9 มี.ค. 2022 เวลา 09:43 • การศึกษา
ชีวิตที่ไม่หวั่นไหว
ชีวิตบนโลกใบนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราหนีไม่พ้นที่จะต้องพบกับความไม่แน่นอน บางครั้งสมหวัง บางครั้งไม่สมหวัง ซึ่งเป็นธรรมดาของโลก เมื่อมีลาภก็ต้องมีเสื่อมลาภ มียศก็มีเสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ คละเคล้าปะปนกันไป ความเปลี่ยนแปลงตามธรรมดาของโลกนี้ เรียกว่า โลกธรรม อันเป็นธรรมประจำโลก มีอยู่แล้วในโลกนี้ ตั้งแต่ก่อนเรามาเกิด สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้ว หรือแม้เราจะหมดอายุขัย ละจากโลกนี้ไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหนและใครจะถือเอาเป็นสิทธิ์เฉพาะตนก็ไม่ได้ เพราะเป็นของสาธารณะ สำหรับมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลก และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ดังนั้น ในสภาวะปัจจุบันนี้ แม้สังคมและเศรษฐกิจ จะแปรปรวนอย่างไรก็ตาม อย่าได้หวั่นไหว ให้ตั้งใจทำความดีต่อไปเถิด หว่านพืชเช่นไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น ถ้าเราประกอบเหตุดี ผลที่ออกมาย่อมจะดีตามไปด้วยการทำความดีนั้น เราควรเพียรพยายามให้ถึงที่สุด และถ้าหากพบปัญหา อะไรที่หนักๆ นั่นแสดงว่าใกล้จะพ้นแล้ว ดังคำโบราณที่กล่าวว่า "ยิ่งมืดแสดงว่ายิ่งดึก ยิ่งดึกก็ยิ่งใกล้สว่าง" เพราะฉะนั้นให้หมั่นสั่งสมความดีกันต่อไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคลสูตรตอนหนึ่งว่า…
 
ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ
อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
 
จิตของผู้ใด อันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว
ไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ปราศจากความขุ่นมัว
เป็นแดนเกษมจากโยคะ ได้ชื่อว่า เป็นมงคลอันสูงสุด
ธรรมดาของผู้ที่มีจิตใจมั่นคง ย่อมไม่หวั่นไหวในโลกธรรม คำว่า โลกธรรม คือ ธรรมประจำโลก มีอยู่ ๘ ประการ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ทั้ง ๘ อย่างนี้เป็นของคู่กัน มีทั้งสิ่งที่พึงปรารถนาและสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา แต่เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา
ใคร ๆ ก็อยากได้ความสมปรารถนากันทั้งสิ้น เช่น อยากมีโชค มีทรัพย์สมบัติพรั่งพร้อม อยากได้รับการยอมรับนับถือ มียศมีตำแหน่งสูง ๆ ไปไหนก็มีแต่คนยกย่องสรรเสริญ มีความสุขกายสุขใจเนืองนิตย์ สิ่งเหล่านี้เป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ทุกคน แต่ในความเป็นจริง บางครั้งชีวิตของเราอาจจะพบกับสิ่งที่ตรงกันข้าม เมื่อมีลาภ ก็มีเสื่อมลาภ มียศ ก็มีเสื่อมยศ มีสรรเสริญ ก็มีนินทา มีสุข มีทุกข์ คละเคล้ากันไปเป็นธรรมดาของโลก แม้เราไม่ปรารถนาจะพบ ก็ต้องพบ ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ไม่ปรารถนาจะพบ แต่บางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ แม้แต่พระอรหันต์ท่านยังถูกนินทา
ในสมัยพุทธกาล มีอุบาสกชื่อ อตุละ กับพวกพ้องอีก ๕๐๐ คน ได้มาที่วัดพระเชตวัน ตั้งใจมาฟังธรรม เมื่อมาถึงสำนักของพระเรวตะ ท่านกำลังเจริญภาวนาเข้าฌานสมาบัติอยู่ ท่านมีปกติยินดีในการหลีกเร้น ชอบทำภาวนาเงียบ ๆ จึงไม่ได้พูดคุยอะไรกับอุบาสก อุบาสกเหล่านั้นจึงโกรธท่าน จึงลุกเดินจากไปด้วยความไม่พอใจ เดินไปถึงสำนักของพระสารีบุตร ท่านถามว่า “โยมมาวัด อยากได้อะไรล่ะ”
อุบาสกตอบว่า “กระผมมาเพราะต้องการฟังธรรม”
พระสารีบุตรเป็นพระธรรมเสนาบดีอยู่แล้ว เป็นเลิศทางปัญญา เวลาแสดงธรรม จึงเป็นประดุจตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้แสดงธรรมให้อุบาสกฟัง แต่อุบาสกเหล่านั้นฟังแล้วยังไม่พอใจ จึงเดินเข้าไปหาพระอานนท์ บอกว่า “พระสารีบุตรแสดงธรรมมากเกินไป”
พระอานนท์จึงเทศน์บทสั้น ๆ แต่อุบาสกเหล่านั้นโกรธอีก หาว่าสั้นไป จึงพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสถามว่า “อุบาสกทั้งหลาย พวกเธอมาทำอะไรกัน”
อุบาสกจึงทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้า มาเพื่อฟังธรรม แต่ยังไม่ถูกใจธรรมะ ของใครเลย พระเรวตะก็ไม่ยอมสนทนาธรรมด้วย มาขอฟังธรรมจากพระสารีบุตร ก็เทศน์นานเกินไป เทศน์แต่เรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง จากนั้นจึงไปขอฟังธรรมจากพระอานนท์ ก็เทศน์สั้นเกินไป พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่สามารถจะเข้าใจได้ จึงรู้สึกไม่พอใจ จึงพากันมาเฝ้าพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อพระพุทธองค์ได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า “อตุละเอ๋ย การนินทาและสรรเสริญเป็นของเก่า มีมานานแล้ว ชนทั้งหลาย ย่อมติเตียนทั้งคนนิ่ง ทั้งคนพูดมากและพูดน้อย คนที่ถูกนินทาหรือถูกสรรเสริญ เพียงอย่างเดียวในโลกนี้ไม่มีเลย
แม้แต่พระราชาผู้เป็นใหญ่ ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม ก็ยังมีทั้งคนนินทาและสรรเสริญ พระจันทร์และพระอาทิตย์ แม้ส่องสว่างให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายบนพื้นโลก บางครั้งได้รับการสรรเสริญ บางครั้งถูกนินทา แม้เราตถาคตเองผู้กำลังนั่งแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ในท่ามกลางมหาสมาคม บางพวกก็สรรเสริญ บางพวกก็นินทา
ดังนั้น การนินทาหรือสรรเสริญของคนพาล จะเอามาเป็นประมาณไม่ได้ แต่การติเตียนและสรรเสริญของบัณฑิต จึงเป็นการติเตียนและสรรเสริญที่แท้จริง บุคคลใดมีความประพฤติดี มีศีลและปัญญา ใครเล่าจะติเตียนผู้นั้นได้ แม้เทวดา และพรหมทั่วหมื่นจักรวาล ก็สรรเสริญคุณธรรมของบุคคลนั้น”
เมื่อจบพระธรรมเทศนา อุบาสกทั้ง ๕๐๐ คน ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ดังนั้น การนินทาหรือสรรเสริญ จึงไม่ใช่ของใหม่ มีมานานแล้ว และจะยังคงมีต่อไป หากเราได้พบกับสิ่งเหล่านี้ อย่าได้หวั่นไหว เราจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับถ้อยคำของใคร เพราะฉะนั้น จงอย่าได้หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลาย
“แล้วทำอย่างไรล่ะ...เราจึงจะไม่หวั่นไหว”
ต้องหยุดใจให้ได้เสียก่อน โดยนำใจมาตั้งไว้ให้ถูกที่ตั้ง คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่๗ เอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน กิน ดื่ม พูด คิด หยุดนิ่ง ลิ้มรส เหยียดแขนคู้แขน หรือทำภารกิจอันใดก็ตาม ให้เอาใจมาหยุดนิ่ง ตรงศูนย์กลางกายฐานที่๗ พอใจหยุดได้เท่านั้น โลกธรรมทั้งหลาย ไม่มากระทบกระเทือนแล้ว หรือแม้จะมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็ไม่แล่นเข้ามาถึงในใจ
ใจเราจะหยุดนิ่งเฉย ไม่เดือดร้อนใจอะไรทั้งนั้น ไม่มีความยินดียินร้าย พอใจหยุด โลกธรรมก็ทำอะไรไม่ได้ เราจะเป็นผู้ไม่หวั่นไหว เหมือนศิลาแท่งทึบ ไม่หวั่นไหวต่อแรงลมที่พัดมาจากทิศทั้งสี่ ใครหยุดใจได้อย่างนี้ ถือว่าได้บรรลุความเป็นมงคลสูงสุด เข้าถึงเนื้อแท้แห่งมงคลแล้ว เกิดสิริมงคลอย่างแท้จริง
1
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านกล่าวว่า ....
“ใครทำหยุดได้ เป็นตัวมงคล เป็นเนื้อหนังของมงคล แต่ถ้าทำหยุดไม่ได้ก็เป็นอัปมงคล” ท่านสอนลึกซึ้งทีเดียวว่า “สิริมงคลทั้งหลายเริ่มเกิดขึ้นที่จิตใจก่อน แล้วเกิดตอนใจหยุด”
ถ้าเราควบคุมใจตนเองได้ รักษาใจให้สงบ ให้หยุดนิ่งได้ ไม่ว่าจะพบปัญหาหรืออุปสรรคอะไรก็ตาม จะไม่หวั่นไหวในทุกสิ่ง ทำใจหยุดได้เวลาใด เวลานั้น ถือว่าเป็นมงคล เป็นเวลาฤกษ์งามยามดี มีมหาโชคมหาลาภ แต่ถ้าเวลาใดเราหวั่นไหวต่อเรื่องราว เหตุการณ์ หรือบุคคล ใจไม่หยุดนิ่ง ฟุ้งซ่าน ไม่เป็นตัวของตนเอง เมื่อนั้นถือว่าไม่ใช่เวลาที่เป็นมงคล ความเป็นสิริมงคลที่แท้จริงจะเกิดเมื่อใจหยุดนิ่ง ใจใสสะอาดบริสุทธิ์นั่นเอง เป็นเวลาแห่งมงคลอันสูงสุด
เมื่อใจหยุดนิ่ง จิตก็บริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์ก็ผ่องใส จิตเกษมผ่องใส ดวงจิตดวงนี้เป็นมงคลแท้ๆ เป็นความเจริญของใจ ใจจะเจริญงอกงาม ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรม จิตมีความสุขบริสุทธิ์ผ่องใส ตอนใจหยุดนี้สำคัญ จะนึกคิดปรารถนาสิ่งใดก็สำเร็จหมด เพราะ หยุดเป็นตัวสำเร็จ ถ้าปรารถนาอยากได้สมบัติไว้สร้างบารมี สมบัติจะไหลมาเทมา ถ้าทำใจหยุด ใจใส ๆ การเงินไม่เดือดร้อน แต่ถ้าขุ่นมัวเมื่อไร เป็นต้องเดือดร้อนทุกที เพราะเวลาใจขุ่นมัว เวลานั้นไม่เป็นมงคลแล้ว
ถ้าใครปรารถนาอยากให้มั่งมี ธุรกิจการงานเจริญรุ่งเรือง อย่าวิตกกังวล อย่าขุ่นมัว ทำใจใสๆเข้าไว้ ให้ใจผ่องใสอยู่เสมอ ๆ สภาพใจอย่างนี้ เดี๋ยวเงินทองจะไหลมาเทมา จะมีสมบัติไม่ขาดสาย เศรษฐกิจจะดี การเงินจะคล่องตัว นี่คือศิลปะในการทำหน้าที่การงาน บนหนทางแห่งความสำเร็จ ต้องให้ใจผ่องใส ใจสบาย ทำใจใส ๆ ให้ได้ตลอดเวลา แล้วจะพบแต่ความสุข ความสมปรารถนา เป็นผู้ที่ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง มีแต่ชัยชนะทุกเมื่อ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ที่นั้นก็เป็นสิริมงคล เพราะฉะนั้น ให้หยุดใจของเราให้ดี ให้ใจใส ให้สะอาด บริสุทธิ์ ไร้กังวลกับเรื่องราวต่าง ๆ จะได้ปลอดจากโลกธรรมทั้งหลาย มีความสุขอยู่ในโลกภายในที่แท้จริง
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๒๗๘ – ๒๘๕
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
อุบาสกอตุละ เล่ม ๔๒ หน้า ๔๖๒
1
โฆษณา