3 ธ.ค. 2021 เวลา 18:26 • ประวัติศาสตร์
ตัดสินใจผิดชีวิตเปลี่ยน!! ห้าเหตุการณ์ไม่คาดคิด ที่อาจพลิกหน้าประวัติศาสตร์โลกของเราไปตลอดกาล!?
นี่คือเรื่องราวของ ห้าเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะสลักสำคัญอะไรในประวัติศาสตร์ แต่ใครจะคาดคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น อาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ในปัจจุบันได้โดยไม่คาดคิด บางกรณี ถ้าหากตัดสินใจพลาดนิดเดียว ก็อาจนำมาสู่หายนะครั้งใหญ่ และบางกรณี ความผิดพลาดก็นำมาสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่โดยไม่มีใครคาดคิดได้
1. อังกฤษเกือบได้เป็นผู้นำด้านการสำรวจอวกาศ
หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมนี เหล่าบรรดาชาติฝ่ายสัมพันธมิตรต่างเร่งรีบในการจับจองเทคโนโลยีจรวด V2 ของพวกนาซีมาเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศตัวเอง
ภาพถ่ายของ แวร์แฮร์ ฟอน เบราน์ วิศวกรผู้สร้างจรวด V2 ท่ามกลางสมาชิกทหารระดับสูงของนาซีเยอรมัน
โดยเจ้าจรวด V2 คือขีปนาวุธพิสัยไกลอันแรกของโลก และเคยถูกส่งขึ้นไปเพื่อสำรวจอวกาศในปี ค.ศ.1944 เหล่าบวิศวกรจาก British Interplanetary Society พบว่าเจ้าเทคโนโลยีตัวนี้สามารถใช้เพื่อขับเคลื่อนเป็นยานอวกาศได้ และได้เสนอให้มีการดัดแปลงตัวจรวด VS ด้วยการขยายตัวถังแทนที่หัวรบเพื่อใช้เป็นแคปซูลให้นักบินในอนาคต
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอังกฤษในขณะนั้นปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวจากทางสมาคม เนื่องจากรัฐบาลเป็นหนี้ก้อนโตหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง และปฏิเสธข้อเสนอในการสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซึ่งถ้าหากในตอนนั้น รัฐบาลอังกฤษตอบตกลง บางทีในอนาคตข้างหน้า อังกฤษอาจได้เป็นชาติที่ส่งมนุษย์ขึ้นไปสำรวจอวกาศเป็นคนแรก
แวร์แฮร์ ฟอน เบราน์ ที่ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ เชิญตัวมาร่วมโครงการสำรวจอวกาศ
ต่อมา แวร์แฮร์ ฟอน เบราน์ วิศวกรผู้ออกแบบจรวด V2 ได้ถูกว่าจ้างจากรัฐบาลสหรัฐฯ และเขาได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการสำรวจอวกาศช่วงต้นทศวรรษที่ 1960
ภาพถ่ายจรวด V2 เทคโนโลยีระดับสูงของเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรล้วนหมายปอง
2. กล้องส่องทางไกลที่หายไป
ก่อนการเดินเรือไททานิคเป็นครั้งแรก เจ้าหน้าที่เรือ เดวิด แบลร์ ได้ลาออกจากตำแหน่งลูกเรือไททานิค และประเด็นก็คือ เขาลืมมอบกุญแจล็อคเกอร์เก็บกล้องส่องทางไกล ให้กับเจ้าหน้าที่คนใหม่ที่มาแทนเขา และถ้าไม่เกิดปัญหานี้ขึ้น เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์บนหอคอยเรือจะมีกล้องส่องทางไกลเอาไว้สำรวจเส้นทางที่อยู่ไกลจากระยะสายตาของมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มก้อนภูเขาน้ำแข็ง ที่ถือว่าเป็นอุปสรรค์สำคัญในการเรือ
เดวิด แบลร์ และกุญแจล็อคเกอร์เก็บกล้องส่องทางไกลที่เป็นประเด็น
เมื่อไม่มีกล้องส่องทางไกล จึงทำให้เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ไม่สามารถมองเห็นภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ไกลเกินระยะสายตามนุษย์ได้ล่วงหน้า เพื่อแจ้งเตือนก่อนที่เรือจะพุ่งชนภูเขาน้ำแข็งได้ทันท่วงที
ซึ่งลูกเรือไททานิคที่รอดชีวิตจากอุบัติเหตุเรือชนกับภูเขาน้ำแข็งได้เคยพูดเรื่องนี้ว่า ถ้าหากตอนนั้นพวกเขามีกล้องส่องทางไกล ก็น่าจะแจ้งเตือนกัปตันเรือได้ทันเวลาก่อนที่เรือจะพุ่งชนกับภูเขาน้ำแข็งในเวลาต่อมา
บางทีถ้าตอนนั้น เดวิด แบลร์ มอบกุญแจล็อคเกอร์เก็บกล้องส่องทางไกลให้ จนท.คนใหม่ เรือไททานิคอาจไม่อับปางก็เป็นได้
3. ญี่ปุ่นไม่ยอมจำนน
ในวันที่ 15 สิงหาคม คศ.1945 จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ได้ประกาศให้จักรวรรดิญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร และนำมาสู่การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง พร้อมกันนี้ จักรพรรดิฮิโรฮิโตะได้สั่งให้กองทัพยอมวางอาวุธ แต่ว่า กองบินอัตสุกิ ที่ 302 และ กองบินโยโกสุกะ ปฏิเสธคำสั่งดังกล่าว โดยทั้งสองกองบินกล่าวว่า ตราบใดที่จดหมายยอมจำนนยังไม่ได้รับการลงนาม นั่นหมายความว่าญี่ปุ่นยังมีสิทธิในการต่อสู้กับศัตรู
ภาพถ่ายเคียงคู่กันระหว่าง นายพลดักลาส แม็คอาเธอร์ และจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ หลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง
ต่อมา นายพลดักลาส แม็คอาเธอร์ ได้สั่งให้เครื่องบินทิ้งระเบิด B-32 Dominator จำนวนสี่ลำ โปรยคำสั่งหยุดยิงเหนือกรุงโตเกียว เมื่อภารกิจดำเนินมาถึงช่วงวันที่สองและสาม เครื่องบินรบญี่ปุ่นจากกองบินอัตสุกิ ที่ 302 และ กองบินโยโกสุกะ ได้เข้ามาโจมตีเครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายอเมริกันที่กำลังโปรยคำสั่งหยุดยิง จนเป็นเหตุให้ จ่าแอนโธนี เจ. มาชิโอเน เสียชีวิตจากการถูกโจมตี และทำให้เขากลายเป็นทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรคนสุดท้ายที่เสียชีวิตในสงคราม
เมื่อทราบข่าว นายพลดักลาส แม็คอาเธอร์ เกิดความลังเลใจว่าการโจมตีดังกล่าว มาจากกลุ่มทหารแตกแถวของญี่ปุ่น หรือว่าเป็นความตั้งใจของญี่ปุ่นเองที่ยังไม่ยอมแพ้ เลยทำให้เขาตัดสินใจไม่ตอบโต้ในการกระทำดังกล่าว และตัดสินใจรอว่าคณะผู้แทนจากญี่ปุ่นจะมาลงนามเพื่อยอมจำนนตามกำหนดการณ์ที่วางเอาไว้หรือไม่ ซึ่งภายหลังคณะผู้แทนจากญี่ปุ่นได้มาลงนามเพื่อยอมจำนนตามที่ได้นัดหมายเอาไว้จริง
แอนโธนี เจ. มาชิโอเน ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรคนสุดท้ายที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่สอง
โดยภายหลัง ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวของนายพลแม็คอาเธอร์ เป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากเขาได้หลีกเลี่ยงในการกลับมาเปิดฉากโจมตีญี่ปุ่นอีกครั้งด้วยระเบิดปรมาณูลูกที่สาม และนั่นอาจทำให้มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า
ถ้าหากตอนนั้น นายพลดักลาส แม็คอาเธอร์ ตัดสินใจตอบโต้ บางทีญี่ปุ่นอาจถูกโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูลูกที่สาม ต่อจากที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ ก็เป็นไปได้
4. หนังสือที่เกือบไม่ได้ตีพิมพ์
ราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society) ถูกก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1660 และกล่าวได้ว่านี่คือสถาบันวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก และได้ตีพิมพ์หนังสือที่ทรงอิทธิพลหลายเล่มในเวลาต่อมา และหนึ่งผลงานวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการตีพิมพ์ก็คือ หนังสือ 'Principia Mathematica' ของ เซอร์ ไอแซค นิวสตัน ผู้สร้างแคลคูลัส และค้นพบกฏแรงโน้มถ่วงของโลก
เซอร์ ไอแซค นิวสตัน ผู้เขียนหนังสือ Principia Mathematica
ที่อธิบายถึงกฎการเคลื่อนที่และแรงโน้มถ่วง แต่การตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เกือบถูกยกเลิกและทำให้หน้าประวัติศาสตร์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเพราะภาพวาดปลามีปีกภาพนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้มีแนวคิดที่แปลกแยกและล้ำลึกเกินกว่าที่คนในยุคนั้นจะเข้าใจได้
ภาพวาดปลามีปีก ในหนังสือ Principia Mathematica ที่เกือบเป็นปัญหา
ในปี ค.ศ.1686 ราชสมาคมลอนดอน ได้รวมรวมภาพประกอบราคาแพง รวมไปถึงภาพวาดปลามีปีกไว้ในหนังสือ ‘Historia Piscium’ เพื่อนำออกมาจำหน่าย แต่กลับไม่ได้รับความสนใจหรือมียอดขายที่ดีนัก จนเกือบทำให้สำนักพิมพ์ต้องล้มละลาย และไม่มีเงินทุนสำหรับการเขียนหนังสือเล่มใหม่ของเซอร์ไอแซค นิวสตัน
เอ็ดมอนด์ ฮัลเลย์ นักดาราศาสตร์ ที่ต่อมาได้ค้นพบดาวหางฮัลเลย์
ภายหลัง เอ็ดมอนด์ ฮัลเลย์ (ผู้ที่ทำนายการปรากฏตัวของดาวหางฮัลเลย์) นักดาราศาสตร์ชื่อดังของอังกฤษในยุคนั้นมองเห็นความสำคัญ และได้ใช้เงินส่วนตัวสนับสนุน จนทำให้หนังสือ 'Principia Mathematica' ได้ถูกตีพิมพ์ในท้ายที่สุด และมันได้กลายเป็นหนังสือที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้การยกย่องว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางสติปัญญาชิ้นหนึ่งเท่าที่โลกเคยมีมา เป็นหนังสือที่ดีที่สุดในวงการวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ และเปลี่ยนทัศนคติของคนในยุคต่อมาว่า จักรวาลที่เคยมีพระเจ้าเป็นผู้ควบคุมทุกสรรพสิ่ง ให้กลายมาเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายถึงความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์
1
นอกจากนี้ หนังสือ 'Principia Mathematica' ยังเป็นพื้นฐานของวิชากลศาสตร์ ที่ได้ต่อยอดแตกแขนงไปถึงเรื่องแรง พลังงาน การเคลื่อนที่ และทำให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีจักรกล จนนำมาสู่ยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษและยุโรปในภายหลังอีกด้วย
1
หนังสือ Principia Mathematica หนังสือวิทยาศาสตร์ที่ภายหลังได้รับการยกย่องจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก
5. ความผิดพลาดที่นำมาสู่การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่
เซอร์อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง นักชีววิทยาและนักพฤกษศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ได้รับการยกย่องจากการค้นพบยาเพนิซิลิน (Penicillin) ในปี ค.ศ.1928 โดยมันคือยาปฏิชีวนะตัวแรกที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และคาดว่าจะสามารถช่วยชีวิตผู้คนทั่วโลกราว 100 – 200 ล้านคนจากโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนโดยที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้
เซอร์อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ผู้ค้นพบยาเพนิซิลิน จากการทดลองที่ผิดพลาดโดยบังเอิญ
อย่างไรก็ตาม การค้นพบยาเพนิซิลีน ไม่ได้เกิดจากผลลัพธ์จากการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม แต่มันเกิดจากความผิดพลาด ที่กลับกลายเป็นผลดี และหากไม่เกิดความผิดพลาดนี้ หน้าประวัติศาสตร์วงการแพทย์ของโลกอาจเปลี่ยนไปอีกรูปแบบหนึ่ง
โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากการที่ เซอร์เฟลมมิงกำลังจะไปพักรอน และเขาได้จัดจานเพาะเชื้อแบคทีเรีย 'Staphylococcus' ที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บคอและฝี โดยที่ตัวเซอร์เฟลมมิงไม่ทราบว่าจานทดลองลองถูกปนเปื้อนด้วยราสีเขียวแกมน้ำเงินจากหน้าต่างที่ถูกเปิดอยู่ในห้องแลป
บางครั้งความผิดพลาด ก็นำมาสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ได้
หลังจากกลับมาจากพักร้อน เซอร์เฟลมมิงได้สังเกตว่าเชื้อราที่กำลังเติบโตนั้นกำลังหลั่งของเหลวที่สามารถฆ่าเชื้อราที่อยู่รายรอบได้ได้ ต่อมาเขาได้นำถาดเพาะเชื้อชิ้นนั้นไปเพาะเลี้ยงต่อ และพบว่าเชื้อราตัวใหม่สามารถฆ่าแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคร้ายหลายชนิด และภายหลังเขาได้ตั้งชื่อสารนั้นว่า เพนิซิลิน (Penicillin) ที่ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของการแพทย์สมัยใหม่ และเป็นยุคของการใช้ยาปฏิชีวนะ และตัวยาเพนิซิลินนี้ได้ช่วยเหลือชีวิตผู้คนหลายล้านคนจนถึงปัจจุบัน จนทำให้เซอร์เฟลมมิงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปี ค.ศ.1945 และได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินชั้นเซอร์ จากพระเจ้าจอร์จที่ 6 ของอังกฤษ
เพนิซิลิน (Penicillin) ยาปฏิชีวนะที่ช่วยเหลือผู้คนได้หลายล้านคนทั่วโลก
ข้อมูลจาก : YOUTUBE/DARK5, WIKIPEDIA
โฆษณา