แต่ความจริงแล้วมีหลายครั้งเหลือเกินที่การตีความของคำว่า "นักเตะที่ดีที่สุดในโลก" ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน และทำให้ผลโหวตออกมากลายเป็นกระแสว่าคนที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ไม่สมควรจะได้รับมัน ... ทุกคนมีสิทธิ์วิจารณ์แต่จะไม่มีการตัดสินใหม่อีกครั้ง เพราะผลโหวตจากผู้มีสิทธิ์โหวตทุกคนถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว
นักเตะที่ได้รับรางวัลไม่ได้เป็นคนผิด มีความเห็นที่น่าสนใจของคนฟุตบอลมากมายที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ารางวัลบัลลงดอร์ควรหยุดวิธีการมอบรางวัลแบบเดิม ๆ และมองหาวิธีที่แฟร์ที่สุดที่ทุกคนจะสามารถยอมรับได้ดีกว่า
ฟิลิปป์ ลาห์ม อดีตกัปตันทีมบาเยิร์น มิวนิก ยุค 3 แชมป์ ในปี 2013 กล่าวถึงมุมมองของเขาว่า บัลลงดอร์ อาจจะอธิบายตัวเองว่าคือรางวัลสำหรับนักเตะที่ดีที่สุด แต่เขาคิดว่าคำจำกัดความนี้ไม่ถูกนัก สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันสำหรับ ลาห์ม เขามองว่า บัลลงดอร์ คือรางวัลสำหรับนักเตะที่ "โดดเด่นที่สุดในโลกมากกว่า"
"คำจำกัดความของ บัลลงดอร์ ควรจะหมายถึงงานประกวดกองหน้ายอดเยี่ยมมากกว่า (world's best striker)" ลาห์ม ที่รับบทบาทเขียนคอลัมน์พิเศษให้กับ Goal เปิดหัวอย่างร้อนแรง ก่อนจะอธิบายเพิ่มชัด ๆ ว่า
"ผมรู้วิธีการโหวตของบัลลงดอร์ เพราะผมเคยได้รับสิทธิ์นั้น (ลาห์มเป็นกัปตันทีมชาติเยอรมัน) ในช่วงกลางฤดูกาลคุณจะได้รับรายชื่อนักเตะที่เป็นแคนดิเดตคว้ารางวัลนี้มา 3 คน หลังจากนั้นคุณจะมีสิทธิ์เลือกคนเดียว"
"ถ้าคุณเป็นคนที่มีสิทธิ์โหวตคุณจะติดอยู่กับชื่อของนักเตะที่โดดเด่นคุ้นหูที่สุด (best-known names) นักเตะคนที่เป็นภาพจำของการแข่งขันในปีนั้น นักเตะคนที่อยู่ในทุก ๆ ที่ไม่ว่าจะในยามลงสนามหรืออยู่นอกสนาม และมันจะทำให้คุณต้องเลือกนักเตะที่เห็นชัด (most visible) ที่สุด"
"แล้วใครจะเด่นที่สุดในสายตาของคนดูฟุตบอลล่ะ ? นั่นคือเหตุผลที่ผมบอกว่ามันคือการโหวตหากองหน้าที่ดีที่สุดในโลก ผมขอย้ำตรงนี้ว่าความคิดเห็นของผมไม่ได้เกิดจากความขมขื่นที่ผมเป็นนักเตะในเกมรับหรืออะไรทั้งสิ้น แต่ถ้าคุณย้อนดูรางวัลบัลลงดอร์ที่ผ่านมาด้วยใจที่เป็นกลางคุณจะรับรู้ว่ามันพิสูจน์ได้ด้วยสถิติ"
สิ่งที่ ลาห์ม พยายามจะบอกคือในเมื่อคำว่าเก่งที่สุดสำหรับบางปีในการโหวตบัลลงดอร์มันชัดเจน คนที่มีสิทธิ์โหวตรางวัลบัลลงดอร์ส่วนใหญ่จะเลือกคนที่มีอิมแพ็กต์กับโลกฟุตบอลมากที่สุด และแข้งที่โดดเด่นก็หนีไม่พ้นนักเตะเกมรุกหรือคนที่ได้รับบทบาทฮีโร่ของทีมเสมอ
การยิงประตูคือสิ่งแรกที่ทุกคนจำได้ ใครก็คลั่งไคล้การยิงประตู นักเตะที่ยิงประตูได้เยอะจึงเป็นนักเตะที่โดดเด่นและอยู่ในความคิดของแฟนบอล หรือแม้กระทั่งผู้มีสิทธิ์โหวตก็จะนึกถึงพวกเขาจะเป็นชื่อแรก ๆ เสมอ
"คันนาวาโร่ คือกองหลังจริง ๆ เพียงคนเดียวที่เคยได้รางวัลนี้ ขณะที่ผู้รักษาประตูที่เคยเดินขึ้นโพเดียมอย่าง โอลิเวอร์ คาห์น และ มานูเอล นอยเออร์ ก็ไม่เคยได้รับรางวัล มีคนเดียวที่เคยได้คือ เลฟ ยาชิน ในปี 1963 นักเตะกองกลางที่ได้รับรางวัลนี้อย่าง ซีเนดีน ซีดาน และ โลธาร์ มัทเธอุส ก็ได้รางวัลในช่วงก่อนยุคดิจิตอล ก่อนที่เรื่องจะยาวยืดผมขอสรุปจากมุมของผมว่า เฉพาะผู้เล่นที่ทำประตูเท่านั้นที่สามารถครองตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีได้" เขาสรุปเอาไว้เท่านี้
จากมุมมองของ 2 นักเตะระดับเวิลด์คลาสอย่าง ลาห์ม และ ริเบรี่ หรืออาจจะรวมถึง เวสลี่ย์ สไนจ์เดอร์ ที่ก็เคยพลาดบัลลงดอร์ในปี 2010 โดยเข้าถึงแค่รอบ 10 คน ทั้งที่ปี 2009 เขาพาทีมคว้า 3 แชมป์กับ อินเตอร์ มิลาน ก็น่าจะทำให้ชี้ประเด็นได้ชัดขึ้นว่า บัลลงดอร์ ไม่ใช่รางวัลที่ใครจะเรียกร้องความแฟร์หรือความชัดเจนได้
มันคือเรื่องของคนที่มีสิทธิ์โหวตเท่านั้น และภาพรวมของการให้รางวัลก็มักจะตกเป็นของผู้เล่นระดับไอคอนฟุตบอลของโลกเท่านั้น
แม้ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ฟรองซ์ ฟุตบอล พยายามแก้ปัญหานี้ ด้วยการตัดสัมพันธ์กับฟีฟ่า ทำให้กลุ่มผู้มีสิทธิ์โหวตลดลงเหลือแค่นักข่าวจากชาติสมาชิกฟีฟ่าทั่วโลกเท่านั้น ทว่าปัญหานี้ก็ยังคงอยู่
นั่นคือเหตุผลว่าทำไม 12 จาก 13 ครั้งหลังสุดจึงเป็นการสลับกันได้ระหว่าง เมสซี่ กับ โรนัลโด้ โดยมี ลูก้า โมดริช หลุดมาในปี 2018 เพียงคนเดียวเท่านั้น
แล้วมันควรเป็นแบบไหน ?
ทางออกที่ดีและง่ายที่สุดมีอยู่จริง คุณไม่ควรลืมเด็ดขาดว่าฟุตบอลคือกีฬาที่เล่นเป็นทีม แม้คนยิงประตูจะถูกจดจำในฐานะฮีโร่ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ต้องทำงานหนัก ดังนั้นมันจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าใครคือนักเตะเพียงคนเดียวที่ดีที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่มีนักเตะหลากหลายคนเข้าร่วมเป็นแคนดิเดต
เพราะฟุตบอลคือกีฬาที่ต้องทำงานร่วมกัน, ใช้ความสามัคคีเพื่อประสบความสำเร็จ, มีคนเล่นเกมรับ, มีคนแอสซิสต์ และมีคนที่ต้องเสียสละทำหน้าที่สกปรก (คอยไล่ตัดเกมตัดกำลังคู่แข่ง) มีผู้รักษาประตู, มีกองหลัง, มีกองกลาง และมีกองหน้า
ดังนั้นมันจะชัดเจนที่สุดหากมีการซอยรางวัลออกเป็น 4 แบบเพื่อระบุให้ชัด ๆ ไปเลย และทำให้ช่องว่างของการวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมแคบลงยิ่งกว่าเดิม
ในเมื่อการเอากองหลังมาเปรียบกับกองหน้ามันเป็นเรื่องยากที่จะชนะในเรื่องความโดดเด่นเห็นชัดนัก ก็ควรให้มีการเลือกไปเลยชัด ๆ ว่าในแต่ละปี ใครคือผู้รักษาประตูที่ดีที่สุด ใครคือกองหลังที่ดีที่สุด ใครคือกองกลางที่ดีที่สุด และใครคือกองหน้าที่ดีที่สุด เพราะถ้าแบ่งย่อยออกมาเป็น 4 รางวัล คุณจะพบผู้เข้าชิงรางวัลแต่ละรางวัลนั้นทำหน้าที่แบบเดียวกัน มันจะช่วยให้ง่ายต่อการตัดสิน และจะเคลียร์กับทุกฝ่ายรวมถึงแฟนบอลด้วย
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ใครก็น่าคิดออกแต่กลับเอามาใช้จริงได้ยากยิ่ง แม้จะเคลียร์แต่มันก็จะขาดความตื่นเต้นเป็นโดยปริยาย ยิ่งในฟุตบอลยุคใหม่ที่เป็นทุนนิยมเต็มระบบ เน้นการสร้างกระแสและการสร้างคอนเทนต์กับคนดู การประกาศรางวัลบัลลงดอร์ 4 รางวัล ไม่มีทางตื่นเต้นไปกว่าการหาผู้ชนะแต่เพียงผู้เดียวได้อยู่แล้ว
ทุกอย่างล้วนมีต้นทุนเสมอ และการจัดงานกาล่าใหญ่ ถ่ายทอดสดไปทั่วโลกนั้น จำเป็นจะต้องมียอดจำนวนคนดูเป็นเป้าหมายหลัก
ใครอยากจะดูรางวัลบัลลงดอร์ที่แจกกัน 4 คน 4 ตำแหน่งบ้าง ? มันเดาง่ายจะตายไป เพราะเมื่อคุณมีข้อเปรียบเทียบกันชัด ๆ คุณจะสามารถรู้ได้ตั้งแต่รางวัลยังไม่ประกาศเลยด้วยซ้ำว่าใครสมควรได้ สิ่งที่หายไปคือความตื่นเต้นและกระแสการตอบรับของคนดู แน่นอนว่าเมื่อรางวัลมันชัดเจนขึ้นข้อถกเถียงและประเด็นการพูดถึงต่างๆ ในโลกโซเชียลมีเดียและการนำเสนอของสื่อก็จะน้อยลงไปด้วย ซึ่งทางผู้จัดอย่างฟีฟ่า และ ฟรองซ์ ฟุตบอล ก็คงไม่ชอบแน่ถ้าเป็นแบบนั้น
คิดดูแล้วกัน สด ๆ ร้อนๆ หลัง เมสซี่ ได้รางวัลบัลลงดอร์ปี 2021 บรรณาธิการของ ฟรองซ์ฟุตบอล อย่าง ปาสกาล เฟร์เร ยังเปิดเผยกับ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ว่า "โรนัลโด้มีความทะเยอทะยานเพียงอย่างเดียวในชีวิตและนั่นก็คือการเลิกเล่นด้วยบัลลงดอร์มากกว่าเมสซี่ … ที่ผมรู้ก็เพราะเขาบอกกับผม”
ซึ่งโควตดังกล่าวกลายเป็นไวรัลและข่าวใหญ่ในทวิตเตอร์ แฟนบอลของ โรนัลโด้ กับ เมสซี่ ตีกันนัวยับตามเคย ทั้งที่จริง ๆ โรนัลโด้ ก็ออกมาเปิดเผยและยืนยันภายหลังว่า “เฟร์เรพูดโกหกและใช้ชื่อของผมในการสร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเองและสิ่งพิมพ์ที่เขาทำงานให้” … เท่านี้ก็รู้แล้วว่ากระแสนั้นสำคัญขนาดไหน
เพราะฉะนั้นทำใจเสียดีกว่าหากหวังจะเห็นรางวัลบัลลงดอร์ที่เคลียร์ 100% โดยไม่มีใครโต้แย้งใครได้ นี่คือความคลาสสิกในแบบของฟุตบอลสมัยใหม่ สนุก ตื่นเต้น เป็นประเด็น และขายได้ นี่คือสูตรสำเร็จของการเอ็นเตอร์เทนคนดูได้ดีที่สุดแล้ว
บางครั้งรางวัลอาจจะไม่ตรงกับความคิดเห็นหรือตรงใจก็ให้มองข้ามมันเสีย ร่วมยินดีกับผู้ชนะ และให้นักเตะที่คุณชอบเป็นผู้ชนะในใจคุณก็พอ เพราะต่อให้เถียงไปคำตัดสินก็ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ... นี่แหละที่เขาบอกว่าฟุตบอลไม่ใช่บัญญัติไตรยางค์ ไม่มีคำตอบใดที่ถูกทั้งหมดหรือผิด 100% … "คลาสสิกจริง ๆ"
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา