21 ธ.ค. 2021 เวลา 04:00 • ธุรกิจ
9 พฤติกรรมของผู้สมัครที่ HR ขอลาก่อน!!
❌ใส่ข้อมูลใน Resume มาจนรก ข้อมูลน่าสนใจเอาไว้ท้ายสุด
บางคนชอบใส่ข้อมูลประวัติส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานมาซะเยอะ ส่วนประวัติการทำงานที่สำคัญก็เอาไปไว้ล่าง ๆ ถ้า HR เปิดเรซูเม่มาเจอตัวหนังสือเรียงกันเป็นพืด หรือข้อมูลไม่ดึงดูดความสนใจได้ตั้งแต่วินาทีแรก ๆ โอกาสที่ HR จะสนใจเราและอ่านเรซูเม่ส่วนอื่น ๆ ต่อก็มีน้อย เพราะ HR ไม่มีเวลามาดูเรซูเม่แต่ละใบนานหรอก
❌Portfolio เยอะจนลายตา ส่งไฟล์มาเป็นภาษาต่างดาว
สำหรับผู้สมัครงานสายที่ต้องใช้ Portfolio บางคนก็เล่นใส่ผลงานแบบเน้นปริมาณจนดูแล้วลายตาไปหมด หรือตกแต่งสีสันมาจนดูไม่ออกว่าอันไหนงานอันไหนพร็อพ ควรเลือกเฉพาะชิ้นงานที่ดีที่สุด หรือชิ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัคร โดยนำเสนอในรูปแบบที่ทำให้ผลงานดูเด่น รวมถึงเราควรส่ง Portfolio ด้วยไฟล์รูปภาพหรือ PDF เพื่อที่ตัวหนังสือจะได้ไม่เคลื่อน และหากไฟล์มีขนาดใหญ่มาก หรือมีจำนวนหลายไฟล์ ก็ให้ฝากไฟล์ไว้บนพื้นที่ออนไลน์ต่าง ๆ แล้วส่งเป็นลิงก์แทน
❌กรอกใบสมัครไม่ละเอียด ส่งมาโดยไม่เช็กความถูกต้องก่อน
หลายคนอาจเห็นว่ามันก็เป็นแค่ใบสมัครงานเลยไม่ได้สนใจนัก กรอกไม่ละเอียด กรอกไม่ครบทุกช่อง หรือถ้าเป็นกรณีกรอกใบสมัครบนไฟล์ PDF ที่ใช้วิธีพิมพ์ข้อมูลต่าง ๆ ลงในไฟล์ บางทีฟอนต์ก็เด้งจากช่องที่ให้กรอกได้ ซึ่งทำให้ HR รู้สึกได้ว่าแค่ใบสมัครงานคุณยังไม่ใส่ใจ แล้วถ้าเข้าไปทำงานจะไหวเหรอ ดังนั้นจึงควรกรอกให้ครบทุกช่อง ถ้าไม่มีข้อมูลให้ใส่ในช่องนั้นจริง ๆ ก็ขีดเพื่อความเรียบร้อย รวมถึงถ้ากรอกบนไฟล์ PDF เมื่อเซฟไฟล์มาแล้วก็เช็กอีกทีว่าตัวหนังสือที่เรากรอกเด้งออกจากช่องไหม ที่สำคัญอย่าสะกดผิดเด็ดขาด
❌มารยาทพื้นฐานไม่มี สายจนคนสัมภาษณ์ต้องรอ
เรื่องมารยาทคือสิ่งใกล้ตัวที่หลายคนเผลอมองข้าม เช่น กรณี HR เคยโทรมาคุยกับเราแล้ว และเขาโทรมาหาเราอีกครั้งแต่เป็น Missed Call แล้วดันไม่โทรกลับ เพราะไม่รู้ว่าเป็นสายจากใคร หรือพูดคุยยังไม่ทันจบและบอกลาให้เรียบร้อยก็รีบวางหูไปซะงั้น รวมทั้งมาสายจน HR ต้องนั่งรอ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการได้งานเพราะเรื่องผิดพลาดพวกนี้ เราก็ต้องระมัดระวังให้ดี
❌พาพ่อแม่มาตามติดการสัมภาษณ์ถึงขอบสนาม
การพาพ่อแม่พี่น้องมาเฝ้าในวันสัมภาษณ์ เกาะติดทุกสถานการณ์ ชนิดที่ยืนเกาะประตูไม่ห่างเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างมาก มันทำให้ HR รู้สึกอึดอัด และไม่เป็นส่วนตัว รวมถึงการทำแบบนี้ยังบ่งบอกให้เห็นว่าเรายังไม่โตพอที่จะทำอะไรคนเดียว รับผิดชอบตัวเองไม่ได้ และถูกมองไปอีกว่าเรานั้นอาจจะมีปัญหาในการทำงาน ไม่สามารถที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างดี
❌เล่าประวัติส่วนตัวยาวจนง่วง แต่ประวัติการทำงานสั้นนิดเดียว
ผู้สมัครหลายคนเล่าประวัติส่วนตัวซะยืดยาว แต่พอถึงคราวประวัติการทำงานกลับบอกสั้น ๆ แถมไม่ระบุระยะเวลาทำงานแต่ละที่อีกต่างหาก จำไว้ว่า HR สนใจว่าเราทำงานอะไรมามากกว่าอยากรู้ว่าเรามีพี่น้องกี่คน ดังนั้นบอกประวัติส่วนตัวคร่าว ๆ หรือเฉพาะที่ส่งเสริมกับตำแหน่งที่สมัครก็พอ และมาจัดเต็มที่ประสบการณ์การทำงาน ส่วนระยะเวลาการทำงานของแต่ละที่ ถ้าทำไม่กี่เดือนแต่มั่นใจว่าได้เรียนรู้ ได้ทำโปรเจกต์สำคัญก็บอกไปได้ แต่ต้องบอกไปด้วยว่าเราได้อะไรจากงานนั้น รวมถึงเราต้องตอบเหตุผลที่ลาออกจากที่นั่นให้ชัดเจน
❌ถามคำตอบคำ พูดเสียงเบาเหมือนคนไม่มั่นใจ
เวลาสัมภาษณ์ควรพูดจาฉะฉาน ให้เขาเห็นว่าเราพกความมั่นใจมามากแค่ไหน หรือบางคนเป็นคนพูดน้อยโดยนิสัย ทำให้เวลาสัมภาษณ์กลายเป็นว่าถามคำตอบคำ ซึ่งการทำแบบนี้อาจทำให้เสียโอกาสในขายตัวเองอย่างมาก รวมถึงถ้าคนสัมภาษณ์ถามว่าเราอยากถามอะไรเพิ่มเติมไหม อย่าบอกว่าไม่มี แต่ให้ถามถึงข้อมูลที่ตัวเองอยากรู้เกี่ยวกับบริษัทหรือการทำงานนี้ให้มากทีสุด เพื่อเขาจะได้เห็นความกระตือรือร้นอยากทำงานของเรา
❌ไม่รู้คำตอบแต่ขอมั่วไว้ก่อน
การเจอคำถามที่ตอบไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดาในการสัมภาษณ์ แต่ผู้สมัครบางคนแม้ไม่รู้คำตอบก็พยายามจะตอบแบบมั่ว ๆ ไปก่อน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ปัญหาอาจจะตามมาได้ เพราะเมื่อเราตอบมั่วไปแล้ว เราก็ต้องมั่วไปเรื่อย ๆ คนสัมภาษณ์เขาก็อาจจะถามต่อให้เราจนมุมเลยก็ได้ วิธีแก้ไขคือ ถ้าเราไม่รู้คำตอบก็บอกออกไปตรง ๆ แต่ไม่ใช่ตอบว่า “ไม่รู้” ออกไปห้วน ๆ แล้วจบ ควรจะตอบว่าไม่แน่ใจคำตอบเท่าไหร่ หรืออาจจะจำได้ไม่หมด และให้ต่อท้ายด้วยการบอกสิ่งที่ตัวเองรู้ที่พอจะเกี่ยวข้องกับคำถามเขาให้ได้มากที่สุดแทน
❌ต่อว่าบริษัทที่เราทำงานให้ฟังอย่างออกรส
เมื่อถูกถามถึงการฝึกงานในช่วงมหาวิทยาลัยหรือการทำงานในบริษัทที่ทำอยู่และเคยทำมา หลายคนตกม้าตายกับการตอบด้วยทัศนคติในแง่ลบ เช่น ที่ฝึกงานสอนงานไม่โอเค ไม่เคยสอนเรื่องที่ผู้สัมภาษณ์ถาม บริษัทที่เคยทำใช้งานหนักมาก หัวหน้าไม่ดี สวัสดิการแย่ หรือเล่าเรื่องราวในแง่ลบของบริษัทที่เราอยู่ให้ผู้สัมภาษณ์ฟังอย่างออกรส ซึ่งการเผาบ้านตัวเองแบบนี้นอกจากจะทำให้เราดูเป็นคนทัศนคติไม่ดีแล้ว คนสัมภาษณ์จะเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่าเมื่อคนคนนี้ลาออกไปหลังจากที่เข้ามาทำงานกับเขาแล้ว จะเอาบริษัทไปด่าให้คนอื่นฟังต่อเหมือนที่กำลังทำอยู่ไหม ดังนั้นสิ่งที่เราต้องจำให้ขึ้นใจคือ หลีกเลี่ยงการตอบที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติแง่ลบจะดีกว่า
อ่านบทความอื่น ๆ ของ JobThai คลิกเลย 👉 https://blog.jobthai.com
โฆษณา