7 ม.ค. 2022 เวลา 03:05 • การศึกษา
ผู้ถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต
สรรพสิ่งในโลกนี้ เป็นเพียงเครื่องอาศัยสำหรับใช้สร้างบารมี ไม่ใช่มีไว้สำหรับให้ยึดมั่นถือมั่น เราเกิดมาในโลกนี้ เพียงอาศัยสิ่งเหล่านี้สร้างบารมีเท่านั้น อย่าไปคิดว่ามันเป็นจริงเป็นจังอะไร สมบัติทั้งหลายเป็นของกลางของโลก ที่จะช่วยให้สร้างบารมีได้สะดวกสบาย เราจะได้มุ่งแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระของชีวิต เป็นความจริงของพระอริยเจ้า ที่เรียกว่า อริยสัจ มีใจมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน จะได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริงกันทุกคน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า…
"ผู้ใดเป็นผู้เยือกเย็น ปราศจากความยึดมั่นถือมั่น ไม่ยึดติดในกามคุณ ผู้นั้นนับว่าเป็นบุคคลผู้ประเสริฐ เป็นผู้ดับสนิท ย่อมมีความสุขในกาลทุกเมื่อ"
ผู้มีปัญญา มองเห็นว่า ทรัพย์สมบัติภายนอกที่มีอยู่ เป็นเพียงเครื่องอาศัยหล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว สมบัติเป็นเพียงอุปกรณ์ในการสร้างบารมีเท่านั้น ไม่ใช่มีไว้ให้ยึดติด หากมัวหวงแหนตระหนี่ โดยไม่นำออกบริจาค ทาน ย่อมไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ บางครั้งอาจจะถูกโจรลักไปบ้าง ไฟไหม้-น้ำท่วม บ้าง คนฉลาดจึงเปลี่ยนทรัพย์หยาบให้กลายเป็นทรัพย์ละเอียด คือ บุญ ด้วยการให้ทาน
ทรัพย์ที่ควรแสวงหาอย่างยิ่ง คือ อริยทรัพย์ ผู้มีปัญญาที่แท้จริง นอกจากจะแสวงหาทรัพย์ภายนอกแล้ว ยังไม่ประมาทในการแสวงหาทรัพย์ภายในอีกด้วย ลำพังทรัพย์ภายนอกเพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้เราเข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตได้ แต่ทรัพย์ภายใน คือ พระรัตนตรัย เป็นโลกุตรทรัพย์อันประเสริฐ ที่จะทำให้เราเข้าถึงความสุขความเต็มเปี่ยมของชีวิต และนำมาซึ่งความปลาบปลื้มใจ
ในอดีตกาล มีหนุ่มไร่อ้อยคนหนึ่งเดินถืออ้อยมาจากไร่ ในระหว่างทางได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ทันทีที่ได้เห็น เกิดจิตเลื่อมใส ได้ถวายน้ำอ้อยจนเต็มบาตร ซึ่งอ้อยในสมัยก่อนเพียงแค่เอามีดตัดลำอ้อย น้ำอ้อยก็จะไหลออกมาทันที ไม่ต้องมีการใช้เครื่องหีบเช่นในสมัยนี้
เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าฉันน้ำอ้อยแล้ว ท่านได้อนุโมทนาให้สมปรารถนาในทุกสิ่ง แล้วยังนำน้ำอ้อยไปถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าอีก ๕๐๐รูป โดยเหาะไปทางอากาศ ชายหนุ่มเห็นปาฏิหาริย์นั้น จึงเกิดมหาปีติและด้วยอานิสงส์ ที่ถวายน้ำอ้อยนั้น ทำให้เขาเวียนว่ายอยู่เฉพาะในสุคติภูมิ โดยไม่ต้องตกสู่ทุคติ
กระทั่งมาถึงสมัยของ พระวิปัสสีพุทธเจ้า เขาได้เกิดเป็นเศรษฐีชื่อว่า อปราชิตะ มีความศรัทธา ในพระพุทธเจ้า มาก ได้สร้างกุญชรศาลาที่ทำด้วยแก้ว ๗ ประการ และเอารัตนชาติไปโปรยรอบพระคันธกุฎี เพื่อเป็นกุศโลบายสำหรับให้ผู้คนมาฟังธรรม เมื่อมาแล้วหากใครปรารถนาอยากได้รัตนชาติ ก็สามารถหยิบไปได้
ฉะนั้น คนที่ไปวัดจึงได้ทั้งโลกียทรัพย์และอริยทรัพย์กลับไป ในยุคสมัยนั้นจึงมีมหาชนได้บรรลุธรรมกันมากมาย
เมื่อรัตนชาติที่โปรยลงในคราวเดียวหมดไป ท่านได้นำมาโปรยลงอีกเรื่อย ๆ โดยไม่มีความรู้สึกเสียดาย วันหนึ่ง...ท่านเศรษฐีนำแก้วมณีดวงใหญ่เท่าผลแตงโมที่หาค่ามิได้ มาวางไว้แทบพระบาทของพระบรมศาสดา ความสว่างของแก้วมณี เมื่อกระทบกับพระรัศมีกายของพระพุทธองค์ ยิ่งทำให้บริเวณนั้นสว่างไสวเรืองรอง เหล่าชนที่มาฟังธรรม ต่างเกิดความอิ่มเอิบเบิกบานใจ แลดูพระพุทธองค์ด้วยจิตที่เลื่อมใสยิ่งนัก
วันหนึ่ง มีพราหมณ์มิจฉาทิฏฐิ แสร้งมาถวายบังคมแทบพระบาทของพระบรมศาสดา แล้วแอบเอาแก้วมณีซ่อนไว้ในผ้า จากนั้นรีบเดินหลีกไป ท่านเศรษฐีเห็นแล้วรู้สึกไม่พอใจ พระบรมศาสดาจึงตรัสถ้อยคำให้ท่านตัดใจจากสมบัติที่ได้บริจาคแล้ว เศรษฐีจึงทำจิตให้ผ่องใส แล้วตั้งความปรารถนาว่า "ต่อแต่นี้ไป ถ้าข้าพระองค์ยังไม่อนุญาตให้อะไรแก่ใคร แม้สิ่งเล็กน้อยเพียงเส้นด้าย ก็อย่าให้ใครนำไปได้ น้ำและไฟก็ไม่อาจทำลายทรัพย์สมบัติทั้งหลายของข้าพระองค์ได้" ตั้งแต่นั้น ท่านเศรษฐีได้ทำบุญจนตลอดอายุขัย ละโลกไปแล้ว ได้ไปบังเกิดในเทวโลก
จนมาถึงในสมัยพุทธกาลนี้ ท่านเกิดในตระกูลเศรษฐี มีชื่อว่า โชติกะ ในวันที่ท่านเกิด สรรพาวุธทั่วทั้งเมืองเกิดแสงสว่างโชติช่วง ทั่วทั้งเมืองสว่างไสวไปหมด เมื่อถึงวัยที่จะครองเรือน พระอินทร์ได้เสด็จมาจากเทวโลก เนรมิตปราสาท ๗ ชั้น ที่ทำด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีกำแพง ๗ ชั้น แวดล้อมปราสาทอย่างประณีตสวยงาม และทรงเนรมิตต้นกัลปพฤกษ์โดยรอบกำแพง มีขุมทรัพย์ทั้ง ๔ เกิดขึ้นที่บริเวณหัวมุมของกำแพง ที่ซุ้มประตูทั้ง ๗ มียักษ์พร้อมด้วยบริวาร นับพันคอยพิทักษ์รักษาอยู่
พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับว่า ปราสาทแก้ว ๗ ชั้น บังเกิดขึ้นเพื่อโชติกะ จึงพระราชทานฉัตรเศรษฐี แต่งตั้งให้เป็นเศรษฐีประจำเมือง นอกจากนี้ เทวดา ยังนำนางแก้วจากอุตรกุรุทวีปมาให้เป็นภรรยา นางแก้วได้ถือข้าวสารหนึ่งทะนานกับแผ่นศิลา ๓ แผ่นมาด้วย เมื่อจะหุงข้าวเพียงใส่ข้าวสารลงในหม้อ แล้ววางไว้บนแผ่นศิลา แผ่นศิลาก็จะมีไฟลุกโพลงขึ้นทันที เมื่อข้าวสุกแล้วไฟก็จะดับเอง ส่วนข้าวในหม้อนั้นก็ตักไม่พร่อง ภรรยาท่านเศรษฐีได้หุงต้มอาหารด้วยแผ่นศิลานั่นแหละ อีกทั้งในปราสาทยังสว่างไสวไปด้วยแสงของแก้วมณี โดยไม่ต้องใช้ประทีปโคมไฟเลย
มหาชนต่างพากันมาชื่นชมสมบัติของท่านเศรษฐี ทุกวันจะมีคนเดินทางมาจากทั่วชมพูทวีป เพื่อเยี่ยมชมปราสาท ท่านเศรษฐีได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ทั้งเตรียมข้าวปลาอาหารให้ ใครปรารถนาจะได้เสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือปรารถนาสิ่งใด ก็ไปอธิษฐานจากต้นกัลปพฤกษ์ แล้วท่านเศรษฐียังได้เปิดขุมทรัพย์ทั้ง ๔ หากใครปรารถนาก็ให้ขนไปตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะตักไปมากแค่ไหน สมบัตินั้นก็ตักไม่พร่อง คือ ตักออกไปแล้ว ก็กลับมีเพิ่มขึ้นเท่าเดิมอีก
พระเจ้าพิมพิสารมีพระประสงค์จะชมปราสาท จึงพาอชาตศัตรูราชกุมารผู้เป็นโอรสของพระองค์ตามเสด็จไปด้วย เมื่ออชาตศัตรูราชกุมารเห็นสมบัติของท่านเศรษฐีแล้วก็ดำริว่า "ท่านเศรษฐีอยู่ในปราสาทแก้ว แต่พระราชบิดาของเราเป็นถึงพระราชา ประทับอยู่ในพระราชมณเฑียรที่ทำด้วยไม้ เมื่อไร เราได้เป็นพระราชา เราจักยึดปราสาทหลังนี้ให้ได้"
ต่อมา พระเจ้าอชาตศัตรูได้เป็นพระราชา ทรงนำกองทัพมาเพื่อจะยึดสมบัติของท่านโชติกเศรษฐี เมื่อมาถึงได้เห็นกองทัพยักษ์ที่ดูแลปราสาทไว้ พระเจ้าอชาตศัตรูทรงตกพระทัยกลัว จึงเสด็จหนีเข้าไปในวัดพระเชตวันและได้พบกับท่านเศรษฐีซึ่งกำลังฟังธรรมอยู่ในวัดพอดี
เมื่อเศรษฐีรู้เรื่องทั้งหมด จึงได้ทูลว่า "ทรัพย์ของข้าพเจ้าทั้งหมด ถ้าไม่ปรารถนาจะให้ใคร แม้แต่เข็มเล่มเดียวก็ไม่มีใครนำไปได้" เศรษฐีให้พระราชาทดลองดึงแหวนออกจากนิ้วมือของตน พระราชาแม้มีพระกำลังมากสามารถกระโดดได้สูงถึง ๘๐ ศอก ก็ไม่สามารถที่จะดึงแหวนออกได้ แต่เมื่อเศรษฐีออกปากว่าให้ แหวนทั้ง ๒๐ วง ก็เลื่อนออกจากนิ้วเองโดยที่ไม่ต้องดึงออก
ท่านเศรษฐีได้เห็นความประพฤติของพระราชา ก็เกิดความสลดใจ จึงได้ทูลขอออกบวช เมื่อบวชได้ไม่นาน ท่านสามารถทำใจหยุดนิ่ง ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ในขณะเดียวกัน สมบัติทั้งหมดของท่านก็ได้อันตรธานหายไป เพราะท่านได้ถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้สมบัติ ไม่มีความเยื่อใยในสมบัติทั้งหลาย สมบัติจึงหมดความหมายเมื่อถึงกายธรรมอรหัต
ความเต็มเปี่ยมของชีวิต จะเกิดขึ้นได้เมื่อทำใจหยุดนิ่งจนเข้าถึงกายธรรมอรหัต ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนาหรือเผ่าพันธุ์ใด ต่างมีเป้าหมายชีวิตเหมือนกัน คือ ต้องการทำตนให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไปสู่อายตนนิพพาน แต่เนื่องจากถูกอวิชชาครอบงำ ทำให้ลืมเป้าหมายที่แท้จริง จึงแสวงหาสิ่งนอกตัว ต่อเมื่ออินทรีย์แก่กล้า จึงกลับมาแสวงหาธรรมกาย ภายใน
เราทั้งหลายเป็นผู้มีบุญลาภอันประเสริฐ ที่ได้มาพบเส้นทางแห่งความบริสุทธิ์แล้ว ดังนั้น ให้ตั้งใจปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายกันให้ได้ทุก ๆ คน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๑๒๐ – ๑๒๗
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
พระโชติกเถระ เล่ม ๔๓ หน้า ๕๑๙
โฆษณา