14 ก.พ. 2022 เวลา 10:12 • การศึกษา
ละตัณหาได้ ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
การเกิดเป็นทุกข์ ถ้าเกิดบ่อย ๆ ก็ต้องทุกข์บ่อย ๆ มีทุกข์ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาดูโลกจนกระทั่งถึงวันหลับตาลาโลก ในวันสุดท้ายของชีวิต ไม่มีใครที่จะหนีความตายไปได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่อยากจะได้ยินเรื่องความเป็นจริงของชีวิตที่ว่า เกิดมาแล้วต้องตาย เพราะรู้สึกเอาเองว่าไม่เป็นมงคล แต่ถ้าเราหันกลับมาพิจารณาสิ่งที่เป็นจริงกันบ้าง หันมามองความเป็นจริงของชีวิตที่ว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องตาย เราจะได้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ถ้ามัวแต่ทำมาหากินอย่างเดียวแล้วไม่ได้สร้างบุญ อย่างนี้เรียกว่าไม่เป็นมงคลแก่ชีวิต แต่ถ้านึกถึงความตายแล้วเร่งสร้างบารมี อย่างนี้เป็นมงคล เพราะได้ใช้ร่างกายนี้ให้เกิดประโยชน์ ทำทั้งบุญในพระพุทธศาสนา และทำบุญสงเคราะห์โลก สงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ ชีวิตอย่างนี้จึงจะมีคุณค่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องความจริงของชีวิตไว้ว่า...
"สัตวโลกอันความตายครอบงำไว้ อันความชราห้อมล้อมไว้ วันคืนได้ล่วงไป ๆ เหมือนด้ายที่กำลังถูกทอ ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอก็เหลือน้อยลงไปฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไปฉันใด สัตว์ทั้งหลายย่อมถูกชราและความตายพัดพาไปฉันนั้น"
วันคืนที่ล่วงไป ๆ ทำให้ชีวิตเราเหลือน้อยลงไปทุกที และก็ไม่รู้ว่าวันใดเราจะต้องเผชิญหน้ากับความตาย ตอนนั้นจะต้องเดินทางไกลไปสู่สัมปรายภพ เราก็จะต้องมีหลักของชีวิต เพราะเวลานั้นเป็นการเข้าสู่สมรภูมิชิงภพ สุคติหรือทุคติก็อยู่ที่เรา ถ้าใจผ่องใสไม่เศร้าหมอง ก็มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ถ้าใจเศร้าหมองไม่ผ่องใสก็ตรงกันข้าม นี่เป็นเรื่องความจริงของชีวิตและสำคัญมาก เพราะชีวิตหลังจากตายแล้ว อายุยืนยาวนานกว่าชีวิตในเมืองมนุษย์ เป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านเป็นกัป หลาย ๆ กัปปี ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
สิ่งที่ใคร ๆ ไม่ปรารถนาจะเจอนี้ จะต้องมาถึงเราไม่วันใดก็วันหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้ดี ฝึกไว้ ถ้ากลัวความตาย ต้องหันหน้ามาพิจารณาความตายและสั่งสมบุญไว้มาก ๆ ด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา แล้วความกลัวตายก็จะหมดสิ้นไป
ทั้ง ๆ ที่ความจริงกลัวก็ตาย ไม่กลัวก็ตายและไม่มีใครหนีพ้น ต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ โดยหมั่นเจริญมรณานุสติ พิจารณาตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เหาะเหินเดินอากาศได้ ก็ยังดับขันธปรินิพพาน พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระอสีติมหาสาวก พระอรหันต์ พระอริยบุคคล พระเจ้าจักรพรรดิ พระราชา มหาเศรษฐีทั้งหลาย เรื่อยมาถึงยาจกวณิพก ต้องเดินทางออกจากร่างกายนี้ทั้งสิ้น ทุกท่านล้วนตายหมด เพราะฉะนั้น อย่างเรายังเหาะไม่ได้ทำไมจะไม่ตาย นึกบ่อย ๆ แล้วความสะดุ้งกลัวต่อมรณภัยก็จะลดลง
แล้วในระหว่างที่เรายังมีชีวิตอยู่ ต้องหมั่นสั่งสมบุญบารมีไว้ บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุให้บริสุทธิ์ผุดผ่องมาก ๆ แล้วความกลัวตายก็จะหมดสิ้นไป เพราะเรามีที่พึ่งภายใน มีทั้งบุญ มีทั้งธรรมะ ความดีงามทุกอย่าง บัณฑิตนักปราชญ์ในอดีตทั้งหลาย ท่านรู้ถึงทุกข์ถึงโทษของความเกิด ความแก่และความตาย ท่านจึงพยายามแสวงหาหนทางที่จะให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้ จะได้ไม่ต้องมาทนทุกข์ทรมานอีก
เหมือนดังเรื่องของผู้มีบุญท่านหนึ่งในสมัยพุทธกาล ผู้มีบุญท่านนี้ ท่านเกิดในสกุลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้วได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยา ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ครั้นพราหมณ์พาวรีมีอายุมากแล้ว ประกอบกับได้ผ่านประสบการณ์ทางโลกมามาก มองไม่เห็นสาระแก่นสารของการใช้ชีวิตแบบชาวโลก จึงมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย ได้ทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากตำแหน่งปุโรหิต และออกบวชเป็นชฎิล ตั้งอาศรมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในพรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะซึ่งติดต่อกัน พราหมณ์ได้เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์
ครั้งนั้น หลานชายของท่านซึ่งเป็นศิษย์ของท่านด้วย ก็ได้ออกบวชติดตามลุง เพราะมีความรักเคารพในลุง พราหมณ์พาวรีได้ผูกปัญหาให้หลานชาย และส่งหลานให้ไปทูลถามปัญหากับพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งครั้งนั้นพระพุทธองค์ได้ประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ โดยหลานของพราหมณ์ได้ทูลถามปัญหา ๒ ข้อแด่พระพุทธองค์
ข้อที่หนึ่งได้ทูลถามว่า "บัดนี้กาลได้ล่วงเลยข้าพระองค์มามากแล้ว ข้าพระองค์เป็นคนแก่ ไม่มีกำลัง มีผิวพรรณเหี่ยวย่น ดวงตาของข้าพระองค์ก็เห็นไม่ชัดนัก หูก็ฟังไม่ชัด สังขารก็เสื่อมไปตามวัย ขอข้าพระองค์อย่าเป็นผู้หลงเลย อย่าได้พบกับหายนะในระหว่างนี้เลย ขอพระพุทธองค์จงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติ ชรา ในอัตภาพนี้ด้วยเถิด"
พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า "เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์อันตัณหาครอบงำแล้ว มีความเดือดร้อนเกิดขึ้น อันชราและมรณะคุกคามอยู่รอบด้าน เพราะเหตุนั้น ท่านจงอย่าประมาท จงละตัณหาเสีย เมื่อสิ้นตัณหาจะได้ไม่ต้องเกิดอีก"
1
ครั้นพระบรมศาสดาทรงแก้ปัญหาจบลงแล้ว พราหมณ์ได้เพียงดวงตาเห็นธรรม ไม่ได้บรรลุอรหัตผล ได้บรรลุเพียงโสดาปัตติผลเท่านั้น เพราะเวลาฟังพยากรณ์ปัญหา มีจิตฟุ้งซ่าน คิดถึงลุงผู้เป็นอาจารย์ว่า ลุงของเราหาได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาอันลึกซึ้งไพเราะอย่างนี้ไม่ อาศัยความกังวลที่มีจิตฟุ้งซ่าน เพราะความรักใคร่ในลุง จึงไม่อาจทำให้สิ้นอาสวะในตอนนั้นได้
ในลำดับต่อมา ท่านทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุ ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยพระพุทธองค์เป็นผู้ประทานการอุปสมบทเอง เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว จึงทูลลาพระบรมศาสดากลับไปแจ้งข่าวแก่อาจารย์ ได้แสดงการแก้ปัญหาของพระบรมศาสดาให้แก่ลุง ครั้นลุงได้ฟังการกล่าวแก้ปัญหาจบ ก็ได้บรรลุเป็นอริยบุคคลในขั้นพระอนาคามิผล
ส่วนหลานชายซึ่งบวชแล้ว ภายหลังได้สดับโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลส มีความงดงามในพระธรรมวินัย และท่านดำรงอายุสังขารอยู่โดยกาลสมควร ในวาระสุดท้ายของชีวิตก็ปรินิพพาน เข้าสู่อายตนนิพพานแดนเกษม
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากเกิด ไม่อยากแก่ ไม่อยากตาย ก็ต้องเข้านิพพานไป พระพุทธองค์ทรงสอนให้ละตัณหา ความทะยานอยากทั้งหลายให้หมดสิ้นไป ทั้งความอยากในกามภพ ในรูปภพ ในอรูปภพ ถ้าหมดตัณหาก็หมดสิ้นอาสวะ จะมีนิพพานเป็นที่ไป แต่เมื่อเรายังไปนิพพานไม่ได้ ก็ต้องสั่งสมบุญให้มาก ๆ เข้าไว้ สักวันหนึ่งเมื่อบุญบารมีเต็มเปี่ยมก็ไปได้เอง เพราะฉะนั้น ทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ควรให้เป็นทางมาแห่งบุญของเรา แม้ยามหลับก็ต้องให้บุญไหลผ่านมาสั่งสมในใจเรา หลับอยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด กลางดวงบุญใสๆ กลางกายภายใน หรือกลางองค์พระแก้วใส ฝึกไว้ทุก ๆ วัน แล้วจะมีประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อตัวเรา
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๒๑๘ – ๒๒๖
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ปิงคิยมาณพ เล่ม ๖๗ หน้า ๔๑๗
โฆษณา