5 ธ.ค. 2021 เวลา 06:33 • ท่องเที่ยว
“พระนครคีรี” ในวันที่ลั่นทมห่มพริบพรี (1) .. หมู่พระรามณเฑียร
เพชรบุรี เมืองที่มีคำขวัญว่า "เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะทะเลงาม” ..
น่าสนใจที่รู้มาว่า เพชรบุรีนั้น เดิมมีชื่อเรียกที่น่ารักว่า เมืองพริบพรี ..
เมืองเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีชื่อปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งสมัยสุโขทัยและมีหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงสมัยขอมและสมัยทวารวดี ทั้งยังเคยเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญชั้นเมืองลูกหลวงในสมัยอยุธยา … เป็นเมืองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ เนื่องจากอากาศดี มีทัศนียภาพสวยงาม จึงไม่แปลกที่เพชรบุรีจะได้รับอีกสมญานามว่า “เมืองสามวัง” เพราะมีพระราชวังถึงสามแห่งด้วยกัน
พระราชวังที่รู้จักและคุ้นเคยกันดีในเพชรบุรี ก็คือ “เขาวัง” ซึ่งเดิมนั้นเขาลูกนี้มีชื่อว่าเขาคีรี และต่อมาในสมัยอยุธยามีผู้มาสร้างวัดไว้ที่เชิงเขา และให้ชื่อวัดว่า วัดมหาสมณะ ชาวบ้านจึงเรียกภูเขาลูกนี้ว่าเขามหาสมณะไปด้วย .. ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี และทรงพอพระราชหฤทัยบรรยากาศและธรรมชาติบนเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นใน พ.ศ. 2402 และพระราชทานนามให้เขาลูกนี้ใหม่ว่า เขามหาสวรรค์ และเรียกพระราชวังแห่งนี้ "พระนครคีรี" คนทั่วไปเรียกว่า “เขาวัง” ที่ถือเป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี
พระบาทสมเด็จพระจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) เป็นแม่กองก่อสร้าง ใน พ.ศ. 2403 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เสด็จมาดูความก้าวหน้าของการก่อสร้าง จากนั้นใน พ.ศ. 2404 พระองค์จึงเสด็จมาประทับที่พระนครคีรีอย่างเป็นทางการ และเสด็จมาประทับแรมอีกหลายครั้ง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาประทับที่พระนครคีรีเป็นครั้งคราว แต่หลังจากรัชสมัยของพระองค์เป็นต้นมา พระนครคีรีไม่ได้ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์อีก ในรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมพระราชวังแห่งนี้ ด้วยเป็นพระราชวังที่มีค่าทางประวัติศาสตร์ และได้รับการประกาศให้เป็น “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม
พระราชวังบนเขาสูงแห่งนี้ นับเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเพชรบุรีเช่นเดียวกับต้นตาลโตนดจนมีคำ กล่าวว่าหากมีโอกาสมาเมืองเพชรบุรีแล้วไม่ได้ขึ้นเขาวัง ก็ดูเหมือนยังมาไม่ถึงเมืองเพชรบุรี
การขึ้นชมเขาวังมีวิธีให้เลือกไปชม 2 วิธีด้วยกัน .. วิธีแรกสำหรับผู้มาเยือนที่คิดว่าเหนื่อยนักที่จะปีนเขา ลูกนี้ซึ่งสูงถึง 76 เมตร ทางเขาวังก็มี รถรางไฟฟ้า ไว้คอยให้บริการทางด้านหลังเขา แต่ถ้าหากต้องการชมรายละเอียดของหนทาง ขอแนะนำให้เดินขึ้นไป ในระหว่างทางเดินท่านยังจะได้ทักทาย กับเจ้าของถิ่นเดิม คือบรรดาลิงทั้งหลายเป็นการสร้างความเพลิดเพลินอีกอย่างหนึ่งด้วย
เนื่องจากเขาวังตั้งอยู่บนภูเขาขนาดย่อม ทางเดินภายในบริเวณเขาวังจึงไม่คดเคี้ยวไปมา ให้ผู้มาเยือนได้เดินแบบผ่อนคลายบนความชันที่ไม่มาก หากแต่ความไม่ใหญ่โตของเขาวังนี่เอง ทำให้ทางเดินขึ้นตั้งอยู่บนความชัน (Slope) ที่เอาเรื่องทีเดียว หากกำลังขา กำลังเข่าไม่ดีก็อาจก่อปัญหากับการขัดขืนแรงโน้มถ่วงของโลกที่คอยจะฉุดรั้งเหมือนไม่อยากให้เราเดินทางไปถึงจุดหมายได้ง่ายๆเหมือนกัน
พระนครคีรี .. ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่ง หอ ศาลา วัดพระแก้ว และเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี
จุดหมายแรกของการเยือนเขาวังคือ หมู่พระราชฐาน .. หลังจากออกจากรถราง แล้วเดินมาตามทางเดิน ก่อนจะขึ้นไปยังเนินชั้นบนอันเป้นที่ตั้งของหมู่พระราชฐาน เราได้พบกับความร่มรื่นของกลุ่มต้นลั่นทม มากมายที่ปลูกเป็นแนวตามถนนทางเดินมาตั้งแต่ครั้งเมื่อสร้างพระนครคีรีแห่งนี้ ซึ่งในเวลาที่เราไปเยือนอยู่ในช่วงผลัดใบ .. แต่เส้นสายสวยงาม น่าเก็บภาพมาก
หากไปเยือนเขาวังในช่วงฤดูหนาว ยามเมื่อลั่นทมสลัดใบทิ้งสู้สายลมเย็น และชูช่อ อวดดอกที่บานอยู่ปลายก้านเปลือย สวยงามแปลกตา … รับรองว่าคุณจะหลงรักลั่นทมที่โอบกอดยอดเขาวัง โดยไม่เหนียมอายเลยล่ะค่ะ
ความสวยงามของการจัดตกแต่งบันไดทางเดินขึ้นไปยังชั้นบน ที่สร้างในสถาปัตยกรรมแบบจีน ด้วยการประดับประดาด้วยกระถางลายครามที่ปลูกต้นบอนไซเรียงเป็นแถวลดหลั่นกันไปตามขั้นบันไดจนสุดทางเดินลงนั้น ทำให้เราต้องหยุดเพ่งพิศ และยกกล้องขึ้นกดชัตเตอร์แบบรัวๆ
เส้นสายสุดสวยปลายบันได … เสน่ห์คลาสสิกอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมไทยผสมฝรั่งและจีนของสิ่งก่อสร้างที่เขาวัง
เรากำลังจะเข้าไปชมในเขตหมู่พระราชมณเฑียร .. ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาทางทิศตะวันตก ประกอบด้วย พระที่นั่งหลายองค์ที่มีชื่อไพเราะ คล้องจองกัน
พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์
เป็นพระที่นั่งองค์แรกของหมู่พระราชฐาน และเป็นพระที่นั่งองค์ประธานสร้างในสถาปัตยกรรมแบบยุโรปผสมไทยและจีน เป็นพระที่นั่งองค์ใหญ่ที่สุด แต่เดิมพระที่นั่งองค์นี้ใช้สำหรับเป็นท้องพระโรง แต่ภายหลังเปลี่ยนไปใช้ต้อนรับพระราชอาคันตุกะ จากต่างประเทศ
ท้องพระโรงด้านหน้าจัดเป็นห้องเสวย ส่วนด้านหลังจัดเป็นห้องบรรทม มุขทางด้านทิศตะวันออกเป็นห้องสรง และห้องพระบังคน ปัจจุบันภายในจัดเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครคีรี จัดแสดงโบราณวัตถุ เปิดให้ประชาชนไปได้เข้าชม .. แต่ไม่มีการอนุญาตให้ถ่ายภาพภายในหมู่ราชมณเฑียรทั้งหมด
พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรค์
อยู่ด้านหลังของพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ มีฐาน หลังคา และทางเดินเชื่อมต่อกันมีลักษณะแบบเก๋งจีน 2 ชั้น เดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าเทพศิรินทรา บรมราชินีในรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันภายในเป็นที่ประดิษฐานโบราณวัตถุที่น่าสนใจ ได้แก่ แท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท
พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ตั้งอยู่ทางด้านหลังพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์สามารถเดินชมติดต่อกันไปได้ พระที่นั่งองค์นี้สร้างตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงต้องการให้พระนครคีรีเทียบเสมอพระบรมมหาราชวัง กล่าวคือ มีพระที่นั่งเรือนยอดเป็นยอดปราสาท
ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบปราสาทจตุรมุข มียอดปรางค์ 5 ยอด ตามพระราชนิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มียอดปรางค์ใหญ่อยู่กลาง และปรางค์เล็กอยู่ 4 มุม บนฐานสูงซ้อนกัน 3 ชั้น มีระเบียงแก้วโดยรอบแต่ละชั้น
ระเบียงชั้นบนสุดมีโดมโปร่งที่มุมทั้งสี่ ตัวปราสาทประดับลายปูนปั้น ภายในประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หล่อด้วยสำริด
พระที่นั่งราชธรรมสภา
พระที่นั่งราชธรรมสภา ตั้งอยู่ใกล้กับพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท และพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นอาคารชั้นเดียว ศิลปะผสมระหว่างศิลปะยุโรป จีน และไทย หลังคาเป็นแบบเก๋งจีนในรัชกาลที่ 4 ..
กล่าวคือ เป็นพระที่นั่งชั้นเดียวคล้ายเก๋งจีนมีประตูหน้าต่างเป็นวงโค้ง ตกแต่งด้วยเสาปลอมติดผนัง ส่วนที่หัวเสานั้นเป็นศิลปะกรีกแบบไอโอนิคเหนือหัวเสาทำลวดลายลักษณะเป็นลูกโลก และดอกไม้ ใบไม้ประดิษฐ์ ทรงใช้เป็นที่ประชุมส่วนพระองค์บรรยายธรรมะ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ดัดแปลงเป็นห้องเสวยสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตามเสด็จ
ตำหนักสันฐาคารสถาน .. ทรงใช้เป็นตำหนักสำหรับรับแขกเมือง ซึ่งสามารถพักแรมได้
หอพิมานเพชรมเหศวร .. ประกอบด้วยหอย่อยอีก 3 หอ เคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีโสกันต์ และเคยเป็นห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่พระองค์ทรงถืออุโบสถศีล ..ทรงใช้เป็นศาลาเทพารักษ์ (ศาลพระภูมิเจ้าที่) หอหนึ่งเป็นหอประโคมสังคีต และอีกหอหนึ่งเป็นหอประดิษฐานพระพุทธรูป
หอจตุเวทปริตพัจน์ .. เป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงสดับพระธรรมเทศนาในวันพระธรรมสวนะ
หอชัชวาลเวียงชัย .. ชาวบ้านเรียกว่า “หอกระโจมแก้ว ” หรือ “หอส่องกล้อง” หอนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระที่นั่งราชธรรมสภา สร้างเป็นรูปทรงกลมสูงประมาณ 10 วา หลังคาเป็นรูปโดมมุงด้วยกระจกโค้ง เรียก กระโจมแก้ว มีบันไดเวียน ภายในสามารถเดินขึ้นไปข้างบนได้
รอบๆ โดมเป็นระเบียงมีลูกกรงโดยรอบ ภายในโดมมีโคมไฟไว้มองเห็นได้แต่ไกลจากทะเล แต่ก่อนนี้นักเดินเรือพลอยได้อาศัยแสงไฟจากหอนี้ในการเดินเรือด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้สร้างหอชัชวาลเวียงชัยนี้ไว้สำหรับเป็นทีทอดพระเนตรดวงดาว ด้วยทรงสนพระทัยในทางดาราศาสตร์
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งก่อสร้าง อาคาร สถานที่ต่างๆอีกมาก ที่เป็นสถานที่ในราชการพระราชวังในขณะนั้น เช่น โรงรถม้า โรงรถราชวัลภาคาร ศาลาลูกขุน ศาลาหน้าด่านฯลฯ
จากหมู่พระราชมณเฑียร เราจะเดินไปยังบริเวณที่สำคัญซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไป แต่สามารถมองเห็นได้ในระยะที่ไกลออกไป .. ตามมาเที่ยวนะคะ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา