6 ธ.ค. 2021 เวลา 01:00 • สุขภาพ
Health Link รวมพลังคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนสาธารณสุขไทยสู่ยุคดิจิทัล
“คนไข้แพ้ยาอะไรไหม” “ตอนนี้ทานยาอะไรอยู่หรือเปล่า”
“เคยเป็นโรคอะไรมาบ้าง” “เป็นมาตั้งแต่เมื่อไหร่”
“ตรวจครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่”
เชื่อว่าหลาย ๆ คนเคยถูกถามคำถามเหล่านี้เวลาไปที่โรงพยาบาล ซึ่งบางคำถามเราก็ตอบได้ แต่กับอีกหลากหลายคำถามเราอาจจำไม่ได้หรือไม่มั่นใจในคำตอบเอาเสียเลย เราลองเดินไปถามคุณพ่อที่ต้องทานยาความดันเป็นประจำทุกวันมาหลายปี ปรากฏว่า คุณพ่อตอบได้แค่ยาสีอะไร แต่จำไม่ได้ว่ายาชื่ออะไร ขนาดกี่มิลลิกรัม ซึ่งเรามองว่าเป็นปัญหาคลาสสิคที่พ่อแม่หลายคนก็เป็นกัน
ทั้ง ๆ ที่ดิจิทัลได้เข้ามามีส่วนสำคัญกับการใช้ชีวิตของเรามาสักพัก และหลายโรงพยาบาลก็เก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลอยู่แล้ว แต่ทำไมเราถึงต้องมานั่งจำข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพที่สำคัญเหล่านี้ ทำไมต้องมานั่งรื้อกระดาษ ทำไมต้องเสียเวลาไปขอประวัติตัวเอง ที่กว่าจะได้มาก็สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย และทำไมหลาย ๆ ครั้งต้องมาโดนตรวจแลปหรือเจาะเลือดซ้ำ เพียงเพราะเราแค่เปลี่ยนโรงพยาบาลเอง นอกจากนี้ หลาย ๆ ครั้งที่เราและคนไข้อีกหลายคนต้องมานั่งรอหลายชั่วโมง แล้วพบว่ายังรับการรักษาไม่ได้ต้องกลับไปเอาประวัติเดิมมาเสียก่อนแล้วค่อยกลับมาใหม่
ซึ่งข้อมูลสุขภาพในระบบโรงพยาบาลเหล่านี้ บางทีก็มีผลถึงชีวิตของคนได้เลยนะ
…หากไม่มีข้อมูล คุณหมออาจจ่ายยาที่คนไข้แพ้
…หากไม่มีข้อมูล และคนไข้หมดสติตอบอะไรไม่ได้ คุณหมออาจต้องรักษาโดยไม่ทราบถึงโรคที่เขาเป็นอยู่
Health Link จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ Pain Point เหล่านี้ให้กับประชาชน โดยเหล่านักพัฒนารุ่นใหม่ไฟแรงจาก GBDi ที่อยากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศของเรา
“เป้าหมายของ Health Link คือ การสร้างแพลทฟอร์มที่จะเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาของคนไข้ระหว่างโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้ไม่ว่าเราจะเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใดก็ตาม คุณหมอที่โรงพยาบาลนั้นจะสามารถดูข้อมูลสุขภาพที่ผ่านมาของเราจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่เคยเข้ารับการรักษาได้”
“ถ้าเราทำสำเร็จ จะทำให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยก้าวหน้าไปอีกขั้น เราจะทำให้ระบบการให้บริการและการรักษาในโรงพยาบาลดีขึ้นกับทุกคน และนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นให้กับทั้งประชาชนและโรงพยาบาลได้อย่างมากแล้ว ระบบการรักษาที่ดีและรวดเร็ว จะทำให้เราช่วยรักษาชีวิตคนได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ถึงเวลาแล้วที่เราต้องออกจากกรอบเดิม ๆ และช่วยกันผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ไปด้วยกัน”
นภัสวันต์ พสุทิพย์, Project Manager โครงการ Health Link
ตอนเราเริ่มทำระบบนี้ เราได้เก็บข้อมูลทั้งจากการสำรวจและการสัมภาษณ์ของทั้งผู้เข้ารับบริการและบุคลากรทางการแพทย์ จากผลสำรวจจำนวน 416 คน แบ่งเป็น บุคคลทั่วไป 158 คน ผู้ป่วย 104 คน แพทย์ 50 คน และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 104 คน พบว่า
- 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้ระยะเวลาต่อครั้งในการเข้าใช้บริการที่โรงพยาบาลมากกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไป
- 95% นิยมใช้บริการโรงพยาบาลเดิม เพราะเคยมีประวัติการรักษาอยู่แล้ว
- 70% อยากได้รับการอำนวยความสะดวกด้าน แผนการรักษา/การติดตามผลการรักษา และกว่า 50% ต้องการการอำนวยความสะดวกด้าน การส่งต่อ/เคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล/การเดินเอกสาร
- 74% มีทัศนคติต่อการเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาลของระบบสาธารณสุขไทยว่า ไม่รวดเร็ว ไม่ทันการณ์
- 83% คิดว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากรอการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งมีสาเหตุจากการเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาล
- 98% เห็นด้วยเกี่ยวกับประโยชน์ของการส่งต่อประวัติข้อมูลการรักษาพยาบาลระหว่างโรงพยาบาล
นอกจากนี้เรายังได้พูดคุย และได้รับความเห็นจากแพทย์ในสาขาวิชาต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการ Health Link
“จะดีแค่ไหน ถ้าเราตรวจคนไข้อยู่ที่จังหวัดนึง แล้วสามารถดูประวัติการรักษาเดิมของคนไข้จากอีกจังหวัดนึงได้ทันที โดยที่ไม่ต้องให้คนไข้หรือญาติ เดินทางไปขอประวัติและเอกสารการรักษาด้วยตนเอง ช่วยประหยัดเวลาคนไข้และญาติ และทำให้สามารถรักษาได้เร็วที่สุด”
นายแพทย์ วทัญญู ตั้งศิริอำนวย แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
“อุบัติเหตุทางถนน คุกคามคนไทยทุกที่ทุกวัน ถ้าหมอพยาบาลและกู้ชีพสามารถเห็นข้อมูลประวัติคนไข้บาดเจ็บฉุกเฉินเหล่านี้ จากจุดเกิดเหตุ ผ่านโรงพยาบาล ถึงศูนย์อุบัติเหตุ จะช่วยในการดูแลรักษาและนำไปสู่การลดจำนวนของผู้เสียชีวิตลงได้อย่างแน่นอน”
นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน
“เวลาที่เจอคนไข้มะเร็งหรือโรคอื่น ๆ ที่ต้องเปลี่ยนรพ. รักษา ตามสิทธิหรือความจำเป็นอื่น แต่ต้องมาช้าเพราะต้องกลับไปตามประวัติการรักษามันก็ทำให้แพทย์ลำบากใจค่ะ หากมีระบบที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ จะช่วยคนไข้ได้อีกเยอะค่ะ”
แพทย์หญิงฐิติภรณ์ ตวงรัตนานนท์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
“หนึ่งใน Pain Point ของหมอแทบทุกคน คือการขาดการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพระหว่างสถานพยาบาล การแก้ปัญหาตรงนี้ได้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทย”
นายแพทย์ ประกาศิษฐ์ คะระวานิช สูตินรีแพทย์
แม้ว่าไอเดียของแพลทฟอร์ม Health Link จะได้รับการสนับสนุนจากทั้งแพทย์และประชาชน แต่การทำให้เกิดขึ้นจริงนั้นเต็มไปด้วยความท้าทาย เราถูกปรามาสตั้งแต่วันแรกที่เริ่มคิดจะทำว่า “ทำไม่สำเร็จหรอก ประเทศพยายามทำสิ่งนี้มา 20 ปีแล้ว ยังไม่สำเร็จ GBDi เป็นแค่หน่วยงานใหม่ ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงการนี้ คนส่วนใหญ่ก็เป็นคนรุ่นใหม่ จะไปทำได้ยังไง”
โชคดีที่ทีมของเรามีความเข้มแข็งมาก 1 ปีผ่านไป เราพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่าเราทำสำเร็จ
ตอนนี้ Health Link เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนกค.ที่ผ่านมา ก่อนกำหนดการจริง ๆ คือตอนปลายปี 2021 นี้เสียอีก แน่นอนว่าเรายังทำตามเป้าหมายในระยะที่ 1 ได้ไม่สมบูรณ์ 100% เช่น เรายังเชื่อมต่อกับโรงพยาบาล 100 แห่งไม่ครบ แต่อะไรที่เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด เราก็ทำไปก่อน เปิดบริการให้ประชาชนได้มาใช้ประโยชน์ในส่วนที่ใช้ได้จริงแล้วไปก่อนเลย
ซึ่งความท้าทายที่เราเจอมามีอะไรบ้าง เราขอมาแชร์ประสบการณ์บางส่วนให้ฟังกัน
จากความท้าทาย…สู่ความสำเร็จ
1. การส่งข้อมูลในระบบ Health Link
การจะนำข้อมูลประวัติการรักษาผู้ป่วยจากหลากหลายโรงพยาบาลมาเชื่อมโยงเข้าหากัน ส่งต่อให้กันได้ จำเป็นต้องอาศัยการแปลงข้อมูลให้เป็นมาตรฐาน เป็นรูปแบบเดียวกัน ซึ่งในประเทศไทยแต่ละโรงพยาบาลใช้ระบบการเก็บข้อมูลคนละโปรแกรม คนละมาตรฐาน หรือถึงแม้บางที่จะใช้โปรแกรมเดียวกัน แต่ก็มีการปรับแต่ง Customize ไปตามความถนัด ตามรูปแบบเอกสารที่เก็บข้อมูล ทำให้แทบไม่มีโรงพยาบาลใดที่ใช้มาตรฐานเดียวกันเป๊ะเลย ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยมีหลายประเภทมาก ๆ เช่น ข้อมูลการแพ้ยา การจ่ายยา การวินิจฉัยโรค การฉีดวัคซีน การผ่าตัด การเข้ารับการรักษา ฯลฯ แต่ละโรงพยาบาลก็มีการใช้รหัสผลิตภัณฑ์ รหัสยา ชื่อแผนก ชื่อหัวข้อ ประเภทไฟล์ ฯลฯ แตกต่างกันไป
“การเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากัน เลยถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เราแทบต้องทำแบบ 1 ต่อ 1 กับทุกโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ใช้ทั้งพลัง ทักษะเฉพาะ และเวลา เพื่อแปลงข้อมูลแต่ละประเภทให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่งต่อถึงกันได้ในระบบ”
มีหลายโรงพยาบาลที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือคุณหมอเห็นความสำคัญ เห็นถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ อยากนำส่งข้อมูลเข้าระบบ อยากช่วยกันผลักดันโครงการนี้ แต่ปรากฎว่าขาดกำลังคนที่จะทำไม่ว่าจะด้านจำนวนคนหรือด้านทักษะเฉพาะที่ต้องใช้ ซึ่งนักพัฒนาของ GBDi เองก็เร่งทำให้โรงพยาบาลอื่น ๆ อยู่ เราจึงทำได้เพียงให้คุณหมอโรงพยาบาลนั้นเป็นผู้ดูข้อมูลจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ในระบบไปก่อน เพราะส่วนนั้นทำได้ง่ายกว่ามาก แล้วค่อย ๆ ไกด์ ค่อย ๆ ช่วยให้โรงพยาบาลนั้นพัฒนาการนำส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบได้เป็นลำดับถัดไป เลยอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าเรื่องนี้มันใช้เวลาเหมือนกัน
ซึ่งถ้าถามว่าแล้วมาตรฐานกลางที่ใช้ใน Health Link ได้มาจากไหน ตอนช่วงเริ่มต้นโครงการ เราได้นัดประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐานข้อมูลสุขภาพกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จากโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ให้มาหารือและกำหนดมาตรฐานและประเภทข้อมูลสุขภาพที่จะนำส่งเข้าระบบในระยะแรกร่วมกัน
2. ความปลอดภัยของระบบ
หลังจากที่โรงพยาบาลแปลงข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานกลางของ Health Link แล้ว ข้อมูลของผู้ป่วยที่ให้ความยินยอมจะถูกนำไปเก็บไว้ที่ถังกลาง พอผู้ป่วยไปหาคุณหมอ ระบบก็จะไปดึงข้อมูลของผู้ป่วยคนนั้นมาแสดงให้คุณหมอดูเพื่อใช้ประกอบในการรักษาต่อไป ฟังดูแล้วเหมือนง่าย แต่ในความเป็นจริง “การออกแบบในทุก ๆ จุดของระบบนั้นเต็มไปด้วยความระมัดระวังขั้นสูงสุด เพื่อให้การทำงานของระบบราบรื่นมากที่สุด ปลอดภัยที่สุดเท่าที่เราทำได้ ข้อมูลของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับที่หนึ่ง”
เรามีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญมากมายทั้งด้านความปลอดภัยของระบบและด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีการทดสอบการเจาะระบบ การตรวจติดตาม (Audit) การใช้ระบบคลาวด์ที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานโลก ที่สำคัญข้อมูลสุขภาพทั้งหมดในระบบจะถูกเข้ารหัส นั่นคือถ้ามีผู้ไม่ประสงค์ดีมาเจาะข้อมูลไปได้จริง ข้อมูลที่เขาเอาไปได้ก็ไม่สามารถอ่านออกได้อยู่ดีเพราะข้อมูลได้ถูกเข้ารหัสไว้ อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า “There are no unhackable systems.” ไม่มีระบบไหนในโลกที่คนเจาะไม่ได้ เราป้องกันอย่างดีที่สุดตามมาตรฐานที่ทั่วโลกใช้กัน
“มีหลายคนนะที่บอกว่าไม่กล้าใช้ Health Link เพราะกลัวข้อมูลรั่วเหมือนข่าวที่เคยอ่าน ถ้ามีแต่คนคิดแบบนี้ ระบบดี ๆ ที่พวกเราตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อทุกคนมันก็ไปต่อไม่ได้ ประเทศก็จะพัฒนาต่อยาก”
เรากลัวได้ กังวลได้ แต่ก็ต้องดูความคุ้มค่าด้วย ดูว่าประโยชน์ที่จะได้รับมีมากกว่าโทษหรือเปล่า ความเป็นไปได้มีมากน้อยขนาดไหน
3. การเข้าร่วมโครงการ
อีกหนึ่งความท้าทายที่เราเจอก็คือ ตอนนี้ประชาชนที่จะเข้าร่วม Health Link ต้องสมัครใช้บริการผ่านแอปฯ เป๋าตังของธนาคารกรุงไทย (คลิกที่นี่ เพื่อดูขั้นตอนการสมัคร) มีหลายคนที่ไม่เข้าใจว่าทำไม หลายคนไม่พอใจ บอกว่า
ทำแบบนี้มันแบ่งชนชั้น คนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีอินเทอร์เน็ตจะทำยังไง
ทำไมต้องมาให้ลงทะเบียน ต้องสแกนหน้า ยุ่งยาก
ทำไมไม่ลิงก์กับบัตรนู้น ไม่เชื่อมกับแอปฯ นี้ ไม่มีข้อมูลนั้น ฯลฯ
ซึ่งทีมเราก็ขอบคุณทุกความเห็นที่ได้รับมา หลาย ๆ อย่างอยู่ในแผนที่เราวางไว้แล้ว หลาย ๆ อย่างทำให้เราได้ไอเดียในการพัฒนาเพิ่มเติม ที่เราเปิดให้ประชาชนมาใช้ในฟีเจอร์ที่พร้อมให้ใช้ได้ก่อน ก็เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้เลย สมัครได้เลย ส่งต่อข้อมูลจากโรงพยาบาลที่พร้อมได้เลย เพราะถ้าจะรอจนเราทำทุกอย่างตามที่ทุกคนต้องการครบก่อน แล้วค่อยเปิดให้บริการ ก็อาจต้องรอไปอีกหลายปี ทุกคนเองก็จะเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ไป
ในอนาคต Health Link มีการวางแผนให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้มากที่สุด
ที่สำคัญ ข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อน เราจึงต้องให้ทุกคนยืนยันตัวตน เพื่อให้มั่นใจว่าคนที่อนุญาตให้นำส่งข้อมูลสุขภาพเหล่านั้นเข้าสู่ระบบคือเจ้าของข้อมูลจริง ๆ ซึ่งการยืนยันตัวตนจากที่ไหนก็ได้นั้น ต้องยืนยันผ่านแหล่งที่เราเชื่อถือได้ เช่น กรมการปกครอง โดยที่แอปฯ เป๋าตังก็มีการทำในส่วนนี้ไว้อยู่แล้ว และเขาก็มีกำลังคนที่จะมาทำงานร่วมกับเราในการเชื่อมโยงระบบเข้าหากัน ในการพัฒนาหน้าจอให้คนกดสมัคร การให้ประชาชนสแกนใบหน้าก็เพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้นของตัวเจ้าของข้อมูลเอง โดยหลังจากที่ประชาชนลงทะเบียนเสร็จแล้ว แอปฯ เป๋าตังจะไปบอกให้ระบบ Health Link รู้ และแพทย์ก็จะมีสิทธิเข้ามาดูข้อมูลสุขภาพของคุณเพื่อใช้ประกอบการรักษาต่อไป
ซึ่งหมายความว่า “ข้อมูลสุขภาพของทุกคนในระบบ Health Link ไม่ได้ไปอยู่บนแอปฯ เป๋าตังใด ๆ ทั้งสิ้น แอปฯ เป๋าตังเข้าถึงข้อมูลของคุณตรงนั้นไม่ได้” ยกเว้นแต่เขาจะได้ข้อมูลนั้นจากช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ระบบของเรา
4. ความร่วมมือ
เวลาเราเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ในช่วงแรกมักจะยากที่จะทำให้คนมาเชื่อในตัวเรา ระบบ Health Link จะเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มีโรงพยาบาลเข้าร่วม หรือถ้าจำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมมีไม่เพียงพอ ประโยชน์ก็จะไม่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ทีมของเราต้องพยายามติดต่อผู้บริหารโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อนำเสนอโครงการ อธิบายประโยชน์ที่ทั้งแพทย์และประชาชนจะได้รับ เราต้องเตรียมตัว ทำการบ้านหนักมาก เพื่อตอบคำถามต่าง ๆ ให้ได้ ทั้งในเชิงเทคนิค การทำงานของระบบ ความปลอดภัยของระบบ ระบบต้องไม่ล่ม ไม่โดนเจาะ ต้องศึกษาทั้งเรื่องของกฎหมาย อ่าน พ.ร.บ. หลายฉบับเพื่อให้สามารถคุยกับนักกฎหมายที่เราไปปรึกษาและไปเจอได้อย่างราบรื่น
การที่โรงพยาบาลจะส่งข้อมูลผู้ป่วยมายังระบบเราถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เขาต้องไว้ใจเราได้ว่าเราสามารถปกป้องข้อมูลผู้ป่วยของเขาได้ เอกสารต่าง ๆ ที่เซ็นร่วมกันจะต้องรัดกุม และระบบของเราต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เราต้องศึกษาเรื่องมาตรฐานข้อมูลทั้งในประเทศไทยและที่ต่างประเทศเขาใช้กัน อนาคตเราจะได้ต่อยอดอะไรได้ง่าย ต้องเรียนรู้คำศัพท์ทางการแพทย์ที่ยากแสนยาก ต้องวางแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อทำให้ระบบเกิดความยั่งยืนไม่ใช่สร้างขึ้นมาเล่น ๆ ฯลฯ
“บางประชุมเราเจอผู้บริหารเป็นสิบ ๆ ท่านเข้ามาฟัง นักกฎหมายยกกันมาทั้งทีม นัก IT เก่ง ๆ แบบรู้ลึกรู้จริง โดนยิงคำถามรัว ๆ เหมือนอยู่ในสงคราม บางคำถามเราตอบไม่ได้ แต่คนในทีมเราตอบได้ตามความรู้เฉพาะทางของแต่ละคน ซึ่งเราประทับใจกับพลังของคนในทีมมาก ทุกคนเต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นและพร้อมฝ่าฟันไปด้วยกัน”
ถามว่าที่เราไปชวนโรงพยาบาลมาเข้าร่วม ทุกที่โอเคหมดเลยเหรอ คำตอบคือ เปล่าเลย ช่วงแรกมันยากมากจริง ๆ บางที่ปฏิเสธเพราะขาดกำลังคน หรือมีเรื่องอื่นที่เขาให้ความสำคัญมากกว่า บางที่กลัวเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ไม่แม้แต่จะยอมฟังเราอธิบาย บางที่กลัวเรื่องเสียผลประโยชน์ บางที่คุณหมออยากทำมากแต่ผู้บริหารไม่อนุมัติ และบางที่ไม่เชื่อว่าเราจะทำได้ ซึ่งสิ่งที่ทีมเราภูมิใจก็คือ หลาย ๆ โรงพยาบาลที่ปฏิเสธเราไปในตอนนั้น วันนี้เขากลับมาหาเรา เพราะเราพิสูจน์ให้เขาเห็นแล้ว
ที่มาของความสำเร็จ
ต้องขอขอบคุณผู้บริหาร GBDi และผู้บริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุน ที่เห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้ และไว้วางใจให้พวกเราทำ รวมถึงคุณหมอและอาจารย์ทุกท่านที่น่ารักมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่แต่ละท่านก็มีภารกิจเยอะมากอยู่แล้ว แต่ยังสละเวลามาช่วยให้คำปรึกษา เข้าใจ เป็นกำลังใจ เข้าร่วมทดสอบ และช่วยผลักดันทั้งในส่วนของโครงการและภายในโรงพยาบาลเอง
ขอบคุณเพื่อน ๆ ในทีมที่เป็นตัวแทนพลังของคนรุ่นใหม่ ที่ถึงแม้จะไม่ได้มีประสบการณ์กันมากมายแต่ก็เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพ ทุกคนมีความตั้งใจ อยากทำเพื่อประเทศ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยการให้ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทใช้ได้จริงแบบเป็นรูปธรรม ขอบคุณที่ไม่ยอมแพ้แม้จะเจออุปสรรคมากมาย บางทีเจอผู้บริหารที่ใจดีก็ดีไป บางทีก็เจอผู้บริหารที่ดุเหลือเกิน เข้มงวดสุด ๆ เราก็ได้แต่บอกคนในทีมว่า การที่เราผ่านคนที่เข้มงวดไปได้ แปลว่าระบบของเรามันดีจริง นอกจากนี้ปีที่ผ่านมาก็มีเรื่องโควิดเข้ามาทำให้ทุกอย่างดีเลย์ บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องมาทำงานร่วมกับเราก็ต้องไปรับมือช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดก่อน ซึ่งคนในทีมก็เข้าใจและพยายามเติมเต็มในส่วนนั้น ทุกคนเจอความกดดัน อดหลับอดนอน แต่ทุกคนก็ช่วยกันผลักดัน มุ่งมั่นทำต่อไปด้วยกัน
“เราได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการทำโครงการนี้ รู้สึกเหมือนโตขึ้นแบบก้าวกระโดด มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร”
นอกจากนี้ต้องขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา Health Link ทั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หน่วยงานในความร่วมมือ ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ให้เงินสนับสนุน ที่เห็นคุณค่าของโครงการนี้และช่วยกันทำออกมาให้ดีที่สุด พยายามแก้ปัญหา หาทางออกร่วมกัน และเอาประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
สุดท้ายนี้ ความสำเร็จของ Health Link จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีคนมาลงทะเบียนใช้ระบบที่มากเพียงพอ
“ถึงแม้ว่า Health Link จะทำมาเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่โครงการไม่ว่าจะดีขนาดไหน ถ้าขาดการสนับสนุนจากประชาชนก็ไม่สามารถไปต่อได้”
มีหลายคนที่บอกว่า แพลทฟอร์มแบบนี้มันควรจะมีมาตั้งนานแล้ว ตอนนี้เราทำให้เกิดขึ้นจริงได้แล้ว ทั้งยังใช้งานฟรีด้วย ก็อยากขอให้ทุกคนช่วยกันผลักดัน ชวนกันมาลงทะเบียนและใช้ระบบนี้จริงเวลาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เราพยายามขอทางโรงพยาบาลให้ช่วยสื่อสารไปยังผู้ป่วยให้มาลงทะเบียน และสื่อสารไปยังแพทย์ของโรงพยาบาลตนเองให้ใช้ระบบ แต่ข้อความเหล่านี้จะไปถึงหรือไม่นั้นเกินขอบเขตที่ทีมเราจะรู้ได้ เลยอยากให้คนที่สมัครแล้ว เวลาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ลองช่วยกันกระซิบถามคุณหมอให้ดูข้อมูลของคุณจากระบบ Health Link กันดูนะคะ สำหรับท่านที่ได้ลงทะเบียนแล้ว และได้ชักชวนคนรอบตัวที่ท่านรักให้มาสมัครร่วมกัน พวกเราขอขอบคุณจากใจจริงค่ะ 😊
ที่มาของความสำเร็จ
“ถ้าสามารถเห็นประวัติการรักษา การผ่าตัดของผู้ป่วย ก็จะช่วยให้หมอฟื้นฟูสามารถวางแผนโปรแกรมการฝึกกายภาพของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม ต่อเนื่องและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นค่ะ”
แพทย์หญิงธนัชชา บุญอาชาทอง แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
“ในฐานะแพทย์ ข้อมูลของผู้ป่วยจาก โรงพยาบาลอื่นมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เราให้การรักษาได้ถูกต้อง ครอบคลุม ปลอดภัย ลดความเสี่ยง เช่น การสั่งยาซ้ำซ้อน ยาที่ผู้ป่วยแพ้ รวมทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการสั่งตรวจวินิจฉัยซ้ำได้อย่างมากอีกด้วย”
นายแพทย์ธนกฤต จินตวร กุมารแพทย์
ฝันให้ไกล และต้องไปให้ถึง
Health Link ไม่ได้จะหยุดอยู่เพียงแค่การต่อยอดการส่งต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทั่วประเทศเท่านั้น เรามีแผนเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเต็มรูปแบบ เช่น เชื่อมต่อกับแอปฯ H4U ที่จะทำให้ทุกคนสามารถดูข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ ซึ่งต้องอาศัยการแปลภาษาแพทย์ให้เป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้เรายังวางโครงสร้างเพื่อเชื่อมต่อกับระบบ Telemedicine หรือการรักษาในระยะไกล เพื่อให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้แม้จะไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน การรักษาในรูปแบบนี้จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมากเพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ให้แพทย์สามารถรักษาได้อย่างตรงจุดที่สุด ซึ่งระบบ Health Link จะมาช่วยในส่วนนี้ได้เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การจะไปเชื่อมกับแอปฯ อื่นได้ เราต้องทำให้ระบบหลักของเรามั่นคงในระดับนึงก่อน เราจะก้าวกระโดดไปเชื่อมต่อกับแอปฯ อื่นแบบสะเปะสะปะไม่ได้ ตอนนี้เรายังอยู่ในขั้นเริ่มต้นที่มีคนมาสมัครหลักหมื่นคนอยู่ ซึ่งการจะทำให้ระบบของเราเกิดอิมแพคกับประเทศจริง ๆ เราตั้งเป้าไว้ว่าภายในปีนี้ต้องมีคนมาลงทะเบียนหลักแสน ปีหน้าหลักล้าน มันถึงจะเห็นผล
ดังนั้น “เราจึงอยากขอความร่วมมือจากทุก ๆ คน ให้ช่วยกันสมัคร ช่วยกันบอกต่อ เพราะเราไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่า อุบัติเหตุ เหตุการณ์ไม่คาดฝัน มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อยากให้ทุกคนมาสมัครกันเอาไว้เลย” ไม่ใช่รอจนกระทั่งต้องไปหาคุณหมอ ระบบนี้เราทำมารองรับกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยหมดสติด้วย ณ เวลาที่คุณตอบอะไรคุณหมอไม่ได้ แต่ถ้าคุณได้ลงทะเบียนอยู่ในระบบนี้แล้ว คุณหมอก็จะสามารถดูข้อมูลของคุณได้ทันที* จะได้หลีกเลี่ยงการให้ยาที่คุณแพ้ หรือปรับรูปแบบการรักษาให้เหมาะสมกับข้อมูลสุขภาพของคุณให้มากที่สุด เราเป็นหนึ่งคนที่ไม่อยากเห็นใครต้องเสียใจ จึงอยากชวนทุกคนสละเวลา 2-3 นาทีในการสมัครตอนนี้ เพื่อที่จะไม่เสียใจภายหลังกันค่ะ
*ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของแต่ละโรงพยาบาลที่นำส่งข้อมูลผู้ป่วย
หากท่านใดมีคำถามเพิ่มเติมหรือต้องการติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของ Health Link มาคุยกับพวกเราได้เลยที่ www.facebook.com/healthlink.go.th ขอบคุณค่ะ 🙂
#ส่งต่อข้อมูลสู่การเชื่อมโยงสุขภาพ #HeatlhLink
#แพลทฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลของคุณสู่มือหมอข้ามโรงพยาบาล
โฆษณา