3 ธ.ค. 2021 เวลา 00:49 • ท่องเที่ยว
Airbnb เผยเทรนด์คนไทยท่องเที่ยวใส่ใจเศรษฐกิจ สังคม ความยั่งยืน
Airbnb เปิดผลวิจัย Economist Impact 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพ เผยคนไทยมากกว่า 90% คำนึงถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน พร้อมยินดีจ่ายมากขึ้นเพื่อแลกกับประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
วันที่ 2 ธันวาคม 2564 นางมิช โกห์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Airbnb เปิดเผยว่า จากงานวิจัยและบทวิเคราะห์ใหม่ล่าสุดโดย Economist Impact ที่จัดทำขึ้นให้กับ Airbnb ได้สำรวจ 4,500 คนใน 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย ในเดือนตุลาคม 2564 พบว่า 72% ของคนไทยที่ตอบแบบสำรวจ เห็นว่าสิ่งสำคัญในการเดินทางของพวกเขาคือ ต้องมีส่วนช่วยในการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น
ซึ่งผู้ตอบแบบสำรวจฯ ได้นิยามการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับคนในท้องถิ่นคือ การเรียนรู้ ซึมซับความเป็นชุมชนของท้องถิ่นนั้นๆ และตระหนักในการใช้จ่ายเงินโดยคำนึงว่าการใช้จ่ายนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นด้วยหรือไม่
และเกือบ 70% ตระหนักดีว่าชุมชนต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และจะคำนึงถึงปัจจัยนี้ในการเดินทางและการใช้จ่ายเงิน 72% ระบุว่าพวกเขามีความตระหนักมากขึ้นเมื่อต้องทำความคุ้นเคยกับสิ่งสำคัญที่มีต่อชุมชนที่ไปเยือน และวิธีที่สามารถมีส่วนร่วมต่อชุมชนนั้นๆ ได้
นอกจากนี้ 68 % ให้ความสำคัญกับการใช้การเดินทางเพื่อเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมกับชุมชนต่างๆ โดยมากกว่า 2 ใน 3 ระบุว่า สิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ พวกเขาจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาต่างๆ เช่น การทำให้เกิดภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง
โดยกว่า 70 % ของชาวไทยที่ตอบแบบสำรวจ วางแผนที่จะเดินทางบ่อยขึ้นเพื่อเปิดประสบการณ์และท่องเที่ยวในเขตชนบทที่ปัจจุบันไม่ได้เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว 60% วางแผนที่จะใช้ชีวิตแบบ workcation หรือทำงานทางไกล ด้วยการเลือกที่จะไปเยือนจุดหมายปลายทางใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น และเกือบ 2 ใน 3 วางแผน และจัดสรรงบค่าใช้จ่ายในการเดินทางภายในประเทศของตนมากขึ้น
“จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องของการเชื่อมต่อและเรื่องเศรษฐกิจ ผู้คนได้เริ่มคิดและไตร่ตรองมากขึ้นถึงวิธีการเดินทางในการสร้างประโยชน์เชิงบวกให้กับชุมชนที่พวกเขาไปเยือน นักเดินทางเหล่านี้จะคิดอย่างถี่ถ้วนว่าจะใช้จ่ายเงินในการท่องเที่ยวให้เกิดประโยชน์สูงสุดและส่งเสริมเศรษฐกิจเมืองและชุมชนได้อย่างไร” นางมิช โกห์ กล่าว
และว่านอกจากนั้น ยังต้องการซึมซับกับขนบธรรมเนียมวิถีชีวิตต่างๆ ในชุมชนเหล่านั้นและเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีในขณะเดียวกันก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบด้านลบที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้นอีกด้วย
และพบว่าการเดินทางในรูปแบบของ “นักเดินทางมีความใส่ใจมากขึ้น” หรือ ที่เรียกว่า “conscious traveller” มีอัตราเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่มากขึ้นสำหรับชุมชน ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นนั้นเติบโตจากการฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยว แต่ยังเป็นการต้อนรับรูปแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมและก่อให้เกิดความเชื่อมโยงอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกันการศึกษานี้ได้ตรวจสอบทัศนคติต่อการเดินทางแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยในประเทศไทยนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า การสร้างผลลัพธ์และรายได้ที่เท่าเทียมกันให้กับคนในท้องถิ่น และการได้รับประสบการณ์ทางสังคมใหม่ๆ และความสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่มีความหมาย เป็นสองเหตุผลสำคัญที่สุดของการเดินทางอย่างยั่งยืน
โฆษณา