26 ธ.ค. 2021 เวลา 06:00 • ความคิดเห็น
ที่สุดแห่งปี 64 กับน้ำท่วมใหญ่ หลังผ่านมหาอุทกภัย 10 ปี แผนจัดการน้ำไปถึงไหน
ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ยังไม่ทันเลือนลาง ผ่านมา 10 ปี ประเทศไทยต้องเผชิญกับอุทกภัยอีกครั้ง หลายคนตั้งคำถามถึงแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล วันนี้ "เนชั่นออนไลน์" จะสรุปที่สุดแห่งปี 64 กับเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่าน
เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งล่าสุดในปี 2564 สาเหตุหลักมาจากพายุ 1 ลูก คือ "พายุเตี้ยนหมู่" ทำให้หลายพื้นที่ในหลายจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลายพื้นที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก และเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมแทบจะทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคกลางตอนเหนือกับภาคอีสาน พื้นที่เกษตรกรรมเสียหาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน อาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้เป็น ที่สุดแห่งปี 64 จากภัยธรรมชาติ
เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2564 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพายุ "เตี้ยนหมู่"
รายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2564 มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ครอบคลุมมากกว่า 31 จังหวัด ในขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ระบุว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครอบคลุมมากกว่า 2,088,263 ไร่ มีผู้เสียชีวิต 7 ราย สูญหาย 1 ราย และประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 227,470 ครัวเรือน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจคิดเป็นเม็ดเงินรวม 25,000 ล้านบาท หรือ 0.16% ของ GDP โดยแบ่งออกเป็นผลกระทบต่อภาคเกษตร และผลกระทบนอกภาคเกษตรในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งผลกระทบหลักๆ นี้จะตกอยู่กับกำลังซื้อของครัวเรือนฐานราก
ขณะที่ในส่วนของการผลิตภาคอุตสาหกรรม และในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า น่าจะไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรง เพราะกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับผลกระทบที่คิดเป็นเม็ดเงิน 25,000 ล้านบาท นี้ ยังนับว่าน้อยหากเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554
ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลาย ประชาชนต่างส่งเสียงถึงรัฐบาลเกี่ยวกับแผนจัดการอุทกภัยในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ได้คลี่คลาย รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เสนอแผนโครงการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ซึ่งประกอบด้วย 8 แผนงาน วงเงินรวม 324,606 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แผนโครงการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ถูกยกเลิกในปี 2557 โดยคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติยกเลิกการดำเนินการตามแผนโครงการดังกล่าว และให้ใช้แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี 2558-2569) แทน
สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลปัจจุบัน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ได้มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยแนวทางการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย อยู่ในด้านที่ 3 ของแผนแม่บท มีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การจัดระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง การจัดการพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ชะลอน้ำ รวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ในระดับลุ่มน้ำและพื้นที่วิกฤต (Area based) ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ลุ่มน้ำสาขา รวมทั้งลดความเสี่ยงและความรุนแรงลงไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60
ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติน้ำท่วมแต่ละครั้งมีมูลค่านับ "ล้านล้านบาท" แต่การขับเคลื่อนแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำสู่การปฏิบั้ติ หลายฝ่ายประเมินว่ายังไม่คืบหน้า แม้ประเทศไทยเราจะมีบทเรียนจากมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ล่าสุดปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้เสนอแผนบูรณาการด้านทรัพยากรน้ำกว่า 48,000 โครงการ วงเงินกว่า 3.6 แสนล้านบาท
อีกหนึ่งปัญหาที่ภาครัฐจะต้องหันมาตระหนัก คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ให้มากขึ้น ทั้งเรื่องความรุนแรงและความไม่แน่นอนของปริมาณความเข้มของน้ำฝน เส้นทางเดินของพายุ และปริมาณน้ำท่วม ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยจะต้องมีนโนยายในการเตรียมรับมือป้องกันและบรรเทาปัญหาที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ต้องมีการบังคับใช้ผังเมืองอย่างจริงจังเพื่อจัดแบ่งโซนพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัย พื้นที่อุตสาหกรรม หรือพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีเส้นทางการไหลของน้ำที่ชัดเจนและบังคับใช้กฎหมายเรื่องการบุกรุกแหล่งน้ำหรือการถมคูคลองอย่างจริงจัง
อ้างอิง : ศูนย์ข้อมูลกสิกรไทย
อ่านเพิ่มเติม >> https://www.nationtv.tv/news/378857809
โฆษณา