17 ธ.ค. 2021 เวลา 06:57 • การเมือง
เปิดปูมหลังรัฐธรรมนูญไทยฉบับปฐมบท
89ปีรธน.แห่งการเปลี่ยนผ่านในวังวน EP.1
หากวิเคราะห์ถึงการปฏิวัติ ที่ถูกเรียกว่าปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย
และเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรก ซึ่งจะพบความเชื่อมโยงของอดีตที่ย้อนไปถึงสมัย"กบฏ ร.ศ.130"
89ปี รธน. หากวิเคราะห์ถึงการปฏิวัติที่ถูกเรียกว่าปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย ติดตามการมองอดีตสู่ปัจจุบัน
หมุดทองเหลืองที่ถูกฝังอยู่กับพื้นถนน บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า เป็นตำแหน่งที่ "นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา"ได้ยืนอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 มีข้อความว่า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิด "รัฐธรรมนูญ" เพื่อความเจริญของชาติ"
วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ไว้ว่า "คณะราษฎร"ใช้กลลวงนำทหารบกและทหารเรือ ประมาณ 2,000 คน ไปรวมตัวกันบริเวณรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่า เป็นการสวนสนาม
จากนั้น"นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา" จึงอ่านประกาศ คณะราษฎรฉบับที่ 1 ยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อ และเมื่อก่อการสำเร็จ ได้นำไปสู่การตั้งรัฐบาลขึ้นมา จึงถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ และมีการประพันธ์เพลงวันชาติ 24 มิถุนา โดย "ครูมนตรี ตราโมท"ไว้ด้วย ถือเป็นภาพจำสำคัญอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย
หากวิเคราะห์ถึงการปฏิวัติครั้งนั้น ที่ถูกเรียกว่าปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย และเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรก ซึ่งจะพบความเชื่อมโยงของอดีตที่ย้อนไปถึงสมัย"กบฏ ร.ศ.130" ในรัชสมัยของสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเกิดความพยายามก่อการปฏิวัติโดยกลุ่มนายทหารหนุ่มหัวสมัยใหม่ ที่มองว่า การปกครองของไทยล้าหลังเนื่องจากประเทศใหญ่หลายประเทศ ต่างปรับรูปแบบการปกครองเป็นสาธารณรัฐกันเกือบทั่วโลกแล้ว โดยเฉพาะประเทศในยุโรป อเมริกา และจีน
โดยแนวคิดนี้ ได้ฝังรากลึกและส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อไปยัง "คณะราษฎร" แม้การปฏิวัติครั้งแรกในสมัย ร.ศ.130 จะทำไม่สำเร็จ เพราะข้อมูลรั่วไหล จนถูกกวาดล้างจับกุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2455 แต่แนวคิดนี้ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจ และบทเรียนสำคัญให้นายทหารนักปฏิวัติรุ่นน้อง คือ "คณะราษฎร" จนก่อการได้เป็นผลสำเร็จในอีก 20 ปีต่อมา และได้ตรารัฐธรรมนูญขึ้นเป็นฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475"
และแม้จะได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยระเบียบการปกครองประเทศชั่วคราว แต่นัยยะหรือสาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ก็ถือเป็นต้นแบบของการบริหารประเทศโดยให้สิทธิกับประชาชนไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยการกำหนดไว้ว่า...
"อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตย เป็นของราษฎรทั้งหลาย"
ขณะเดียวกันยังกำหนดบทบาทการปกครองที่แม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ถือว่า "พระมหากษัตริย์" ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวร และมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์
ส่วนเนื้อหาที่ว่าด้วยอำนาจในการบริหาร กำหนดให้ประกอบขึ้นจากหลายฝ่าย ซึ่งการใช้อำนาจสูงสุด จะมีบุคคลและคณะบุคคล เป็นผู้ใช้อำนาจแทนประชาชน คือ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล ขณะที่ลักษณะการปกครองและการปฏิบัติราชการต่างๆ ก็จะต้องมีกรรมการราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจึงจะใช้ได้...แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ถูกใช้อยู่เพียงไม่นาน
กระทั่งในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดเป็นที่ประชุมรัฐสภา และได้ทรงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศประเทศไทยจึงมี "รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2"
และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งผู้บริหารชุดใหม่ในนามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจำนวน 20 คน โดยให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีรัฐมนตรีประจำกระทรวง 7 กระทรวง และรัฐมนตรีลอยอีก 13 คน แทนผู้บริหารตามรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศชั่วคราว ที่กำหนดให้มีสมาชิก 70 คน ซึ่งแต่งตั้งจากคณะราษฎร 31 คน และจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในระบอบเดิม 39 คน โดยให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎร เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และนาย ปรีดี พนมยงค์ เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก
จากนั้นถัดมาอีก 2 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่พระองค์ได้พระราชทานนั้น ถูกใช้ปกครองประเทศต่อมาเกือบ 14 ปี จนวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2489 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงถูกยกเลิกไป ด้วยเหตุผลที่ว่า มีเนื้อหาล้าสมัย
แต่ก่อนที่จะได้รับการยกเลิกไป ได้มีการแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไปถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2482 แก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วยนามประเทศ จาก "สยาม" เป็น "ไทย" ตามข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งมีนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม หรือแปลก ขีตตะสังคะ เป็นนายกรัฐมนตรี ยังผลให้ชื่อของรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนเป็น "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ไปด้วย
ส่วนครั้งที่ 2 ถูกปรับปรุงเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2483 โดยแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล ซึ่งเสนอโดย "ขุนบุรัสการกิตติคดี" หรือ "นาย เหมือน บุรัสการ" ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี โดยการสนับสนุนของรัฐบาล ที่มีนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี อันมีผลให้บทเฉพาะกาล ซึ่งควรจะต้องสิ้นสุดในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2485 เป็นอย่างช้า แต่กลับต้องยืดเวลาออกไปอีก 10 ปี ซึ่งแก่นแท้ของการเสนอยึดบทเฉพาะกาล ก็คือ การคงอยู่ต่อไปอีกของสมาชิกประเภทที่ 2 อันมาจากการแต่งตั้ง
และการแก้เป็นครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งมีจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ ส.ส.สามารถขยายเวลาอยู่ในตำแหน่งออกไปอีกคราวละ 2 ปี
ซึ่งหากวิเคราะห์ถึงปูมหลังที่มาของรัฐธรรมนูญ ที่ถือต้นแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยในสมัยแรกหลังผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 พบว่า กฎหมายสูงสุดทั้งสองฉบับ ได้สะท้อนภาพสังคมไทยในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นที่พยายามคานอำนาจกันเอง ทั้งฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายจารีตนิยม โดยที่ประชาชนคนไทยก็ยังไม่มีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางรากฐานมากนัก
ติดตามย้อนรอยตำนาน 89ปีรธน.ไทย EP อื่นๆ ที่คมชัดลีกออนไลน์ #89ปีรธน.ไทย #10ธันวาวันรัฐธรรมนูญ #คมชัดลึก #การเมืองวันนี้
อ่านเพิ่มเติม
โฆษณา