6 ธ.ค. 2021 เวลา 12:24 • ธุรกิจ
เบื้องหน้าเราคือครกเซรามิกสีขาว รูปทรงสวยงามแปลกตา แต่เบื้องหลังกว่าจะมาเป็นครกเซรามิกนี้ รู้หรือไม่ว่าผ่านกระบวนการคิดมาอย่างละเอียดแค่ไหน ซึ่งไม่ใช่แค่ความสวยงามหากแต่เป็นการคิดถึงการใช้งานเป็นสำคัญ และแม้ว่าครกใบนี้จะมีราคาหลักพันบาทก็มีคนยอมควักกระเป๋าจ่ายโดยไม่รีรอ
“เมื่อ 16 ปีที่แล้ว มีโอกาสเดินทางไปประเทศเยอรมนี ได้เห็นครกไทยที่ เจมี โอลิเวอร์ เชฟชื่อดังของอังกฤษทำขาย เห็นว่ามันสวยดีก็เลยซื้อกลับมาให้แม่ยาย แต่แม่ยายใช้ได้ครั้งเดียวแล้วไม่ใช้อีกเลย บอกว่ามันไม่เวิร์กเบาไปเล็กไป เลยคิดว่าแล้วทำไมเราไม่พัฒนาครกขึ้นมาเองล่ะ” ศิริพงศ์ จงวิวัฒน์สุนทร เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของครกแบรนด์ HIN Mortar
ศิริพงศ์จึงลงมือออกแบบครกที่มากกว่าความสวยงาม นั่นคือการแก้ Pain Point ทุกอย่างของครกในปัจจุบัน อย่างแรก แก้ปัญหาการใช้ผ้ารองครกเพื่อป้องกันเสียงดังและรอยขูดขีดกับพื้นครัวเวลาใช้งาน ด้วยการออกแบบให้มีฐานยางรองกันกระแทก ซึ่งนอกจากจะช่วยลดเสียงดังลั่นบ้านแล้วยังกลายเป็นช่วยลดน้ำหนักครกได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย และอย่างที่สอง การแก้ปัญหาตำกระเด็น เนื่องจากครกไทยที่ออกแบบมาแต่โบราณนั้นใช้วิธีการสกัดหินจึงทำให้ได้แต่ครกทรงตื้น แต่เขาออกแบบครกให้มีรูปทรงสอบปากเล็กและลึก
“ได้เอาไปออกงานที่แฟรงก์เฟิร์ตเมื่อ 16 ปีที่แล้วด้วย มีฝรั่งสนใจหลายคนแต่ต้นทุนเราสูงมากขายใบละพัน ทีนี้พอไปเห็นครกจีนหน้าตาคล้ายๆ ครกไทยแต่ขายถูกกว่าเกือบ 10 เท่า โอ้โห! คือเขาใช้วิธีการกลึงครก กลับมาล้มโปรเจกต์เลย แล้วมีอีกเหตุผลคือไม่มีใครยอมผลิตให้ เพราะตอนนั้นที่ไทยยังใช้วิธีการสกัดอย่างเดียวต้นทุนก็เลยสูง”
จนกระทั่ง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อศิริพงศ์รื้อบ้านและเจอครกหินที่ออกแบบไว้ เลยลองรีเซิร์ชดูแล้วพบว่ามีวิธีการกลึงครกแล้ว เขาจึงปัดฝุ่นหยิบครกหินที่ออกแบบไว้กว่า 10 ปีกลับมาทำอีกครั้ง
แต่ครก HIN Mortar ราคาหลักพัน ใครจะซื้อ?
คำตอบนี้ถูกพิสูจน์จากยอดขายที่ศิริพงศ์บอกว่ากลายเป็นครกหินซึ่งขายดีมาก โดยสาเหตุที่เขามั่นใจในการทำการตลาดคือ การขายผ่านออนไลน์ที่ทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น มากไปกว่านั้นคือ พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ยอมจ่ายกับสิ่งที่สามารถแก้ Pain Point ได้ ซึ่งการออกแบบให้ครก HIN Mortar หน้าตาดีดูทันสมัยขึ้น แต่ยังคงความเป็นไทยอยู่และฟังก์ชันทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม จึงตอบโจทย์ความต้องการได้เป็นอย่างดี
มาถึงครกเซรามิก Stoneware ที่ศิริพงศ์เรียกว่าครกส้มตำ ซึ่งได้รับรางวัล DEmark Award 2021 เกิดจากการที่เขารู้สึกว่าครกส้มตำขาดการเอาใจใส่ ทั้งรูปแบบ วัสดุ และความประณีต จึงออกแบบครกส้มตำขึ้นมาเพื่อแก้ Pain Point เช่นเดียวกัน
“Pain Point ของครกส้มตำก็เหมือนครกหิน ก็คือว่าเวลาใช้ต้องเอาผ้ามารอง ไม่สวยใช้เสร็จแล้วต้องเอาไปแอบ อีกอย่างที่สำคัญมากแต่คนมองข้าม คือครกส้มตำทำจากดินเผาหรือไม้ ซึ่งจะเก็บทั้งกลิ่นและแบคทีเรีย ไม่สามารถล้างได้สะอาด จะสังเกตว่าแม้จะล้างสะอาดแล้วก็ยังมีกลิ่นอยู่ อีกจุดหนึ่งคือ การขาดความประณีต ในขณะที่เป็นเครื่องครัวชิ้นหนึ่งที่เป็นของคนไทย ก็คิดว่าเราน่าจะทำให้มันดูประณีตและน่าภูมิใจได้ เลยออกแบบใช้วัตถุดิบเป็น Stoneware ซึ่งเป็นเซรามิกประเภทหนึ่งที่มีความแข็งแรงทนทาน สามารถล้างได้สะอาดหมดจดไม่เก็บกลิ่น มีสีและมีรูปทรงที่สวยงาม ที่สามารถนำมาวางโชว์ที่ครัวได้ในขณะที่ฟังก์ชันทุกอย่างยังเหมือนเดิม”
ไม่เพียงแค่ครกที่ถูกดีไซน์ให้มีการใช้งานและความสวยงามเท่านั้น การดีไซน์บรรจุภัณฑ์ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ศิริพงศ์ให้ความสำคัญมาก เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้จะสร้างความประทับใจแรกได้ เขาจึงคิดถึงบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่แรกที่จะต้องป้องกันการกระแทกแตกด้วย ทำอย่างไรที่พนักงานขนส่งจะระมัดระวังไม่โยนกล่องแบบไม่ใส่ใจ เขาจึงออกแบบให้ภาพกราฟิกบนกล่องดูเหมือนแชนเดอเลียร์ แต่ถ้าดูจริงๆ ก็คือรูปครกนั่นเอง ทั้งนี้เพื่อให้รู้สึกว่าของในกล่องเป็นโคมไฟ ซึ่งตั้งแต่ส่งครก HIN Mortar มาเขาเจอปัญหาครกแตกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
“เราไม่ได้โฟกัสแค่ตลาดไทยและคิดว่าตลาดมันใหญ่มากเพราะถ้าไปดูใน Amazon สินค้าไทยที่ขายดีคือครกซึ่งน่าตกใจมาก แล้วถ้ามีคนเอาครกไปรีวิว ครกไทยจะได้อันดับหนึ่งเสมอ เราเลยวางไปถึงเรื่องการส่งออก เพียงแต่ตอนนี้ต้องสร้างพื้นฐานให้แข็งแรงก่อน ช่วงนี้จึงเป็นเหมือนการทดลองในด้านต่างๆ ให้พร้อมเพื่อรอการส่งออกไปต่างประเทศ” ศิริพงศ์กล่าวในตอนท้าย
Facebook : ครกหิน HIN Mortar
#startup #hinmortar #ครกเซรามิก
โฆษณา