25 ธ.ค. 2021 เวลา 22:00 • ธุรกิจ
ร้านสะดวกซื้อในสถานีรถไฟญี่ปุ่นปรับตัวเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็ก เปลี่ยนสินค้าที่จำหน่ายตามช่วงเวลา
บริษัท Keihan Holdings ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่ที่มีทั้งธุรกิจรถไฟ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงธุรกิจบริการ และสถานที่สันทนาการมากมาย ได้ประกาศจะปรับรูปแบบร้านสะดวกซื้อในสถานีรถไฟที่ตนบริหารอยู่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กแทน โดยจะเพิ่มการวางจำหน่ายสินค้าอาหารข้าวกล่อง ขนมปัง กับข้าวต่างๆ ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือของตนเป็นผู้ผลิตขึ้น ทั้งยังมีแผนจะวางจำหน่ายของสด เช่น ผักผลไม้ และอาหารสดปรับเปลี่ยนตามเวลาในแต่ละช่วงอีกด้วย ทั้งนี้สาเหตุในการปรับยุทธศาสตร์การจำหน่ายนี้เป็นผลมาจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้มีผู้ใช้บริการสถานีรถไฟน้อยลง แต่มีความต้องการสำหรับกลุ่มพนักงานออฟฟิศ และลูกค้าที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงมากขึ้น บริษัทจึงได้พยายามปรับรูปแบบสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ในปัจจุบันมากขึ้น
ร้านค้าขนาดเล็กในสถานีรถไฟ Temmabashi ของ Keihan ทางโอซาก้านี้สามารถเรียกความสนใจของลูกค้าเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงก่อนตั้งแต่มีการเริ่มวางจำหน่ายสินค้าปรับเปลี่ยนไปตามเวลาแต่ละช่วงในแต่ละวัน เช่น ใกล้เวลาช่วงเที่ยง จะมีการวางจำหน่ายข้าวกล่องทำมือ ขนมปัง ซูชิ เป็นต้น พนักงานบริษัทต่างๆ ก็จะมาซื้อทานกันเป็นจำนวนมาก พอเลยช่วงเที่ยงไป ร้านก็จะปรับสินค้าใหม่ โดยพนักงานจะนำผักสด เช่น แครอท หัวไชเท้า มาวางจำหน่ายแทน แม่บ้านในละแวกนั้นก็จะมาที่ร้านเพื่อเลือกซื้อกันจำนวนมาก
ก่อนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายนี้ ร้านก็เป็นร้านสะดวกซื้อ "AN3" ที่พื้นที่ส่วนมากจะวางจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ๆ แต่การปรับเปลี่ยนนี้ลดสัดส่วนสินค้าเหล่านี้ลงเหลือที่ประมาณร้อยละ 60 ในขณะที่เพิ่มสินค้าแบรนด์ตนเอง (Private brand) มากขึ้น บริษัท Keihan Holdings ยังแถลงอีกว่าจะลงทุนประมาณ 300 ล้านเยน (ประมาณ 88 ล้านบาท) ภายในปี 2566 เพื่อ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ในร้านสะดวกซื้อ AN3 จำนวน 19 สาขาที่มีพื้นที่จำหน่ายสินค้ากว้างขวางจากทั้งหมด 32 สาขา ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อที่มีพื้นที่เล็ก 13 สาขา เช่น ร้านค้าบนชานชาลารถไฟ จะปรับรูปแบบให้บริษัทอื่นเช่า หรือเปลี่ยนเป็นตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติแทน
โดยบริษัทได้แถลงว่า เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งให้มีพนักงานที่ทำงานที่บ้านกันมากขึ้น โอกาสในการใช้บริการรถไฟจึงลดลง ทำให้ยอดขายของร้านสะดวกซื้อ AN3 ตกลงมากเมื่อเทียบกับก่อนมีสถานการณ์โควิด-19 การปรับรูปแบบสินค้าที่จำหน่ายใหม่ให้ต่างจากรูปแบบของร้านสะดวกซื้อธรรมดา สร้างเอกลักษณ์ใหม่ จับกลุ่มเป้าหมายอื่นนอกจากแค่ผู้ใช้งานสถานีรถไฟคาดว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่จะมาช่วยกู้วิกฤตในครั้งนี้ได้ ถึงแม้ว่าจำมีการลดจำนวนสาขาลง แต่ยอดขายต่อร้านก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 เทียบกับปีงบประมาณ 2562
นอกจากนี้ ในเมืองเกียวโตก็มีแผนจะนำของฝากท้องถิ่นสำหรับนักท่องเที่ยวมาวางจำหน่ายตามร้านค้าด้วย ตลอดจนพิจารณาที่จะวางจำหน่ายสินค้าจำพวกเครื่องสำอางจากพืช และพวกผักออร์แกนิกอีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม/ ความคิดเห็นของ สคต.
สถานการณ์โควิด-19 ในปีที่ผ่านมาทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไป ทั้งสาเหตุจากรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปด้วย กล่าวคือมีการปรับรูปแบบไปทำงานจากบ้าน หรือ Work from home กันมากขึ้น ร้านสะดวกซื้อที่เดิมเน้นการเปิดร้านในย่านสำนักงาน สถานีรถไฟต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากมีผู้ใช้บริการลดลงมาก การปรับรูปแบบต่างๆ ก็มีกันให้เห็นเรื่อยมา
แต่ทั้งนี้การปรับรูปแบบร้านสะดวกซื้อ AN3 ของบริษัท Keihan Holdings ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่ที่มีหลายธุรกิจนี้ ชี้ให้เห็นถึงเทรนด์ของสินค้าที่จะวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต โดยเฉพาะการวางจำหน่าย สินค้า private brand ของตนมากขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สินค้า OEM นั่นเอง ตลอดจนสินค้าต่างๆ ก็มีการพิจารณาเพื่อนำเข้ามาวางจำหน่ายให้หลากหลายขึ้น ก็เป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยด้วย ตลอดจนแนวโน้มการพิจารณาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องสำอาง ที่ทำจากพืช เป็นต้น
โฆษณา