7 ธ.ค. 2021 เวลา 11:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ
มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในเดือนกุมภาพันธ์ 2021
1. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามใน 3 คำสั่งพิเศษว่าด้วยเรื่องการเข้าเมือง
โดยเป็นการยกเลิกแนวทางปฏิบัติว่าด้วยเรื่องการเข้าเมืองในยุคอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
หนึ่งในคำสั่งพิเศษแรกของประธานาธิบดีไบเดน คือการช่วยให้เด็กที่พลัดพรากจากครอบครัวจากนโยบายในสมัยทรัมป์ โดยเอกสารจากทางศาลในเขตตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ชี้ให้เห็นว่ามีเด็กกว่า 600 คน ต้องถูกแยกจากผู้ปกครอง
คำสั่งพิเศษอย่างที่ 2 คือการทบทวนในเรื่องของระบบการเข้าเมืองตามกฎหมาย เช่น Central American Minors Program ที่ริเริ่มขึ้นในสมัยของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา
และคำสั่งพิเศษอย่างที่ 3 คือการให้กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ทบทวนแนวปฏิบัติและนโยบายที่ดำเนินการในยุคของทรัมป์ ว่าสอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาลในการส่งเสริมการรวมเป็นหนึ่งและไม่แบ่งแยกหรือไม่
2. ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ประเทศอังกฤษเกือบทั้งอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์รอบที่ 3 แล้ว
ร้านค้าต่างถูกปิดเงียบ ถนนหนทาง รถไฟฟ้าแทบจะว่างเปล่า เนื่องจากไม่กี่เดือนก่อนได้มีการค้นพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ใน Kent ซึ่งได้กลายมาเป็นสายพันธุ์หลักของประเทศอังกฤษ โดยมีชื่อเรียกว่า B.1.1.7 และแพร่ไปกว่า 70 ประเทศทั่วโลก จนทาง CDC ได้กล่าวว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในสหรัฐฯ ในช่วงเดือนมีนาคม
3. ประธานจัดงานโตเกียวโอลิมปิก 2021 ประกาศลาออก หลังมีประเด็นเรื่องความเสมอภาคทางเพศ
หลังจากการจัดงานโตเกียวโอลิมปิกมีเรื่องให้ลุ้นตลอดเวลาว่าจะได้จัดหรือไม่ ก็มีเรื่องที่คุณ Yoshiro Mori ประธานจัดงานลาออกไปอีก เนื่องจากเขาได้พูดขึ้นมาในที่ประชุมคณะกรรมการว่า “การประชุมที่มีคณะกรรมการที่เป็นผู้หญิงเยอะมักจะใช้เวลานาน เพราะพวกเธอมักจะชอบแข่งขันกัน ถ้ามีใครสักคนยกมือขึ้นเพื่อพูด ผู้หญิงคนอื่นก็จะคิดว่าพวกเธอก็อยากจะพูดอะไรสักอย่างด้วยเหมือนกัน” คุณ Yoshiro Mori จึงต้องออกมาขอโทษพร้อมกับลาออกเนื่องจากกระแสกดดันจากสังคมในญี่ปุ่นรุนแรงมาก ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกจะต้องรีบหาประธานจัดงานคนใหม่ซึ่งต้องแข่งกับเวลาที่เหลือเพียงไม่กี่เดือนและการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่เรื่อยๆ
4. วิกฤตพลังงานในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เกิดพายุฤดูหนาว ส่งผลให้สภาพอากาศหนาวสุดขั้วจนโรงไฟฟ้าหลักไม่สามารถทำงานได้ ชาวเท็กซัสนับล้านคนต้องอยู่แบบไม่มีไฟฟ้าใช้ เกิดการขาดแคลนน้ำ, อาหาร และความอบอุ่น กว่า 100 ชีวิตต้องตายจากพายุฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์
ประชากรจำนวนมากต้องเผชิญกับบิลค่าไฟที่แพงมหาศาลในช่วงที่เกิดพายุฤดูหนาว โดยเฉพาะคนที่เลือกแพลนอัตราค่าไฟฟ้าแบบยืดหยุ่น ที่จะถูกคิดราคาแตกต่างกันไปตามความต้องการใช้ไฟฟ้าในขณะนั้น ยิ่งมีความต้องการมาก ราคาก็ยิ่งสูงมาก แต่เมื่อการผลิตไฟฟ้าทั้งเท็กซัสใช้การไม่ได้ในขณะที่คนต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก จึงส่งผลให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นจากราวๆ 26 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ MWh ไปถึงเกือบหมื่นดอลลาร์เลยทีเดียว
5. ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ประกาศว่าประเทศจีนได้หลุดพ้นจากความยากจนขั้นรุนแรงแล้ว
ประชาชนกว่า 100 ล้านคน ได้หลุดพ้นจากความยากจน ที่จีนได้เผชิญมาตลอด 80 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนี่จึงถือว่าเป็นเป็นชัยชนะแห่งประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
โดยในประเทศจีน เกณฑ์ของความยากจนขั้นรุนแรงอยู่ที่ ระดับรายได้น้อยกว่า 620 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ดังนั้นจากเกณฑ์ดังกล่าว รัฐบาลสามารถช่วยประชาชนในชนบทที่ยากจนกว่า 98.99 ล้านคน เมืองที่ยากจนทั้ง 832 เมือง ตลอดจนหมู่บ้านกว่า 128,000 หมู่บ้าน ให้หลุดพ้นออกมาจากความยากจน ตามปณิธานที่นายสี จิ้น ผิง ได้ตั้งไว้ตอนเข้ามาดำรงตำแหน่งในปี 2012 อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อกังขาถึงความโปร่งใสของข้อมูล และเกณฑ์การวัดระดับความยากจนของจีนที่ยังต่ำกว่าเกณฑ์ของธนาคารโลกอยู่
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference
โฆษณา