10 ธ.ค. 2021 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กรณีศึกษา ไทยส่งออก อาหารสัตว์เลี้ยง อันดับ 3 ของโลก
1
ปี 2563 ประเทศไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง คิดเป็นมูลค่ากว่า 62,300 ล้านบาท
เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 ประเทศไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 22% คิดเป็นมูลค่ารวม 62,700 ล้านบาท
2
ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยถูกคาดการณ์ว่า
จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออก “อันดับ 3 ของโลก” ในปีนี้
และหากอัตราการเติบโตยังคงสูงต่อเนื่อง ก็มีความเป็นไปได้
ว่าประเทศไทยจะสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 1 ของโลกในอนาคต
2
โอกาสและความท้าทาย ของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารที่สำคัญของโลก
ไม่ว่าจะเป็น ไก่แช่แข็ง ที่ส่งออกเป็นอันดับ 4 ของโลก
และอาหารทะเลแปรรูป ที่ส่งออกเป็นอันดับ 5 ของโลก
จากความได้เปรียบของการเป็นผู้ผลิตอาหารส่งออก มีวัตถุดิบที่พร้อม และมีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะ “อาหารกระป๋อง” ก็สามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าไปสู่อาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของอาหารที่น่าสนใจ เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ และพร้อมที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสมอ
1
หันมามองที่เทรนด์ของการเลี้ยงสัตว์
ด้วยสภาพสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่มีคนอยู่ตัวคนเดียวเพิ่มมากขึ้น ส่วนคนที่ใช้ชีวิตคู่ก็เลือกที่จะมีลูกน้อยลง หรือไม่มีลูก เช่นเดียวกันคนสูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
1
ทั้งหมดนี้ก็คงจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า ความต้องการเลี้ยงสัตว์ให้มาเป็นเพื่อนคู่ใจ เพื่อนคลายเหงา หรือแม้แต่เลี้ยงดูเสมือนเป็นลูก ก็คงจะเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก
1
ตลาดของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงจึงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งเทรนด์นี้ก็ไม่ใช่แค่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นไปทั้งโลก..
ยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้ผู้คนต้องกักตัวอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน พบปะกับผู้อื่นน้อยลง ก็ยิ่งทำให้ความต้องการเลี้ยงสัตว์เพิ่มสูงขึ้นไปอีก ทั้งเพื่อผ่อนคลายความเครียด และหากิจกรรมทำเพื่อคลายความเหงา
ซึ่งก็ส่งผลมาถึงยอดการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 2563
ที่เติบโตจากปี 2562 มากถึง 18% เป็นการเติบโตที่โดดเด่นสวนทางกับยอดการส่งออกรวมในปี 2563 ที่หดตัวราว 6%
พอมาถึงปี 2564 ที่ยังคงมีการระบาดของโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง ยอดการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงก็ยังเติบโตไม่หยุด โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม เพียง 10 เดือน มียอดการส่งออกมากกว่าปี 2563 ทั้งปี และมากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 อยู่ถึง 22%
เรียกได้ว่า เป็นอัตราการเติบโต 2 หลัก ติดต่อกันถึง 2 ปี
โดยในยอดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง 62,700 ล้านบาท ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564
เป็นอาหารสุนัขและแมว สัดส่วนถึง 83%
จุดหมายปลายทางของการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่
1. สหรัฐอเมริกา มูลค่า 15,386 ล้านบาท เติบโต 28% จากปี 2563
2. ญี่ปุ่น มูลค่า 8,852 ล้านบาท เติบโต 4%
3. มาเลเซีย มูลค่า 4,197 ล้านบาท เติบโต 31%
4. อิตาลี มูลค่า 3,552 ล้านบาท เติบโต 6%
5. ออสเตรเลีย มูลค่า 3,270 ล้านบาท เติบโต 29%
3
สังเกตได้ว่า ประเทศจุดหมายปลายทาง Top 5 ของการส่งออก ล้วนเป็นประเทศที่มี GDP ต่อหัวสูงกว่าไทย แสดงให้เห็นว่า การเลี้ยงสัตว์เป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูง
และอาหารสัตว์เลี้ยงที่ส่งออกจากไทย ก็ได้รับการยอมรับจากประเทศเหล่านี้
1
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงออกไป และเติบโตอย่างน่าสนใจจากปี 2563
ได้แก่ ลาว ที่มีการเติบโตถึง 45%
อินโดนีเซีย มีการเติบโต 42%
และอินเดีย มีการเติบโต 40%
แสดงให้เห็นว่า ค่านิยมการเลี้ยงสัตว์เริ่มเติบโตทั่วโลก ไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศที่มี GDP ต่อหัวสูงเท่านั้น โดยเฉพาะประเทศในแถบอาเซียน และเอเชียใต้ ประเทศเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในอนาคต
1
โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ที่เป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกอันดับ 6
และอินเดีย จุดหมายปลายทางการส่งออกอันดับ 7
1
ในส่วนของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ในประเทศไทยมีโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมด 86 แห่ง
1
มีทั้งโรงงานบริษัทต่างชาติ ที่ไทยเป็นฐานการผลิต เช่น Mars Petcare บริษัทสัญชาติอเมริกัน เจ้าของแบรนด์อาหารสุนัข Pedigree, Cesar และอาหารแมว Whiskas
และโรงงานบริษัทไทย ได้แก่ Perfect Companion Group เจ้าของแบรนด์อาหารสุนัข SmartHeart และอาหารแมว Me-O
1
International Pet Food บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เจ้าของแบรนด์อาหารสุนัข JerHigh และอาหารแมว Jinny
1
Asian Sea Corporation (ASIAN) ที่มีสัดส่วนรายได้ของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงประมาณ 40% ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการรับจ้างผลิต และมีแบรนด์ของตัวเอง คือ อาหารสุนัข HAJIKO และอาหารแมว Monchou
5
ซึ่งการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย มีข้อได้เปรียบจากการมีวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ มีโรงงานพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และการมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักมากกว่า 50% โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทย
 
ซึ่งทั้งหมดล้วนทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีความโดดเด่น และเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียน ที่ติด Top 10 ประเทศที่ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมากที่สุดในโลก
1
ด้วยอนาคตที่มีแนวโน้มเติบโตสดใส ทำให้มีบริษัทที่ทำอุตสาหกรรมเกี่ยวกับอาหาร เริ่มเข้ามาสู่ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ทั้ง Thai Union Group (TU) และ NR Instant Produce (NRF)
1
ซึ่งก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า การมีผู้ผลิตที่หลากหลายมากขึ้น จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยเติบโต และได้รับการยอมรับจากตลาดโลกมากขึ้นหรือไม่ ?
เพราะสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับอาหารสัตว์เลี้ยง ก็คือ
คุณภาพและความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย
รวมไปถึงช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า
หากสามารถตอบโจทย์ทั้งหมดได้
ก็ย่อมเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงของไทย ที่จะกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญ
ของหนึ่งในตลาดที่กำลังเติบโตสูงมากในอนาคต..
2
References
โฆษณา