3 ม.ค. 2022 เวลา 02:44 • การศึกษา
ผู้ดื่มรสแห่งธรรม
หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้มาก แต่เป็นผู้ไม่ทำกรรมที่บุคคลพึงกระทำ เป็นผู้ประมาทแล้วไซร้ นรชนนั้นย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ประดุจนายโคบาลนับโคของชนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีส่วนแห่งปัญจโครส ฉะนั้น
1
มนุษย์ทุกคนต่างแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง ธรรมกาย คือ สิ่งที่ประเสริฐสุดสำหรับชีวิต ผู้ใดเข้าถึงธรรมกาย ได้ชื่อว่าประสบความสุขและความสำเร็จในการเกิดมาเป็นมนุษย์ และไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ใด ก็ล้วนสามารถเข้าถึงธรรมกายได้ เพราะธรรมกายมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน จะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการเดียวเท่านั้น คือ การทำใจให้หยุดนิ่ง นั่นเอง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า….
"หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้มาก แต่เป็นผู้ไม่ทำกรรมที่บุคคลพึงกระทำ เป็นผู้ประมาทแล้วไซร้ นรชนนั้นย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ประดุจนายโคบาลนับโคของชนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีส่วนแห่งปัญจโครส ฉะนั้น
หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้น้อย ย่อมประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ทั่วโดยชอบ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว ไม่ถือมั่นในโลกนี้หรือในโลกหน้า นรชนนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ"
อมตธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้เพียงบทเดียว หากบุคคลใดตั้งใจฟัง แล้วนำมาไตร่ตรองด้วยปัญญาและลงมือปฏิบัติตาม ย่อมทำให้บุคคลนั้นบรรลุธรรมของพระพุทธองค์ได้ เพราะทุกถ้อยคำที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ล้วนกลั่นออกมาจากกลางพระธรรมกายที่บริสุทธิ์ ทุกถ้อยคำจึงออกมาจากแหล่งของความรู้อันบริสุทธิ์ หากเราตั้งใจฟังด้วยใจที่เป็นกลางๆ ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ย่อมจะเป็นเหตุให้บรรลุธรรมาภิสมัยได้อย่างอัศจรรย์
ถ้าบุคคลใดร่ำเรียนแต่ภาคทฤษฎี แม้จะฟังมามาก ที่เรียกว่ามี สุตมยปัญญา มีปัญญาเกิดจากการฟัง หรือคิดไตร่ตรองด้วยปัญญาของมนุษย์ ที่เรียกว่า จินตมยปัญญา และมัวประมาทว่าเป็นผู้รู้มาก คิดว่าตนเป็นพหูสูต แล้วไม่ยอมลงมือปฏิบัติเพื่อให้ได้ ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการรู้แจ้ง ย่อมไม่สามารถเห็นธรรมไปตามความเป็นจริงได้ สามัญญผล คือ ผลที่ได้รับจากการบำเพ็ญสมณธรรม ย่อมจะไม่บังเกิดขึ้นด้วย
สำหรับผู้ที่ศึกษาด้านปริยัติ จนแตกฉานในคำสอนของพระพุทธองค์ ทั้งลงมือปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เช่นนี้ผู้รู้ทั้งหลายทรงสรรเสริญ เปรียบเสมือนเจ้าของโคที่ได้ดื่มปัญจโครส คือ ได้ดื่มรสแห่งธรรม ซึ่งผู้ที่ศึกษาปริยัติแล้ว นำมาปฏิบัติ จนเกิดปฏิเวธ คือ ได้รับผลแห่งการปฏิบัติสมควรแก่ธรรม พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า "บุคคลนั้นเป็น ธรรมทายาท" คือ ทายาทผู้สืบทอดวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
1
ในสมัยพุทธกาล มีกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถี ๒คน ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่เด็ก วันหนึ่ง เขาทั้งสองได้ชวนกันไปฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากฟังจบแล้ว ทั้งคู่เกิดความเลื่อมใส จึงชวนกันบวชอุทิศชีวิตในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชได้ ๕พรรษา จึงไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อทูลถามถึงธุระในพระพุทธศาสนา
พระพุทธองค์ได้ตรัสบอกธุระในพระพุทธศาสนาว่า มี ๒อย่าง คือ คันถธุระ หมายถึง การศึกษาพระพุทธพจน์ เช่น พระวินัยและพระสูตรต่างๆ อีกประการหนึ่งคือ วิปัสสนาธุระ หมายถึง การประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ เมื่อภิกษุทั้งสองรูปรับโอวาทจากพระบรมศาสดาแล้ว ต่างแยกย้ายกันไปปฏิบัติธุระตามความพอใจของตน
ภิกษุรูปหนึ่งคิดว่า จะศึกษาพระพุทธพจน์ให้แตกฉาน จึงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนทางด้านคันถธุระ จนมีความเชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎก ได้เป็นอาจารย์สอนพระที่บวชใหม่ จนมีลูกศิษย์มากมาย
ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งคิดว่า ตนเองบวชตอนที่มีอายุมาก จึงศึกษากิจทางวิปัสสนาธุระ โดยหลีกเร้น ออกแสวงหาที่วิเวกเพื่อปรารภความเพียร เป็นผู้ไม่ประมาทในการฝึกฝนอบรมจิตของตน ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ บางครั้งมีภิกษุผู้ยังไม่หมดกิเลสมาหาท่าน ท่านได้แนะนำวิธีการปฏิบัติธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น เมื่อเหล่าภิกษุปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าน ต่างได้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันมากมาย
เมื่อลูกศิษย์ของพระอรหันต์ จะเดินทางไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้สั่งลูกศิษย์ให้แวะเยี่ยมนมัสการเพื่อนภิกษุของท่าน ซึ่งสอนธรรมะอยู่ในสำนักของพระบรมศาสดา ลูกศิษย์ของท่านพากันทำตามที่พระอาจารย์สั่ง ครั้นมีลูกศิษย์ของพระอรหันต์แวะมาเยี่ยมนมัสการมากขึ้น ภิกษุรูปนั้นเกิดความสงสัยขึ้นว่า "เพื่อนของเราเข้าไปอยู่ในป่า ไม่ได้เรียนรู้พระไตรปิฎกเลย แต่ทำไมมีลูกศิษย์ลูกหามากมายเช่นนี้ ถ้ามีโอกาสเราจะต้องลองซักถามปัญหาธรรมะ ดูว่ามีภูมิธรรมอะไรบ้าง"
ต่อมา พระอรหันตเถระได้เดินทางมาเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนภิกษุจึงคิดจะถามปัญหาเพื่อเบียดเบียนพระเถระ พระบรมศาสดารู้วาระจิตของภิกษุนั้น ทรงดำริว่า "ภิกษุผู้เป็นสมมติสงฆ์ไม่รู้คุณแห่งพระอรหันต์ กำลังจะเบียดเบียนด้วยความคิดอกุศล ถ้าเราไม่ให้สติแก่เธอ เธอก็จะเข้าถึงซึ่งนรก" พระพุทธองค์จึงเสด็จไปในที่นั้น ตรัสถามถึงผลการปฏิบัติธรรมของภิกษุทั้งสองรูป ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป จนถึงคุณธรรมเบื้องสูง คือ การบรรลุอรหัตผล
ภิกษุผู้ที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถตอบได้แม้แต่ข้อเดียว จึงนั่งก้มหน้านิ่งอยู่ ส่วนภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมจนเป็นพระอรหันต์ สามารถตอบปัญหาธรรมได้ทุกข้อ อย่างแจ่มแจ้งฉะฉานไม่มีติดขัด พระพุทธองค์จึงทรงสรรเสริญ ชื่นชม อนุโมทนาสาธุการพระเถระ แม้เหล่าเทพยดา ตั้งแต่ภุมมเทวา รุกขเทวา อากาสเทวา ชาวสวรรค์ทุกชั้น ไปจนถึงพรหมโลก ต่างให้สาธุการดังกึกก้องไปทั่ว
เหล่าลูกศิษย์ของพระภิกษุผู้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม ต่างพากันโพนทะนาว่า พระพุทธเจ้าสรรเสริญผู้ที่ไม่ควรสรรเสริญ ส่วนอาจารย์ของตนเป็นผู้รู้ธรรมะมากกว่าสอนธรรมะ จนกระทั่งมีลูกศิษย์มากมาย กลับไม่ได้รับการสรรเสริญ
พระพุทธองค์ตรัสเตือนภิกษุเหล่านั้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ของพวกเธอ เป็นเช่นบุคคลผู้เลี้ยงโคของผู้อื่น เพื่อให้ได้ค่าจ้างในศาสนาของเรา ส่วนบุตรของเรา เป็นเช่นเจ้าของโค ผู้บริโภคปัญจโครสได้ตามความชอบใจ" ได้ตรัสพระคาถาว่า...
"หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์ ที่มีประโยชน์เกื้อกูลแม้เล็กน้อย แต่เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม เขาละราคะ โทสะและโมหะได้แล้ว เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดมั่นในโลกนี้และโลกหน้า ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญญผล"
การที่บุคคลรู้ธรรมมาก แต่ไม่ยอมประพฤติธรรม ย่อมไม่ได้รับผลแห่งการปฏิบัติธรรม ส่วนบุคคลผู้รู้ธรรมแม้เพียงเล็กน้อย แต่ตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง ย่อมจะได้รับผลของการปฏิบัตินั้น และได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้น ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ถือว่าเป็นการช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไปอีกด้วย
ธรรมะทุกบทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าหากผู้ศึกษาตั้งใจนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ ย่อมสามารถบรรลุธรรมได้ทั้งสิ้น เพราะธรรมะของพระพุทธองค์เป็นธรรมะเพื่อความดับทุกข์ เพื่อให้เข้าถึงบรมสุขที่แท้จริง เราเรียนธรรมะเพื่อต้องการดับทุกข์ ดับกิเลสที่มีอยู่ในใจ ไม่ใช่เรียนไว้เพื่อโอ้อวดยกตนข่มท่าน หรือหวังจะให้คนอื่นชื่นชมว่าเราเป็นผู้รู้มาก การเรียนธรรมะไม่ได้มีวัตถุประสงค์เช่นนั้น เราเรียนเพื่อให้พ้นทุกข์ เพื่อให้เกิดความเห็นชอบ
ความเห็นชอบหรือความเห็นถูก คือ ต้องเห็นที่ตรงกลางที่เดียว ถ้าไม่ถูกกลางก็ยังไม่ถูกต้อง ถ้าถูกกลางก็จะเห็นธรรม ที่เห็นได้เพราะหยุด เมื่อหยุดก็สว่าง เมื่อสว่างจึงเห็น ดังนั้น ถ้าจะให้ความเห็นถูกต้องสมบูรณ์ ต้องนำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่๗ เมื่อหยุดถูกส่วนย่อมเห็นธรรมกาย ถ้าเห็นถูกตรงนี้ได้ ก็จะถูกไปตลอด ตั้งแต่ต้นจนเป็นพระอรหันต์
พวกเราจงอย่าปล่อยให้วันเวลาที่มีค่า ผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ หรือสูญเสียไปกับเรื่องไร้สาระ ชีวิตของมนุษย์นั้นสั้นนัก เราควรจะใช้เวลาที่มีอยู่แสวงหาธรรมะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐสูงสุดในชีวิต ขณะนี้เราเป็นเจ้าของเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น ควรจะใช้เวลาทุกอนุวินาทีให้เป็นไปเพื่อการสร้างบารมี เพื่อฝึกใจให้หยุดนิ่งให้เข้าถึงธรรมกายให้ได้
การทำใจให้หยุดนิ่ง เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต เป็นงานทางใจเพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ซึ่งเป็นงานหลักของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ดังนั้น พวกเราต้องตั้งใจฝึกใจให้หยุดนิ่งกันทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๙๒ – ๑๐๑
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ภิกษุ ๒ สหาย เล่ม ๔๐ หน้า ๒๐๙
1
โฆษณา