15 ธ.ค. 2021 เวลา 15:13 • ประวัติศาสตร์
年賀状(เน็งกะโจ) ส.ค.ส. สไตล์ญี่ปุ่น
เครดิตภาพ : Boel
เหลือเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ปีใหม่แล้ว ธันวาคมเดือนแห่งเทศกาลและงานรื่นเริงต่าง ๆ ช่วงเวลาแห่งความสุข ความสนุก และรอยยิ้ม บางคนอาจจะนึกถึงงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ บางคนอาจนึกถึงของขวัญในวันคริสต์มาส บางคนอาจจะกำลังวางแผนว่าวันหยุดยาวช่วงปลายปีจะไปท่องเที่ยวที่ไหนดี แล้วคนญี่ปุ่นล่ะคิดเหมือนคนไทยอย่างพวกเรากันไหมนะ
3
นอกจากความสนุกสนานในช่วงบรรยากาศของนานาเทศกาลในเดือนธันวาคมนี้แล้ว คนญี่ปุ่นยังมีธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ ที่จะต้องทำในช่วงปลายปีแบบนี้ อย่างเช่น การทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ต้อนรับปีใหม่ (大掃除) การเตรียมไม้ไผ่และต้นสนตกแต่งหน้าบ้าน (門松) และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ การเตรียมไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ ที่เรียกว่า เน็งกะโจ (年賀状) คล้ายกับ ส.ค.ส. ของบ้านเราที่นิยมส่งอวยพรกันในช่วงปีใหม่
3
คาโดะมัทซึ, ต้นไผ่และกิ่งสนสำหรับประดับหน้าบ้านช่วงปีใหม่ เครดิตภาพ : Kotobank
การส่งไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ของคนญี่ปุ่นกลับไม่ได้มีความหมายเพียงแค่อวยพรกันตามเทศกาลเท่านั้น เพราะคนญี่ปุ่นจะส่งไปรษณียบัตรนี้ถึงทุกคนที่ตนรู้จัก ไม่เฉพาะเพียงแค่คนที่นาน ๆ ครั้งจะพบปะกันสักหนหนึ่ง แต่กลับรวมไปถึงคนรู้จักที่พบเจอกันอยู่เป็นประจำ ทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน ครูบาอาจารย์และผู้ที่เคยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาอีกด้วย โดยแฝงความรู้สึกขอบคุณและขอโทษต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ทำด้วยกันมาตลอดระยะเวลาหนึ่งปี
3
ธรรมเนียมการส่งคำอวยพรที่มีมานับพันปี
ว่ากันว่ามีการค้นพบหลักฐานเป็นจดหมายของขุนนางในยุคเฮอัน 平安時代 (ค.ศ. 794-1185) ที่มีชื่อว่า ฟูจิวาระ โนะ อาคิฮิระ (藤原明衡、ค.ศ. 989-1066) ผู้มีบทบาทสำคัญในราชสำนักที่ได้ส่งถึงญาติพี่น้อง, ขุนนางด้วยกันเอง รวมไปถึงเหล่าเชื้อพระวงศ์ที่อยู่ห่างไกลกันในช่วงปีใหม่ เพื่อเป็นการทักทายและไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ
3
ต่อมาในยุคเอโดะ (ค.ศ. 1600-1868) ธรรมเนียมการส่งจดหมายทักทายปีใหม่ได้กระจายไปสู่ชนชั้นซามูไร และบรรดาพ่อค้า มีม้าเร็วช่วยส่งจดหมาย และในยุคนี้เริ่มมีผู้คนนิยมตั้งกล่องรับจดหมายไว้หน้าบ้านเรียกว่า กล่องรับนามบัตร (名刺受) สำหรับรับจดหมายในช่วงเวลาที่ไม่อยู่บ้าน
3
กล่องจดหมายยุคเอโดะ เครดิตภาพ : Yahoo
กระทั่งเข้าสู่ยุคเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) การศึกษาได้แผ่ขยายไปถึงคนทุกระดับชั้น ประชาชนส่วนใหญ่อ่านออกเขียนได้ ผู้คนจึงเขียนจดหมายถามสารทุกข์สุกดิบกันมากขึ้น ประกอบกับในปีเมจิที่ 6 (ค.ศ. 1873) การไปรษณีย์ได้จัดทำไปรษณียบัตรแบบพิเศษเพื่อให้ประชาชนส่งหากันในช่วงปีใหม่ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรก และ 14 ปีถัดมา ราว ๆ ปีเมจิที่ 20 (ค.ศ. 1887) การส่งไปรษณียบัตรแบบพิเศษในช่วงปีใหม่ก็ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเรื่อยมา แต่ทว่า...
3
ไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ในยุคเมจิ เครดิตภาพ : ASCII
เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1937-1945) ต่อเนื่องจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945) บ้านเมืองอยู่ในช่วงวิกฤต ประชาชนทั่วไปต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน การส่งจดหมายและไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ลดลงไปเรื่อย ๆ จนหายไปในที่สุด
2
ช่วงเวลาของสงครามสิ้นสุดลง เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล แม้บ้านเมืองจะเริ่มกลับเข้าที่เข้าทาง แต่กิจการงานไปรษณีย์ก็ไม่ได้กลับมาเป็นที่นิยมอย่างเช่นในอดีต ขณะนั้นคุณฮายาชิ มาซาฮารุ (林正治) ชาวเมืองเกียวโต มีความคิดว่า หากนำเอาการจับสลากรางวัลมาใส่ไว้ในไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ จะทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจที่จะส่งไปรษณีบัตรถามหาข่าวคราวซึ่งกันและกัน เพราะช่วงสงครามผู้คนขาดการติดต่อจากญาติพี่น้องเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้อาจช่วยให้ประชาชนได้ฟื้นฟูสภาพจิตใจจากการสูญเสียก็เป็นได้
3
โปสเตอร์โฆษณาไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ เครดิตภาพ : Japan Post
และในปี ค.ศ. 1949 การไปรษณีย์ได้นำเอาไอเดียของคุณฮายาชิมาใช้จัดทำไปรษณียบัตรที่มีเลขสลากออกจำหน่าย โดยในช่วงแรกนั้นได้กำหนดรางวัลพิเศษเป็นจักรเย็บผ้า รางวัลที่ 1 ผ้าสำหรับเย็บเสื้อ, รางวัลที่ 2 ถุงมือเบสบอล, รางวัลที่ 3 ร่ม เป็นต้น ซึ่งสิ่งของที่นำมาเป็นรางวัลก็มักจะเป็นสิ่งของที่คนธรรมดาทั่วไปไม่สามารถหาซื้อได้เนื่องจากมีราคาแพง
2
รางวัลสลากได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อย่างในยุค 50 เป็นจักรเย็บผ้า เครื่องซักผ้า, ยุค 60 เป็นโทรทัศน์ขาว-ดำ วิทยุ, ยุค 80 เป็นโทรทัศน์สี กล้องถ่ายรูป เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าสร้างสีสันให้กับไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ได้ดีทีเดียว ปัจจุบันรางวัลสลากไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ได้เปลี่ยนมาเป็นเงินสด โดยรางวัลที่ 1 มีจำนวน 1,833 รางวัล รางวัลละ 300,000 เยน (ราว ๆ 90,000 บาท)
2
ความนิยมในการส่งไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 2003 มียอดขายไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่สูงสุดที่ 4,460 ล้านใบ เฉลี่ยอยู่ที่ 1 คนจะส่งไปรษณียบัตร 240 ใบนั่นเอง
3
นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับช่วงเวลาที่ไปรษณียบัตรจะถึงมือผู้รับเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่แล้วนิยมส่งไปรษณียบัตรภายในวันที่ 15-25 ธันวาคม เพื่อให้ไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ถึงมือผู้รับในวันที่ 1 มกราคมปีถัดไปพอดิบพอดี จึงไม่ต้องแปลกใจหากเพื่อน ๆ มาเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงเทศกาลปีใหม่ แล้วเห็นรถมอเตอร์ไซค์ของพี่ ๆ ไปรษณีย์วิ่งกันขวักไขว่ นั่นก็เป็นเพราะว่าพวกเขากำลังขะมักเขม้นกับการส่งความสุขและความระลึกถึงแก่ผู้รับปลายทางอยู่นั่นเอง
4
บรรดาบุรุษไปรษณีย์ที่ออกไปทำหน้าที่ส่งคำอวยพรปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม                       เครดิตภาพ : Chunichi
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
การส่งไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน หากภายในระยะเวลาหนึ่งปีนี้ครอบครัวของผู้จะส่งหรือผู้จะรับไปรษณียบัตรเพิ่งผ่านการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวไป เป็นมารยาทที่จะไม่ส่งหรือรับไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาของการไว้อาลัยนั่นเอง
3
เครดิตภาพ : TOYOKEIZAI
โฆษณา