1 ธ.ค. 2021 เวลา 15:01 • หนังสือ
"รู้รึเปล่า? แม้แต่ชาร์ลส์ ดาร์วิน ผู้คิดค้นทฤษฏีวิวัฒนาการก็ยังเคยผัดวันประกันพรุ่ง!!"
"แต่ละสปีชีส์จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ" นี่คือสิ่งที่ชาร์ลส์ ดาร์วินเขียนไว้ในสมุดโน๊ตของเขาตั้งแต่ฤดูร้อนในปี 1838 ถึงแม้จะเป็นประโยคสั้นๆ แต่หากมีนักธรรมชาติคนใดมาเห็นเข้าแล้วล่ะก็จะต้องตกตะลึงกับประโยคนี้
เพราะมันเป็นประโยคที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของดาร์วินว่าสิ่งมีชีวิตต่างๆไม่ได้มีรูปแบบตายตัว แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตามน่าแปลกที่ไม่มีใครได้ยินหรือได้อ่านประโยคนี้จนเวลาผ่านไปถึง 20 ปี!!!
ถึงแม้ว่าดาร์วินจะเป็นผู้ที่คิดค้นทฤษฏีนี้และสามารถพลิกโฉมโลกได้ แต่เขากลับทิ้งมันไปซะดื้อๆ!? ดาร์วินไม่คิดที่จะเผยแพร่ไอเดียนี้ออกไปให้โลกรับรู้ ไม่ได้ส่งวารสารการวิจัย ไม่ได้เขียนบทความหรือแม้กระทั่งหนังสือที่จะเผยแพร่ออกไป
จริงๆแล้วเขามีบอกเพื่อนของเขาอยู่สองสามคนเกี่ยวกับแนวความคิดนี้ของเขา อย่างไรก็ตามเนื้อหาส่วนใหญ่นั้นก็ยังคงอยู่ในสมุดโน๊ตที่เขาเก็บไว้อย่างมิดชิด จากนั้นเขาก็ไปแต่งงานและมีครอบครัว หลังจากนั้นเขาก็ย้ายบ้านมา พอทุกอย่างเริ่มลงตัว เขาก็เริ่มเขียน!!! แต่สิ่งที่เขาเขียนออกมาเป็นหนังสือที่มีชื่อว่า The Gardeners' Chronicle หรือแปลเป็นไทยคือบันทึกชาวสวน ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้จากเมล็ด! และเขาก็วุ่นวายกับเรื่องสวนและต้นไม้นี้อยู่หลายปี
เวลาล่วงเลยมาถึงปี 1846 ดาร์วินก็ได้พุ่งความสนใจไปที่ barnacle ซึ่งมันก็คือเพรียง ใช่ครับ! เพรียงที่เกาะติดอยู่บนท้องเรือและหินพวกนั้นนั่นแหละ เขาได้ทำการผ่าเพรียงและศึกษามันอย่างละเอียด จนกระทั่งเรียกมันว่า "เพรียงที่รักของฉัน" ฟังแล้วยังขนลุกแทน
และดาร์วินก็วุ่นวายกับเพรียงสุดที่รักของเค้าจนไปถึงปี 1859 กว่าหนังสือ The Origin of Species จะถูกเผยแพร่ออกสู่สายตาชาวโลก! และนั่นก็เกิดคำถามที่ว่า "ทำไมเขาถึงต้องรอนานขนาดนี้กว่าจะเผยแพร่หนังสือที่จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ชาวโลกไปตลอดกาล?"
บางทีเขาอาจจะรู้สึกว่าการตีพิพม์หรือเผยแพร่ไอเดียมันวุ่นวาย?
บางทีเขาอาจจะเป็น perfectionist ที่คิดว่าทฤษฏีของเขายังไม่สมบูรณ์ดีพร้อม เขาเลยพยายามหาข้อมูลและทำการทดลองนู่นนี่นั่นเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ
ไม่มีใครรู้คำตอบว่าสุดท้ายแล้วนั่นเป็นเพราะอะไร?
แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือในบางครั้งการผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้แปลว่าขี้เกียจ คนที่ผัดวันประกันพรุ่งบางครั้งพวกเขาก็มีงานที่ยุ่งมาก แต่เขาก็เลือกที่จะไม่ทำงานที่สำคัญจริงๆ เหมือนกับที่หนังสือ "How to Get Things Done" เขียนเอาไว้ว่า "ทุกคนสามารถทำงานหนักแค่ไหนก็ได้ แต่ถ้างานนั้นไม่ใช่งานที่สำคัญที่สุดที่ควรทำในตอนนั้นจริงๆ แล้วล่ะก็ นั่นคือการผัดวันประกันพรุ่ง"
ขอบคุณเรื่องราวดีๆจากหนังสือ Soon: An Overdue History of Procrastination
โฆษณา