24 ธ.ค. 2021 เวลา 15:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ปริมาณความต้องการน้ำมันฟื้นคืนกลับมาได้อย่างยิ่งใหญ่ในปี 2021 จากช่วงเวลาซบเซาที่เกิดขึ้นระหว่างภาวะวิกฤตของ COVID-19 และการบริโภคน้ำมันทั่วโลกในปี 2022 ก็ยังมีโอกาสที่จะพุ่งขึ้นจนกลายเป็นสถิติท่ามกลางกระแสลดการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิล
น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งแบบเบนซินและดีเซลต่างถูกใช้งานเพิ่มขึ้นในปีนี้จากการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับคืนมา องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่าการบริโภคน้ำมันจะขยับขึ้นจาก 96.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (bpd) ในปีนี้ไปเป็น 99.53 ล้าน bpd ในปีหน้า
ซึ่งจะกลายเป็นแรงกดดันให้กับองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC) และอุตสาหกรรมหินน้ำมันในสหรัฐฯ โดยเฉพาะหลายประเทศที่เป็นสมาชิกของ OPEC ยังคงประสบปัญหาในการฟื้นกำลังการผลิตให้กลับคืนมายังระดับเดิม
หลังการออสตาร์ทปี 2021 โดยราคา $52 ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ก็ทำราคาทะยานขึ้นไปสูงสุดถึง $86 ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มจะไต่ระดับขึ้นต่อในปีหน้าหากไม่มีการจัดหาออกมามากกว่าที่คาดการณ์ไว้
เชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนถือเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ โดยหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านพลังงานของ Goldman Sachs ได้ให้ความเห็นว่า หากมีการระบาดซ้ำอีกระลอกก็จะเกิดผลกระทบในทางลบต่ออัตราการเติบโตในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2022
แต่หากยังคงมีการฟื้นตัวเกิดขึ้นตามมา ปริมาณความต้องการน้ำมันที่กลับมาเทียบเท่าระดับก่อนเกิด COVID-19 ได้ในช่วงสั้น ๆ เมื่อตอนต้นเดือนพ.ย. ก็น่าจะมีโอกาสสร้างสถิติราคาใหม่ขึ้นมาได้เกือบตลอดทั้งปี 2022
ท่ามกลางปัญหาราคาที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็ทำให้สหรัฐฯและ OPEC มีข้อขัดแย้งเรื่องปริมาณของการจัดหา หากแต่อุตสาหกรรมหินน้ำมันในสหรัฐฯเองก็ไม่ได้ตอบสนองต่อปัญหานี้อย่างที่เคย โดยยอมทำตามแรงกดดันของนักลงทุนที่ระงับการใช้จ่ายในส่วนนี้
นักวิเคราะห์จาก Rystad Energy มองว่า แคนาดา, นอรเวย์, กายอานา และบราซิลน่าจะช่วยเสริมปริมาณการจัดหาน้ำมันได้ในปีถัด ๆ ไป โดยคาดหมายถึงผลผลิตโดยเฉลี่ยจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่ 11.9 ล้าน bpd สำหรับปี 2022
IEA ให้ความเห็นเกี่ยวกับโอไมครอนไว้ว่า เคสผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้การเกิดชะลอตัวในกลุ่มประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ และลดผลทำนายการบริโภคน้ำมันโดยเฉลี่ยสำหรับปี 2021 และ 2022 ลง 100,000 bpd จากการเดินทางโดยเครื่องบินที่ลดลง
อย่างไรก็ตามยังมีหลักฐานเพียงน้อยนิดที่ชี้ว่าโอไมครอนจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อความต้องการ โดยปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่คลัง Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) ในยุโรปยังคงลดลงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งบ่งบอกถึงการบริโภคอย่างสม่ำเสมอ
ในเอเชียผลกำไรขั้นต้นของการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุดเริ่มมีการขยับลงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับโอไมครอน แต่ความคาดหมายในระดับทั่วไปของปีหน้ายังคงมองไปถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลกำไรที่สูงขึ้นจากพวกน้ำมันดีเซล
นักวิเคราะห์หลายคนยังให้ความเห็นว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอย่างอินโดนีเซียและไทยน่าจะมีการฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งในปีหน้า ในขณะที่ผู้บริหารของ JBC Energy คาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันในเอเชียจะเติบโตขึ้นอีก 350,000 bpd ในปี 2022
References :
โฆษณา