8 ธ.ค. 2021 เวลา 06:42 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รู้จัก 4 นวัตกรรมบน Blockchain ที่มากกว่าแค่คริปโต
ในโลกอินเทอร์เน็ตที่เราใช้อยู่ปัจจุบันนี้ แม้จะดูเป็นโลกเชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดนแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตยุคปัจจุบันยังคงหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การมีอยู่ของ ‘ตัวกลาง’
Google, Spotify, และ YouTube แพลตฟอร์มยอดฮิตที่เราใช้กันแทบทุกวันนั้น ล้วนเป็นตัวกลางที่คอยดำเนินกิจกรรมบนโลกอินเทอร์เน็ตให้เรา หากเราจะหาข้อมูล Google ก็จะเป็นผู้จัดการแสดงรูปแบบผลการค้นหาให้ หรือ Spotify เองก็เป็นผู้ที่คอยจัดการซื้อเพลงมาลงในแพลตฟอร์มให้เราเลือกฟังกัน
หนึ่งในเทคโนโลยีที่จะพลิกรูปแบบการดำเนินการทั้งหมดนี้ไปได้ในพริบตานั้นได้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือการเข้ามาของ Blockchain เทคโนโลยีที่มุ่งสู่โลกไร้ตัวกลาง เน้นสร้างเครือข่ายที่เราสามารถทำธุรกรรมได้แบบไม่ต้องมีตัวกลางมาคอยจัดการ เป็นเครือข่ายที่จัดเก็บข้อมูลลงใน ‘กล่อง’ ที่เข้ารหัส และเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่ ข้อมูลทั้งหมดจะจัดเก็บอยู่ในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่าย การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในกล่องใดกล่องหนึ่งนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะหากมีความเปลี่ยนแปลงแค่จุดเดียว ระบบจะตรวจสอบได้ทันที นั่นทำให้ Blockchain คือเทคโนโลยีที่โปร่งใสและปลอดภัยมาก
หลายคนอาจคุ้นเคยกับ Blockchain ในฐานะแพลตฟอร์มที่ใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล แต่ในความเป็นจริงแล้ว Blockchain มีความสามารถมากกว่านั้น และนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ในโลกของ Blockchain มีแพลตฟอร์มอื่น ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น The Graph ที่เปรียบเสมือน Google บน Blockchain หรือ Theta ที่เป็นเหมือน YouTube สตรีมมิงวิดีโอบน Blockchain
วันนี้เซอร์ทิสขออาสาพาทุกคนไปรู้จักกับนวัตกรรมต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นบนฐานของ Blockchain ที่มีฟังก์ชันหลากหลาย และเติบโตได้จากคอนเซ็ปต์ของการกระจายอำนาจโดยปราศจากตัวกลาง ไปดูกันเลยครับ
$GRT หรือ The Graph Google แห่ง Blockchain
ในโลกของการดำเนินการอย่างไร้ตัวกลางบน Blockchain นั้น หนึ่งในนวัตกรรมที่เป็นไปได้มากที่สุด และเหมาะสมที่สุดคือนวัตกรรมของการเก็บข้อมูลบนแพลตฟอร์ม เนื่องจากรูปแบบการทำงานและการเข้ารหัสของ Blockchain ทำให้เราสามารถมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลได้เป็นอย่างดี
หนึ่งในโปรเจ็กต์บนแพลตฟอร์ม Blockchain ของ Ethereum นั้น ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัตินี้ในการสร้างแพลตฟอร์มที่เปรียบเสมือน Google ขึ้น ต้องเท้าความก่อนว่าระบบการทำงานของ Etheruem นั้น การจะสร้างแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มบนเครือข่าย จะต้องมีการการสร้าง Token หรือสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใช้งานนำมาจ่ายเป็นค่าแก๊สที่เป็นเสมือนเชื้อเพลิงที่ช่วยให้แพลตฟอร์มนั้น ๆ ดำเนินการต่อไปได้ และเหรียญเหล่านี้ก็ยังสามารถซื้อขายหรือเทรดได้เหมือนคริปโตทั่วไป
บนแพลตฟอร์มของ Ethereum มีเครือข่ายที่มีชื่อว่า ‘The Graph’ ที่มาคู่กับสกุลเงิน ‘$GRT’ โดย The Graph เป็นโปรโตคอลแบบที่ทำเป็นดัชนีสืบค้นข้อมูล โดยเป็นระบบ API ที่ให้ผู้ใช้สามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘Subgraph’ เพื่อเชื่อมต่อระบบเข้ากับฐานข้อมูล และสร้างอินเตอร์เฟซที่เปิดให้เข้ามาสืบค้นข้อมูล (Query)ได้โดยใช้ภาษาในการสืบค้น (Query Language) ที่เรียกว่า GraphQL ดังนั้นฟังก์ชันหลัก ๆ ของเครือข่ายนี้คือให้ผู้ใช้เข้ามาหาข้อมูลแบบเดียวกับ Google ได้นั่นเอง
ใน The Graph มีคนที่คอยยืนยันความถูกต้องของการทำกิจกรรมบนแพลตฟอร์ม เช่นเดียวกับคนที่คอยยืนยันธุรกรรมการเงินของ Bitcoin โดยคนเหล่านั้นจะทำการ Stake เหรียญหรือวางเดิมพันแพลตฟอร์มเพื่อยืนยัน และได้กำไรจากค่าธรรมเนียมของการสืบค้นข้อมูล
ลองจินตนาการภาพ Google แต่เป็น Google ที่อยู่บนแพลตฟอร์มของ Blockchain ที่ปราศจากตัวกลาง (อย่างบริษัท Google) มาคอยดูแลจัดการและอำนวยการสืบค้นให้เรา ทั้งข้อมูลและการค้นหาของเราจะปลอดภัยและอยู่ในการจัดการของเราเป็นหลักครับ
$FIL หรือ Filecoin Google Drive บน Blockchain
อีกเหรียญหนึ่งที่อาจเป็นอนาคตของการจัดเก็บข้อมูลบน Blockchain นั้น ได้แก่ $FIL หรือ Filecoin โดย Filecoin เป็นโปรโตคอลแบบจัดเก็บ กระจาย และแบ่งปันไฟล์ข้อมูล หรือที่มีชื่อว่า InterPlanetary File System (IPFS) ซึ่งเป็นระบบที่ทำงานแบบ peer-to-peer กล่าวคือ ระบบจัดเก็บไฟล์แบบกระจายไฟล์ไปตามคอมพิวเตอร์ของสมาชิกหรือ Node ต่าง ๆ ในเครือข่าย เพื่อให้ข้อมูลไม่กระจุกอยู่ที่ตัวกลางเพียงตัวเดียว และช่วยให้ระบบทำงานได้รวดเร็วขึ้น สกุลเงิน $FIL จึงเป็นสกุลเงินคริปโตที่เกิดมากับแพลตฟอร์มให้บริการจัดเก็บและแบ่งปันข้อมูลบน Blockchain โดยสามารถนำมาเทรดเก็งกำไรได้เช่นกัน
ซึ่งกระบวนการทำงานของการจัดเก็บข้อมูลบน Filecoin นั้นเป็นเสมือน Marketplace ที่ให้ผู้ที่ต้องการจัดเก็บไฟล์และผู้ที่ต้องการสร้างรายได้จากการให้เก็บไฟล์มารวมตัวกันโดยไม่ผ่านตัวกลาง และตรวจสอบการจัดเก็บไฟล์ได้ผ่านข้อมูลบน Blockchain หากผู้ใช้งานต้องการจัดเก็บไฟล์ใด ๆ ในระบบ ก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อจัดเก็บ จากนั้นจะมีผู้ที่เรียกว่า Storage Miner เป็นผู้เสนอตัวจัดเก็บไฟล์ลงในคอมพิวเตอร์ให้ โดยจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเหรียญ $FIL โดยไฟล์นั้นจะจัดเก็บอยู่บนระบบ Blockchain ของ IPFS และระบบจะคอยตรวจสอบว่าไฟล์นั้นมีการจัดเก็บอย่างถูกต้องหรือไม่ ฝ่ายผู้ใช้เองก็สามารถเช็คได้บนระบบเช่นกัน
โดยในระบบของ Filecoin ผู้ใช้สามารถเลือก Miner ได้หลากหลาย ตามค่าธรรมเนียม และรูปแบบที่จัดเก็บ โดยในเครือข่าย Filecoin มีแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มที่ให้บริการเก็บข้อมูลรูปแบบต่าง ๆ ที่สร้างด้วยโปรโตคอลเดียวกันให้เลือกหลากหลาย อาทิ ChainSafe File, Web3 Storage, และ Estuary เป็นต้น ทางฝั่ง Miner ก็สามารถเลือกเข้าไปเสนอจัดเก็บไฟล์ในแพลตฟอร์มเหล่านี้ และได้ค่าตอบแทนตามต้องการ
$AUDIO หรือ Audius Spotify on Blockchain
แพลตฟอร์ม Spotify ในโลกความจริง อาจเป็นแพลตฟอร์มที่รวมเอาเพลงมากมายจากศิลปินนักร้องทั่วโลกมารวมกัน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีตัวกลางอย่างตัว Spotify เองคอยจัดการประสานงานกับสังกัดของศิลปินในการเอาเพลงมาลง และให้บริการเราในการนำเสนอเพลงต่าง ๆ
แต่ใน Audius แพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลงบน Blockchain นี้เป็นโปรโตคอลในแบบของพื้นที่ที่ให้ศิลปินกับผู้ฟังติดต่อกันโดยปราศจากตัวกลาง ศิลปินสามารถนำเพลงของตนเองลงมาสตรีมในแพลตฟอร์มได้ และเราเองก็สามารถจ่ายเงินสนับสนุนศิลปินได้โดยตรงผ่านเหรียญ $AUDIO ที่สำคัญที่สุดคือด้วยระบบของ Blockchain นั้น ศิลปินสามารถเผยแพร่ผลงานได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีการลอกเลียนแบบ เพราะการจัดเก็บข้อมูลบน Blockchain ที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ตรวจสอบได้เสมอว่างานชิ้นไหนคือต้นฉบับ ที่สำคัญคือ Audius เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง ไม่ว่าใครก็สามารถอัปโหลดผลงานของตนเองได้ทันที
Audius เป็นแพลตฟอร์มที่ดำเนินการอยู่บน Blockchain ของ Ethereum โดยมี Token เป็นเหรียญ $AUDIO โดยผู้ใช้จะสามารถเข้ามาฟังเพลงได้ฟรี หรือจ่ายหนึ่งครั้ง ตามแต่ที่ศิลปินเลือก ในส่วนของผู้ที่ถือเหรียญ $AUDIO สามารถร่วมเป็น Node หนึ่งในเครือข่าย ทำการ Stake หรือวางเดิมพันเพื่อตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมต่าง ๆ และดูแลความเรียบร้อยของแพลตฟอร์ม โดยจะได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียมด้วยเหรียญ $AUDIO หรือสิทธิ์เข้าถึงฟีเจอร์เอ็กซ์คลูซีฟต่าง ๆ เช่นกัน Audius เป็นหนึ่งในศิลปะแบบ NFT ที่ขายงานศิลป์แบบดิจิทัล และได้รับค่าตอบแทนเป็นคริปโต โดย Audius จะเน้นที่งานประเภทเสียง เช่น เพลง หรือพอดแคสต์ เป็นหลัก
นอกจากนี้ปัญหาหลักที่ Audius เข้ามาช่วยแก้ไขได้คือ แพลตฟอร์มแบบดั้งเดิมทั่วไปนั้น ตัวศิลปินต้องอาศัยค่ายหรือบริษัทสตรีมมิงเป็นตัวกลาง ทำให้รายได้เหลือมาถึงตัวศิลปินเฉลี่ยเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่ง Audius หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิงอื่น ๆ บน Blockchain เมื่อทำงานในรูปแบบที่ปราศจากตัวกลาง รายได้เกือบทั้งหมดกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ก็จะตกสู่ศิลปินแบบเต็ม ๆ ศิลปินจึงเริ่มมีแรงใจในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ออกมา เห็นได้จากการที่มีศิลปินใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ แพลตฟอร์มเหล่านี้จึงถือเป็นความหวังของวงการศิลปะที่ก้าวหน้าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
$THETA หรือ Theta Youtube บน Blockchain
Theta คือแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงแบบไร้ตัวกลางที่มีแนวคิดและระบบการทำงานที่แตกต่างจากวิดีโอสตรีมมิงแบบดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง มีเป้าหมายหลักเพื่อลดจำนวนทรัพยากรที่ต้องเสียในการสตรีมมิงวิดีโอแบบปกติ เช่น บน YouTube เป็นต้น โดยหนึ่งในผู้ให้คำปรึกษาในการพัฒนา Theta คือ สตีฟ เฉิน (Steve Chene) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง YouTube และจัสติน ข่าน (Justin Kan) ผู้ก่อตั้ง Twitch
ในปัจจุบันการดูวิดีโอความคมชัดขนาด 4K หรือ 8K ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่มีตัวกลางนั้นค่อนข้างช้าและได้คุณภาพที่ไม่ดีนักเนื่องจาก Bandwidth (ตัวกลางที่กำหนดความเร็วในการสื่อสารและการส่งต่อข้อมูลในเวลาที่ำหนด) ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สามารถรองรับผู้ใช้ได้มากพอ การใช้ Bandwidth ของแพลตฟอร์มตัวกลางต่าง ๆ นั้นมีต้นทุนสูง Theta จึงมุ่งจะแก้ปัญหานี้โดยออกแบบเครือข่ายที่ให้ผู้ใช้ร่วมกันแชร์ Bandwidth ซึ่งเป็นทรัพยากรที่จำเป็นในการประมวลผล
ซึ่งการร่วมกันแชร์ Bandwidth นี้จะทำให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์การใช้งานที่รวดเร็วและลื่นไหลขึ้น สามารถดูวิดีโอคุณภาพสูงได้อย่างรวดเร็ว อัปโหลดวิดีโอได้อย่างรวดเร็ว เพราะมี Bandwidth จำนวนมากที่คอยรับส่งข้อมูล โดยไม่ไปกระจุกอยู่ที่ Bandwidth เดียวเหมือนแพลตฟอร์มแบบดั้งเดิม
การแชร์ Bandwidth นั้นจะดำเนินการในลักษณะที่ในขณะที่มีผู้ใช้เข้ามาดูวิดีโอและยอมให้ระบบเข้าถึง Bandwidth ของเรา ทุกวินาทีที่เรากำลังดูวิดีโอ ระบบ Theta จะแบ่งพื้นที่ Bandwidth ในคอมพิวเตอร์ของเรามาสตรีมมิงต่อให้ผู้อื่นดูกันเป็นทอด ๆ แบบ peer-to-peer เพื่อให้แพลตฟอร์ม Theta ดำเนินต่อไปได้อย่างลื่นไหล และเราเองก็จะได้รับรางวัลเป็น Token ที่ชื่อว่า $TFUEL
โดยสรุปแล้ว ผู้ที่เป็น Content Creator สามารถเริ่มต้นสตรีมเป็นคนแรกผ่านแพลตฟอร์ม Theta.tv ผู้ชมที่เข้ามาดูและแชร์ Bandwidth ก็จะได้รับ $TFUEL โดยเราสามารถใช้เหรียญนี้ในการบริจาคเพื่อสนับสนุน Content Creator ที่เราชื่นชอบ หรือใช้ซื้อวิดีโอบนแพลตฟอร์ม ซึ่งจำนวน $TFUEL ที่เราได้รับจะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ชมที่ดูต่อได้จากการแชร์ Bandwidth ของเรา และความเร็วอินเทอร์เน็ตของเรา
โดยปัจจุบัน Google, Samsung, และ Sony ได้เข้ามาอยู่ในเครือข่าย Theta ในฐานะ Entreprise Validator (เป็น Node ในเครือข่ายที่ถือเหรียญกว่า 2 ล้านเหรียญขึ้นไป) คอยยืนยันธุรกรรมใน Theta ซึ่งเป็นสัญญานว่า Theta มีแนวโน้มที่จะเติบโตไปได้ไกลในอนาคต
บทความโดย: ทีม Sertis
โฆษณา