9 ธ.ค. 2021 เวลา 05:38 • การเมือง
อภิพญามหาโครงการทิพย์
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
1 ธันวาคม 2564 สหภาพยุโรป (อียู) แถลงเปิดตัวโครงการ Global Gateway ที่จะเริ่มตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึง พ.ศ.2571 เน้นการลงทุนด้านพลังงานสะอาด โทรคมนาคม คมนาคม ธุรกิจสุขภาพ การศึกษาวิจัย และโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกเชื่อมยุโรปกับแอฟริกา
https://www.gzeromedia.com/what-were-watching-global-gateways-vs-belt-and-road-us-russia-tit-for-tat-germanys-covid-challenge
นางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปบอกกล่าวเล่าแจ้งแถลงว่า นอกจากโครงการยักษ์เหล่านี้จะเพิ่มบทบาทและการลงทุนของอียูในระดับโลกแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อต้านอิทธิพลจีนที่คืบเข้ามาในสหภาพยุโรปอีกด้วย
ประธานหญิงคนแรกของคณะกรรมาธิการยุโรปพูดอะไรบานเบอะเยอะแยะ  ผมขอย่นย่อให้พอได้ใจความว่า...
อียูจะบากบั่นฟันฝ่าใช้   Global Gateway สู้กับแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (BRI หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง) ของจีน
“ทุกโครงการเน้นความร่วมมือ ไม่ทำให้เกิดการพึ่งพาแบบกดขี่หรือเอาเปรียบ จะเป็นทางเลือกอย่างแท้จริง เน้นคุณค่า มีความเป็นประชาธิปไตย และดีกว่า (โครงการ) ของจีน”
1
อียูเคยตั้งโครงการขนาดใหญ่มาหลายครั้ง ทว่าเป็นโครงการที่เรือขาดพาย นายขาดบ่าว ไม่ค่อยเป็นรูปธรรมสักที
ผมยังจำโครงการ ‘ระเบียงพลังงานภาคใต้’ ที่บางคนเรียกว่า ‘ระเบียงส่งก๊าซภาคใต้’ ได้ เป็นโครงการที่อียูจะสร้างระบบท่อส่งแนวเหนือ-ใต้ 3,300 กิโลเมตร
ตอนที่อียูประกาศนั้น ทั้งตุรกี บัลแกเรีย โรมาเนีย ฮังการี ออสเตรีย และประเทศอื่นๆ ตะโกนก้องร้องเชียร์
ทว่าตอนนี้ก็เลิกตะโกนกันหมดแล้วครับ ที่ว่าอียูจะลงทุน 7.9 พันล้านยูโร และจะส่งก๊าซธรรมชาติได้ถึง 3.1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีนั้น ดันเป็นโครงการเจ้าไม่มีศาลสมภารไม่มีวัดไปแล้ว
1
สหประชาชาติเคยผุดโครงการ ‘แผนการบูรณะและพัฒนาเส้นทางสายไหม‘ เพื่อฟื้นฟูเส้นทางสายไหมและเส้นทางโบราณเชื่อมต่อยูเรเซียยาว 7,000 กิโลเมตร ที่ประกอบไปด้วย 250 โครงการย่อย ทว่าโครงการของสหประชาชาติที่ว่านี่ ก็ง่วงเหงาเจ่าจุกไปแล้วเช่นกัน
อินเดียตั้ง ‘เส้นทางยาตราในมหาสมุทรอินเดีย’ ตอนได้ยินโครงการ Project Mausam ผมดีใจมาก ทว่า ทุกวันนี้ก็ค่อยๆ จางบางเบา เราชาวเอเชียยังรอเชียร์อินเดียอยู่นะครับ
จีนมีแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม สหรัฐก็มี ‘เส้นทางสายไหมแห่งใหม่‘ เหมือนกัน เปิดตัวอย่างเป็นทางการในการประชุมยุทธศาสตร์สหรัฐ-อินเดียครั้งที่ 2
ความมุ่งหวังตั้งใจในโครงการนี้ของสหรัฐก็คือ สหรัฐจะบำเรอเชอภักดิ์ความร่วมมือกับเอเชียกลางและเอเชียใต้ด้านการเมือง ความมั่นคง พลังงาน การขนส่ง โดยใช้อัฟกานิสถานเป็นศูนย์กลาง
สหรัฐต้องการสร้างพื้นที่การเมืองใหม่ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ใช้ระบบการเมืองการปกครองแบบทั่วไป
สหรัฐประกาศว่าโครงการเส้นทางสายไหมแห่งใหม่ของตนจะขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เอเชียกลางเพื่อประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐในพื้นที่
แต่บั้นปลายท้ายที่สุดก็ไปไม่ถึงฝัน เพียงก้าวขาก็ลาโรง เพราะสหรัฐไม่โยนเม็ดเงินของจริงลงมา
2
ในเอเชียกลางตอนนี้มีแต่รถไฟของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่จีนริเริ่มว่ิงฉึกฉักๆ ทุกประเทศ ทว่าโครงการของสหรัฐมีแต่วี้ๆ ที่เป็นเสียงลม
1
หลายประเทศพยายามจะถอนต้นก่นรากจีนด้วยการสร้างเส้นทางสายไหมมาแข่งขันกันกับจีน เช่น Silk Road Express ของเกาหลีใต้ที่เกิดมาพร้อม BRI ตอนนี้ก็วี้ๆ มีแต่เสียงลมเหมือนกัน
1
ญี่ปุ่นก็มี ‘การทูตเส้นทางสายไหม’ รวมทั้งกลไกความร่วมมือ ‘ญี่ปุ่น+เอเชียกลาง’ ที่ญี่ปุ่นประกาศว่าจะพัฒนาด้านพลังงานและการค้าในเอเชียกลาง ตอนนี้ก็วี้ๆ เป็นโครงการกอดเข่าเจ่าจุก ไม่กระดุกกระดิกอะไรทั้งสิ้น
1
ไม่กี่เดือนก่อน กลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ประกาศว่าจะสร้างอภิพญามหาโครงการ Build Back Better World ที่จะลงทุนระบบสาธารณูปโภคและภาคการผลิตในประเทศกำลังพัฒนา
ประธานาธิบดีไบเดนให้สัมภาษณ์อย่างแคล่วคล่องเหมือนล่องน้ำว่า เราจะฟูมฟักรักษาโลกให้ดีกว่าเดิม ทว่าเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่กี่เดือน โครงการของ G7 เงี๊ยบ เงียบ
1
ส่วนโครงการรถไฟจีน-ลาว ซึ่งเป็น 1 ในหลายร้อยโครงการย่อยของ BRI ที่จีนเคยกำหนดจดจำ ตอนนี้ฉึกฉักๆ บู๊นๆ ปู๊นๆ แล่นให้บริการแล้วครับ.
2
โฆษณา