3 ธ.ค. 2021 เวลา 04:03 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Wall Street พลิกฟื้น ดาวโจนส์พุ่งกว่า 600 จุด มติโอเปกพลัสดันราคาน้ำมันขยับขึ้น
ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น Wall Street เมื่อวานนี้ (2 พฤศจิกายน) พลิกฟื้นกลับขึ้นมาในแดนบวก หลังจากที่หนึ่งวันก่อนร่วงหนักปิดตลาดในแดนลบ เพราะนักลงทุนหวาดวิตกต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดสายพันธ์โอไมครอนที่ทำให้หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์และยกระดับความเข้มงวดจำกัดการเดินทาง
รายงานระบุว่า การฟื้นตัวของตลาดหุ้นเป็นผลจากการที่นักลงทุนแห่เข้าช้อนซื้อเพื่อเก็งกำไร โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ขยับปรับตัวเพิ่มขึ้น 617.75 จุด หรือ 1.82 เปอร์เซ็นต์ ปิดที่ 34,639.79 จุด ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 64.06 จุด หรือ 1.42 เปอร์เซ็นต์ ปิดที่ 4,577.10 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 127.27 จุด หรือ 0.83 เปอร์เซ็นต์ ปิดที่ 15,381.32 จุด
ตลาดหุ้นที่พลิกกลับมาดีดตัวขึ้นทั่วทั้งกระดานหลังจากที่ปรับตัวร่วงลงอย่างหนักมาต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนตัดสินใจเทขายหุ้นและวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย รวมถึงชะลอการลงทุนเพื่อรอประเมินสถานการณ์ ก่อนที่จะวิ่งเข้ามาตลาดอีกครั้ง โดยความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในช่วงตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมายังได้รับแรงกดดันจากท่าทีของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ส่งสัญญาณเตรียมยุตินโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการพิจารณาเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐฯ ของสภาคองเกรสของสหรัฐฯ
สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า การพลิกฟื้นของตลาดหุ้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คืออีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่านักลงทุนยังพร้อมที่จะเก็งกำไรและแสวงหาโอกาสจากกลยุทธ์ซื้อถูกขายแพงอยู่เสมอ
ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวดังกล่าวของตลาดทุน ได้ผลักให้นักลงทุนเมินหน้าจากสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ อย่างทองคำ ทำให้ราคาทองคำเมื่อวานนี้ (2 พฤศจิกายน) ปิดตลาดในแดนลบ ทำสถิติต่ำสุดในรอบกว่า 7 สัปดาห์ โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 21.60 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 1,762.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ด้านราคาน้ำมันขยับปรับตัวขึ้น หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ลงมติยืนกรานที่จะคงนโยบายค่อยๆ เพิ่มกำลังผลิตในเดือนมกราคมไว้เท่าเดิม ท่ามกลางการเผชิญกับแรงกดดันจากนานาประเทศ นำโดยสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ป้อนน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาดมากขึ้น เพื่อสกัดราคาที่ดีดตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนมกราคม เพิ่มขึ้น 93 เซนต์ ปิดที่ 66.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ด้านน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 80 เซนต์ ปิดที่ 69.67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ก่อนหน้านี้นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ราคาน้ำมันขยับลงมากว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐ หลังมีรายงานข่าวพบไวรัสโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่อย่างโอไมครอน จนสร้างความตื่นตระหนกแก่นักลงทุนที่หวั่นว่ามาตรการล็อกดาวน์จะฉุดความต้องการบริโภคน้ำมัน
เรื่อง: THE STANDARD WEALTH
อ้างอิง:
โฆษณา