16 ธ.ค. 2021 เวลา 01:09 • ประวัติศาสตร์
เมื่อไม่นานนี้ คณะนักวิจัยจากสถาบันทรัพยากรภูเขา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์มณฑลกุ้ยโจวของจีน เปิดเผยการค้นพบฟอสซิลแพนด้ายักษ์อายุกว่า 1 แสนปี ในถ้ำท้องถิ่นที่มีความยาวมากที่สุดในเอเชีย
คณะนักวิจัยพบฟอสซิลแพนด้ายักษ์ป่า จำนวน 2 ชิ้น ในถ้ำซวงเหอ (Shuanghe Cave) ของเมืองจวินอี้ และใช้เทคโนโลยีหาอายุจากสารเคลือบฟัน วิเคราะห์จนพบว่าฟอสซิลชิ้นหนึ่งมีความเก่าแก่ราว 1.02 แสนปี ส่วนฟอสซิลอีกชิ้นมีความเก่าแก่ราว 4.9 หมื่นปี
หวังเต๋อหยวน ผู้ช่วยนักวิจัยของสถาบันฯ ระบุว่าการค้นพบฟอสซิลแพนด้ายักษ์สภาพดีเช่นนี้เป็นเรื่องหายากมาก และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ล่าสุดพบหลักฐานของกระดูกในเอ็นกล้ามเนื้อที่มีลักษณะเป็นแฉกอยู่ในฟอสซิลทั้งสอง
แขนขาของแพนด้ายักษ์นั้นแตกต่างจากแขนขาของหมีชนิดอื่น ๆ ด้วย “นิ้วหัวแม่มือ” พิเศษ เพราะแพนด้ายักษ์ใช้นิ้วหัวแม่มือไว้จับถือไผ่ตอนกิน โดยนิ้วหัวแม่มือเป็นกระดูกข้อมือที่ขยายใหญ่ขึ้นอย่างผิดปกติ และช่วยให้แพนด้ายักษ์สามารถจับกิ่งไผ่ได้
ผู้ช่วยนักวิจัยของสถาบันฯ ระบุว่า การค้นพบนี้สะท้อนว่าแพนด้ายักษ์ในยุคสมัยนั้นมีสภาพร่างกายที่สามารถใช้อุ้งเท้าหน้าจับไผ่อย่างคล่องแคล่วเหมือนแพนด้ายักษ์ยุคใหม่แล้ว และช่วยเพิ่มความเข้าใจวิวัฒนาการทางการกินอาหารของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้
ถ้ำซวงเหอ มีความยาวกว่า 238 กิโลเมตร เป็นที่อยู่อาศัยอันเหมาะสมกับแพนด้ายักษ์ในยุคนั้น เพราะมีโครงสร้างภายในซับซ้อนและรูโพรงเชื่อมถึงกันจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีการค้นพบฟอสซิลแพนด้ายักษ์ในถ้ำแห่งนี้เกือบ 30 ชิ้น รวมถึงฟอสซิลของหมาจิ้งจอก แรด หมีดำ ช้างสเตโกดอน ชะมดเช็ดใหญ่ และอื่น ๆ
ที่มา: สำนักข่าวซินหัว (11 ธ.ค. 64)
โฆษณา