1 ธ.ค. 2021 เวลา 16:07 • นิยาย เรื่องสั้น
ห้องเรียนต่างหากที่เป็นบ้านหลังที่ 2
ช่วงปีที่ผ่านมานี้ ตัวผมได้มีโอกาสทำภาพยนตร์สารคดีอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ ​“Friendship : เพื่อนรัก...รักเพื่อน” เป็นภาพยนตร์สารคดีที่มีแนวคิดในการเก็บรวบรวมความทรงจำ
ของหมู่เพื่อนสมัยม.6 ของผม ด้วยการสัมภาษณ์สมาชิกภายในห้องทั้งหมด 29 คน เพื่อทำเป็นภาพยนตร์สารคดี พวกเขาเหล่านั้นต่างก็เล่าถึงความทรงจำที่ได้ทำร่วมกันมาสารพัดแง่มุมหลากรสชาติ ซึ่งมีความน่าสนใจอยู่ตรงที่ หนึ่งในแง่มุมที่พวกเขาเล่าตรงกันเกือบทั้งหมดนั่นก็คือ พวกเขาเล่าถึงห้องเรียนหมายเลข 4407 ของพวกเขา เป็นเหมือนสถานที่ที่ยามใดได้นึกถึง ความทรงจำตอนนั้นก็พรั่งพรูกลับมาเติมเต็มหัวใจของพวกเขาได้ในวันที่พวกเขาเริ่มเติบโต วันที่เต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า ความเครียด ไร้ซึ่งเสียงหัวเราะความสนุกสนานเหมือนแต่ก่อน ผมจึงอยากหยิบยกคำสัมภาษณ์ของเพื่อน ๆ นำมาถ่ายทอดในงานเขียนชิ้นนี้
“ยังคิดถึงนะ ถึงจบมาแล้วก็ยังคิดถึง เป็นเพราะสถานการณ์โลกในช่วงนี้ (โควิดเริ่มแพร่ระบาด) ทำให้พวกเราต้องมาตัดจบกันแค่ตรงนี้ ต่อไปนี้ก็ไม่ได้ไปที่ห้องอีกแล้ว”
เสียงจากน็อต-ศุภพัฒน์ สมาชิกหมายเลข 9 เล่าถึงความรู้สึกของเขาเอาไว้ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือเต็มไปด้วยความเศร้าหมอง คำพูดของเขาทำให้ผมเข้าใจได้ทันทีเลยว่าเขามีความหลังหรือความผูกพันกับห้องนี้มากเพียงใด
“ห้องเรามันเป็นห้องเรียนพิเศษใช่ไหม มันก็จะมีสิทธิพิเศษหน่อย ๆ ดีที่สุดเลยคือพวกเราไม่ต้องเดินเรียน อยู่แต่กับห้อง... แต่มีเรื่องอยากจะบ่น ที่รู้สึกน้อยใจที่สุดนะคือไม่มีระเบียงหน้าห้องเว้ย (หัวเราะ) 4407 ไม่มีที่นั่งหน้าห้อง โอ้โห จะมานั่งแอบมองสาวก็ไม่ได้”
เสียงหัวเราะทั้งผมและน็อตผสานกันกลมเกลียว บรรยากาศการสัมภาษณ์กลับมาครื้นเครงหลังจากที่บทสนทนาเริ่มต้นด้วยความเศร้า เราพูดคุยกันอย่างสนุกสนานถึงความหลังที่เกิดขึ้นฉันท์เพื่อนตั้งวงคุยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ มากกว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ถามตอบเพื่อไปทำสารคดี เพราะเช่นนี้คำตอบของเพื่อนแต่ละคนที่ผมได้จึงจริงใจตรงไปตรงมา มากกว่าการสัมภาษณ์ในสารคดีเรื่องไหน ๆ “ที่ห้องเนี่ย ทำวีรกรรมเด็ด ๆ อะไรเอาไว้บ้างไหม” ผมกลับเข้าคำถามที่เตรียมไว้หลังจากที่คุยกันเพลินไปหน่อย
“ก็ จำได้เลย พึ่งจะผ่านมาเลยตอนม.6 ช่วงที่เรามีกิจกรรมทำโครงงานแล้วต้องอยู่ค้างกันที่โรงเรียน แล้วพวกเราประชุมกันที่ห้องไง ทั้งผู้ชายผู้หญิงใส่ชุดนอนพร้อมมาเลย แล้วคราวนี้ก็ประชุมกันถึงดึกมาก เที่ยงคืนกว่าเลยมั้ง ทีนี้ครูแจ้ก็มาตาม สุดท้ายก็โดนทำโทษ เพราะว่ามันดึก และก็ผู้หญิงอยู่กับผู้ชายด้วยแหละ แต่มันก็อยู่กันทั้งห้องอะนะ จำได้เลยวันนั้นผู้ชายทุกคน โห แกให้ยืนย่อ ๆ โคตรนานอะ แล้วเหนื่อย เจ็บ ปวดขามาก หลังจากนั้นก็ไม่ได้คุยกับอาจารย์แจ้เลย แกงอนไปสองวัน แล้ววันสุดท้ายพวกเราทั้งห้องก็รวมตัวกันไปง้อ ไปขอโทษแก พากันร้องห่มร้องไห้กันใหญ่ทั้งห้อง แต่ก็ประทับใจมาก ตอนนั้นมันดีจริง ๆ เลยนะ”
“…วันสุดท้ายพวกเราทั้งห้องก็รวมตัวกันไปง้อ ไปขอโทษแก พากันร้องห่มร้องไห้กันใหญ่ทั้งห้อง แต่ก็ประทับใจมาก ตอนนั้นมันดีจริง ๆ เลยนะ”
เขาเล่าถึงความรู้สึกทั้งหมดที่มีในคืนวันนั้น ผมเองก็มีประสบการณ์ส่วนนี้ร่วมกันกับเขาและรู้สึกกับมันไม่น้อยไปกว่า ที่จริงแล้วในคืนนั้นพวกเราไม่ได้คุยกันเรื่องงานหรอกครับ แต่เป็นการพูดคุยเพื่อบอกความรู้สึกจากเพื่อนถึงเพื่อนแต่ละคนอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาต่อกัน เราได้ปรับความเข้าใจกัน และรักกันมากขึ้นกว่าที่เคย เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นบทเรียนสำคัญ และก็เป็นเรื่องราวที่จะประทับอยู่ในใจเสมอด้วย มันทำให้ชีวิตมอปลายของพวกเราแทบจะเรียกได้ว่าครบสมบูรณ์ โดยมีฉากหลังของเรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นห้องของเราหมายเลข 4407
“ตอนม.4 เรียนเยอะมาก 10 คาบ ไม่มีแม้กระทั่งคาบปกครองหรือคาบคณะสี กลายเป็นว่ายิ่งโตขึ้นแพชชั่นในการใช้ชีวิตมันลดลง ยิ่งเรียนยิ่งโดนดูดพลัง เหนื่อยมาก พอม.5 เนี่ย ตารางเรียนลดลงมากขึ้น ก็รู้สึกว่าเออก็ดีขึ้นนะ แต่เนื้อหามันก็เข้มข้นขึ้นด้วย แล้วยังต้องทำโครงงานด้วยอะ ม.5 มันเหนื่อยตรงทำกิจกรรมนะเว้ย กิจกรรมแม่งเยอะมาก...”
จริง ๆ แล้วเธอพูดด้วยวลีและน้ำเสียงที่ดุเดือดเผ็ดมันกว่านี้อยู่หลายขุม แต่ถ้าหากยกมาเต็มอัตราก็อาจจะรุนแรงไปหน่อยตามภาษาเพื่อนคุยกับเพื่อน ชบา-เจนจิรา สมาชิกหมายเลข 14 เริ่มต้นบทสนทนาด้วยความเกรี้ยวโกรธ เขาระบายอารมณ์ราวกับว่าห้องเรียนนี้กำลังทารุณกรรมเธออย่างไม่ปราณี ข้อความสั้น ๆ นี้อาจทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย ๆ ว่าห้องนี้กำลังทำร้ายเธอจริง ๆ แต่แล้วเธอก็เล่าต่อว่า
“กิจกรรมแม่งเยอะมาก... แต่ก็เพราะกิจกรรมที่มันเยอะขึ้นนี่แหละมันทำให้เพื่อนอะสนิทกันมากขึ้นกว่าตอนม.4 เยอะ จำได้เลยว่าตอนทำละครภาษาไทยที่ซ้อมกันอยู่บนห้องเรา มันสนุกมาก แล้วแบบเพื่อนมันช่วยกันเต็มที่เลย 2-3 ทุ่มแม่งยังไม่กลับบ้านเลยคือยังซ้อมกันอยู่ที่ห้องอะ โอ๊ยเนี่ยแหละแม่งโคตรประทับใจ เพื่อนบางคนที่ตูรู้สึกไม่ชอบ แล้วมันมารับผิดชอบต่องานห้องมาก ก็รู้สึกซึ้งใจ มันไม่ได้เป็นคนแย่ มันเป็นคนดีเว้ย... วิเศษเหมือนกันนะห้องเนี้ย มันทำให้เรารู้สึกแบบนี้ได้ยังไง”
ถ้าเหนื่อยมา ห้องเรียนก็เปลี่ยนเป็นห้องนอนไว้พักพิง
จู่ ๆ อารมณ์ของบทสนทนาก็กลับตาลปัตรพลิกโลกในชั่ววินาที ผมเองก็ตามความรู้สึกของเธอไม่ทันแล้ว เธอเล่าถึงความประทับใจที่เกิดขึ้นที่ห้องหมายเลข 4407 ที่มีต่อเพื่อนของเธอ คล้ายคลึงกับสิ่งที่น็อตเล่า ต่างแค่เพียงคนละเหตุการณ์เท่านั้น แต่ยังคงมีฉากหลังเดียวกันอยู่ ผมมองว่าวันเวลาก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ความรู้สึกของคนเราเปลี่ยน ตอนแรกเราเกลียดมัน ต่อมาก็เริ่มผูกพัน ผ่านไปนานเข้าเราก็เริ่มพึ่งพิงมัน
“เสียดาย วันนี้ไปโรงเรียนก็เสียดาย มันเป็นช่วงเวลาที่แบบทำไมมันผ่านมาเร็วจังวะอะไรแบบนี้ คือเหมือนแบบเราอยู่ห้องนี้มา 3 ปี มันเป็นเหมือนหนึ่งในคอมฟอร์ทโซนของเราเลย ประมาณเนี้ย กลัว... เรากลัวการออกไปข้างนอก เรากลัวการใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ใช้ชีวิตอยู่ในที่ ๆ เราไม่คุ้นเคย... แล้วก็คิดว่า ที่ที่จะให้ประสบการณ์แบบนี้ มันคงไม่มีอีกแล้วอะ แบบยังไงล่ะ เพื่อนที่มันสนิทกันมาก ๆ ห้องเรียนที่มันต้องตื่นแต่เช้าเพื่อจะไปหา เสียงหัวเราะความสนุกสนานเฮฮา หรือจะเป็นโมเมนต์ช่วงเวลาที่เราผ่านอะไรที่ยาก ๆ ไปด้วยกัน อืม ก็คิดว่าห้องเรียนในมหาลัยก็คงไม่มีทางทำได้แบบนี้หรอกมั้ง”
“เราอยู่ห้องนี้มา 3 ปี มันเป็นเหมือนหนึ่งใน Comfort Zone ของเราเลย…แล้วก็คิดว่า ที่ที่จะให้ประสบการณ์แบบนี้มันคงไม่มีอีกแล้วอะ”
อยากให้ท่านผู้อ่านลองทายกันดูว่าคำถามแบบไหนกันที่ทำให้เธอตอนได้เช่นนี้ บทสัมภาษณ์จาก จิ๊บ-ศิริวรรณ สมาชิกหมายเลข 16 เล่าถึงความผูกพันและหวงแหนที่เกิดขึ้นที่ห้องเรียนแห่งนี้ ฝังไว้ซึ่งความรู้สึกมากมายมหาศาลในทุก ๆ ประโยค น้ำเสียงของเธออบอวลไปด้วยมวลแห่งความอาวรณ์ เธอรู้สึกเสียดายที่หากวันหนึ่งเธอจะไม่มีโอกาสแบบนี้อีกแล้ว เธอเลือกให้ห้องเรียนเป็นสถานที่ที่เธอสบายใจ และเห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าเธอก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของมันไปแล้ว จนสุดท้ายก็เกิดเป็นความกลัวที่วันหนึ่งหลังของเธอจะไม่มีที่ไว้พิงอย่างที่เคย
ผมคิดว่าห้องเรียนเป็นสถานที่ที่ใครหลาย ๆ คนมีความผูกพัน หวงแหน และมีคุณค่าทางจิตใจฝังลึกเอาไว้อย่างยากที่จะปฏิเสธ ห้องเรียนไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ที่มีไว้สำหรับการเรียนตามหลักสูตรการศึกษาอันไร้ชีวิตชีวาที่เหล่าคนใหญ่คนโตเป็นผู้กำหนด แต่มันเป็นสถานที่ที่บรรจุแน่นไปด้วยเรื่องราว ช่วงเวลา ความสัมพันธ์ ความหลังที่มีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งใดในช่วงชีวิตมัธยม เลี้ยงดูหล่อหลอมให้เราเป็นเราได้ในทุกวันนี้ เคยมีคนกล่าวไว้ว่า ‘โรงเรียนเปรียบเป็นบ้านหลังที่ 2’ ผมว่าข้อความนี้อาจไม่ถูกต้องเสียทีเดียว จริง ๆ แล้วผมมองว่าห้องเรียนต่างหากที่เป็นบ้านหลังที่ 2
ทำไมจึงคิดเช่นนั้น?
ก็เพราะว่า ครูที่ปรึกษาก็เป็นเหมือนพ่อแม่ของเรา เพื่อนก็คือคนในครอบครัวของเรา มันเป็นสถานที่ที่สร้างความทรงจำ เป็นสถานที่ที่ทำให้เราได้มาเจอกัน เจอเพื่อนทุกคน เจอความผูกพัน ได้รับความรัก ได้รับความอบอุ่น ได้รับความสุข ได้รับความทุกข์ ได้หัวเราะ ได้ร้องไห้ ได้สนุก ได้ดีใจไปพร้อม ๆ กัน และคงเป็นประสบการณ์ที่ไม่คิดว่าจะหาได้จากที่ไหนอีกแล้ว
โฆษณา