13 ธ.ค. 2021 เวลา 10:09 • ข่าวรอบโลก
ปัจจัยจีน กับเงินเฟ้อโลก
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
เงินเฟ้อโลกเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของปี ค.ศ. 2021 และจะเป็นเรื่องใหญ่ต่อไปในปี ค.ศ. 2022 โดยจะเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่งต่อทิศทางเศรษฐกิจการเมืองโลกต่อจากนี้
เงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งไป 6.2% เงินเฟ้อยุโรปพุ่งไป 4.1% ทั้งสองตัวเลขสูงสุดในรอบ 30 ปี แถมโรคเงินเฟ้อก็เริ่มลามมาไทย เงินเฟ้อไทยล่าสุดอยู่ที่ 2.4% สูงกว่าอัตราเฉลี่ยระยะยาว 20 ปี แต่ยังไม่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับเงินเฟ้อของประเทศอื่นๆ
1
ในเรื่องเงินเฟ้อของสหรัฐฯ นั้น หลายคนอธิบายว่ามาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังโควิด โดยมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งยังมีผลมาจากการอัดฉีดเงินเข้าระบบมหาศาลของรัฐบาลในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนี้อัดฉีดไปที่ครัวเรือนโดยตรง ทำให้ดีมานด์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งหมดนี้เป็นตัวดันให้ราคาสินค้าเพิ่ม
2
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานในช่วงที่ผ่านมาของจีน ทำให้ต้นทุนการผลิตในจีนสูงขึ้น การเข้าสู่ฤดูหนาวในจีนทำให้ดีมานด์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อรวมกับดีมานด์สินค้าที่เพิ่มขึ้นมหาศาลหลังโควิด ส่งผลให้ทุกโรงงานต้องเร่งกำลังการผลิตและมีความต้องการไฟยิ่งกว่าเดิม ทำให้พลังงานขาดแคลน ดันให้ต้นทุนพลังงานและการผลิตสูงขึ้น ราคาสินค้าและวัตถุดิบจากจีนที่ส่งไปสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตอกย้ำเงินเฟ้อขึ้นอีก
4
ทั้งสองเรื่องนี้เดิมหลายคนมองว่าเป็นเพียงเรื่องระยะสั้น ไม่ต้องคิดมาก เมื่อดีมานด์ค่อยๆ กลับสู่ปกติ และการขาดแคลนพลังงานในจีนดีขึ้น เงินเฟ้อก็จะผ่อนคลายไปเอง
แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลายคนตกใจเกือบตกเก้าอี้กับคำพูดของเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อยู่ๆ ก็ออกมาส่งสัญญาณว่า เงินเฟ้ออาจอยู่กับเรายาวนานกว่าที่คิด และไม่อยากให้ทุกคนคิดว่าเป็นเพียงเรื่องระยะสั้นอีกต่อไป
4
ผมเองเห็นคล้อยตามพาวเวล แต่ผมมีเหตุผลคือ “ปัจจัยจีน” ที่ผมคิดว่าสำคัญและพาวเวลเองไม่ได้กล่าวถึง ปัจจัยจีนในที่นี้หมายถึง การสิ้นสุดยุคสมัยที่จีนเป็น “โรงงานโลกราคาถูก” ซึ่งเคยช่วยกดให้ราคาสินค้าโลกต่ำมายาวนาน จากนี้ไปจีนอาจยังเป็นโรงงานโลกอยู่ก็ได้ แต่ของจากจีนจะค่อยๆ แพงขึ้น ไม่ได้ราคาถูกเหมือนเดิมอีกต่อไป
3
เหตุผลแรกคือ ต้นทุนแรงงานในจีนที่สูงขึ้น ก่อนหน้านี้ก็ค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ มานานแล้ว แต่ในยุคเงินเฟ้อโลกหลังโควิด ก็จะกดดันให้ค่าแรงจีนปรับขึ้นตามเงินเฟ้อด้วย ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตในจีนยิ่งปรับสูงขึ้น ไม่มีแล้วครับที่บอกว่าจีนเป็นแหล่งแรงงานราคาถูก
3
หลายคนอาจคิดว่า ถ้าราคาแรงงานจีนแพง ก็หาที่อื่นมาเป็น “โรงงานโลก” แทนจีน แต่ความเป็นจริงไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะไม่มีประเทศไหนได้เปรียบเรื่องสเกลการผลิตเหมือนจีน
มีคนถามว่า อินเดียก็มีคนมหาศาลเหมือนกันไม่ใช่หรือ แต่อินเดียจริงๆ แล้วปริมาณแรงงานน้อยกว่าจีน เพราะแรงงานผู้หญิงของอินเดียไม่ค่อยเข้าสู่ตลาดแรงงาน และอินเดียยังเป็นตลาดที่ยังไม่เปิดกว้างกับการเป็นฐานการผลิตโลกอย่างจีน
เหตุผลที่สองคือ ต้นทุนพลังงานของจีนที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ หลายคนมองว่า วิกฤตพลังงานของจีนในช่วงที่ผ่านมาเป็นปัญหาระยะสั้นที่จะผ่อนคลายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผมเห็นด้วยว่าวิกฤตจะผ่อนคลาย เพียงแต่แนวโน้มราคาพลังงานที่จะค่อยๆ สูงขึ้นจะไม่เปลี่ยนแปลงไป
1
ในอดีต ที่ต้นทุนการผลิตของจีนถูก นอกจากราคาแรงงาน อีกปัจจัยหนึ่งคือการที่จีนใช้พลังงานถ่านหินเป็นหลัก ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานราคาถูก แต่ในยุคที่วิกฤตโลกร้อนเป็นประเด็นสำคัญทั่วโลก และนโยบายของรัฐบาลจีนก็ชัดเจนว่าจะเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ส่งผลให้ราคาพลังงานในจีนมีแนวโน้มจะดีดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้สินค้าจากจีนราคาก็จะปรับสูงขึ้นไปด้วย
นักวิเคราะห์เริ่มมีศัพท์เรียกว่า เงินเฟ้อจากกระแสรักษ์โลก (greenflation) ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อเป็นเรื่องระยะยาว โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของโรงงานโลกอย่างจีน
3
ในขณะที่ของจากจีนแพงขึ้น แต่ไม่มีโรงงานโลกอื่นมาทดแทน สหรัฐฯ ก็ยังต้องซื้อของจากจีน ดังที่เราเห็นมาแล้วว่าการนำเข้าสินค้าจากจีนหลังสงครามการค้าและหลังวิกฤตโควิดมีแต่จะเติบโตขึ้น ไม่ได้ชะลอตัวลงเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเกิดปรากฎการณ์ใหม่ จากเดิมหลายสิบปีที่ผ่านมาที่จีนเป็นผู้ส่งออกเงินฝืด (ช่วยกดราคาสินค้าโลกให้ต่ำ) บัดนี้จีนจะกลายเป็นผู้ส่งออกเงินเฟ้อ (ดันราคาสินค้าโลก ซึ่งส่วนสำคัญผลิตจากจีน ให้สูงขึ้นต่อเนื่อง)
2
เหตุผลสุดท้ายคือ ปัจจัยเรื่องเงินหยวนแข็งค่า ซึ่งก็จะทำให้สินค้าจากจีนราคาสูงขึ้น ก่อนหน้านี้นักการเมืองสหรัฐฯ มักวิจารณ์ว่าค่าเงินหยวนอ่อนค่า ทำให้สินค้าจีนราคาถูกกว่าที่ควร และทำให้จีนได้เปรียบเรื่องการค้า แต่แนวโน้มตอนนี้คือนักการเมืองสหรัฐฯ ไม่ต้องกังวลเรื่องหยวนอ่อนค่าอีกต่อไป เพราะเงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตอนนี้เมื่อเปรียบเทียบกับดอลล่าร์ถือว่าแข็งค่าที่สุดในรอบ 3 ปี
แต่ปัญหาคราวนี้จะเป็นปัญหาใหม่ ไม่ใช่ว่าสินค้าจีนจะครองตลาดทั่วสหรัฐฯ เพราะราคาถูก แต่สินค้าจีนจะราคาแพงขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ นั้นอาจเฟ้ออยู่ยาวนานกว่าที่หลายคนคาดคิด
ช่วงปีที่ผ่านมา ความนิยมในการลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลจีน ยิ่งส่งผลให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นไปอีก มีนักวิเคราะห์บางคนมองว่า รัฐบาลจีนอาจไม่กังวลกับเรื่องเงินหยวนแข็งค่าเสียด้วย เพราะรัฐบาลจีนมีนโยบายอยากลดการพึ่งพาการส่งออกลง แถมยังต้องการลดการพึ่งพาดอลล่าร์ (Dedollarization) เพื่อต้องการให้หยวนขึ้นมาแข่งขันกับดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจัยจีนทั้งสามข้อนี้จะเป็นตัวผลักให้เงินเฟ้อโลกหลังโควิดกลายเป็นเรื่องระยะยาว ปัจจัยระยะสั้นอาจดันเงินเฟ้อทะลุเพดาน แต่เงินเฟ้อจะไม่ยอมลง เพราะมีปัจจัยพื้นฐานระยะยาวคือปัจจัยจีนเหล่านี้อยู่
1
เราอาจต้องเริ่มพูดคุยกันว่ายุคสมัยของเงินเฟ้อโลกนั้น จะส่งผลอะไรตามมาบ้าง โลกไม่เคยเจอปรากฎการณ์นี้มานานมากแล้วนะครับ เพราะกว่า 20 ปีที่ผ่านมาในยุคที่จีนเป็นโรงงานโลก เงินเฟ้อโลกต่ำมาตลอด จนมีหลายคนบอกว่า นักเศรษฐศาสตร์ในยุคนี้แทบไม่มีใครมีประสบการณ์รับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ
3
เงินเฟ้อส่งผลโดยตรงแน่นอนต่อเศรษฐกิจการเมือง เพราะกระเป๋าคนก็จะแฟบลง ที่ผ่านมา เงินเฟ้อกระทบความรู้สึกของคนสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจอย่างมาก แม้ตัวเลขอย่างอื่นทุกอย่างดีหมด แต่ผลสำรวจพบว่าคนทั่วไปรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี
เงินเฟ้อยังจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน คนรวยรวยขึ้น เพราะตลาดหุ้น ทองคำ บิตคอยน์อาจพุ่งต่อ เพราะคนเทถือสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อสู้เงินเฟ้อ แต่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชนชั้นน่าจะสูงขึ้น อาจเกิดกระแสโลกหมุนไปทางซ้ายยิ่งขึ้นด้วย
2
อย่างเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในตอนนี้ มีคำถามว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ควรทำอะไร ที่คนกลัวกันทั้งโลกคือธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อปรับลดดีมานด์ลง ซึ่งตามทฤษฎีจะช่วยแก้เงินเฟ้อ แต่ก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ช้า กระทบกับเศรษฐกิจโลกตามมาเป็นลูกโซ่ และอาจทำให้ตลาดการลงทุนผันผวนหนักได้
1
แต่สำคัญกว่านั้นคือ ผมยังไม่แน่ใจเลยว่านโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะช่วยลดเงินเฟ้อได้จริงไหม ถ้าสาเหตุพื้นฐานไม่ใช่เพียงแค่ดีมานด์หรือสภาพคล่องที่ล้นเกิน แต่ยังเป็นปัจจัยจีนที่เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนจากการเป็น “โรงงานโลกที่ผลิตของราคาถูก” มาเป็น “โรงงานโลกที่ผลิตของราคาแพง”
3
โลกหลังโควิดนี่ได้ทวนมาหลายกระแสแล้วนะครับ ตั้งแต่ทวนกระแสโลกาภิวัตน์ ทวนกระแสเศรษฐกิจเสรีนิยม ล่าสุดอาจทวนกระแสเดิมที่เงินโลกไม่เฟ้อมา 20 ปี
ปี ค.ศ. 2021 ต่อเนื่องถึงปี ค.ศ. 2022 อาจเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยของเงินเฟ้อโลกที่ต่อเนื่องยาวนานครับ
4
โฆษณา