10 ม.ค. 2022 เวลา 03:20 • ข่าว
๑๕ ปี อาสาสมัครเพื่อนไทย
รายการบันทึกสถานการณ์ ได้เชิญคุณพิณ ศรีดุรงคธรรม นักวิเทศสหการชำนาญการพิเศษ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency - TICA) กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมพูดคุยและประชาสัมพันธ์โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทยในโอกาสครบรอบ ๑๕ ปี ในปี ๒๕๖๔ https://www.youtube.com/watch?v=LbqRFZbIrTo
โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย หรือ Friends From Thailand (FFT) เป็นโครงการที่ส่งบุคลากรวัยหนุ่มสาวไปปฏิบัติงานพัฒนาประเทศกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการดำเนินการโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ TICA กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการบูรณการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย ซึ่งดำเนินงานโดยหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายด้านการต่างประเทศในยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ทั้งนี้ โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทยได้ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๔
โครงการนี้มีรายละเอียดอย่างไรกันบ้าง เราลองมาดูคำบอกเล่าของคุณพิณกันเลยค่ะ...
วัตถุประสงค์หลักโครงการฯ
๑) ขยายกลไกการให้ความร่วมมือของไทย
๒) เสริมสร้างบทบาทและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยเฉพาะการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเวทีระหว่างประเทศ
๓) เสริมสร้างความสัมพันธ์ มิตรภาพ และทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทยในระดับประชาชนของประเทศผู้รับ
๔) เสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาบุคลากรของไทยในการปฏิบัติงานในต่างประเทศ
รูปแบบการดำเนินงานของโครงการฯ
มีทั้งการส่งผู้เชี่ยวชาญไปต่างประเทศเพื่อให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนา ให้คำแนะนำกับชุมชนและคนท้องถิ่น และให้ทุนการศึกษากับบุคลากรประเทศผู้รับ รวมทั้งจัดการฝึกอบรมในประเทศไทยให้กับบุคลากรจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนทักษะ และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สำหรับการดำเนินงานด้านเทคโนโลยี เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาสาสมัครที่เดินทางไปปฏิบัติงานในต่างประเทศจึงมีภารกิจหลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านการพัฒนากับประเทศผู้รับ รวมทั้งการสร้างมิตรภาพและส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยราชการและชุมชนในพื้นที่ที่ดำเนินโครงการ ซึ่งจะช่วยนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อไทย
การค้นหาและการคัดเลือกอาสาสมัคร
TICA จะประสานงานกับประเทศผู้รับว่ามีความต้องการหรือสนใจรับอาสาสมัครสาขาใด จากนั้น จึงจะทำการประกาศคัดเลือกอาสาสมัครที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศผู้รับและมีความเหมาะสม รวมทั้งจัดให้มีการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางไปปฏิบัติงาน
...ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์โควิด-๑๙ ได้ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของอาสาสมัครไทยในต่างประเทศ ทาง TICA คำนึงถึงความปลอดภัยและสวัสดิภาพของอาสาสมัครไทย จึงให้เดินทางกลับก่อนสิ้นสุดระยะเวลาปฏิบัติงาน แต่ในบางประเทศก็ยังมีอาสาสมัครอยู่ โดยสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศนั้น ๆ ได้ประเมินแล้วว่ามีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศภูฏาน ที่มีอาสาสมัครเพื่อนไทยปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ...และแม้ว่าระยะเวลางานจะสิ้นสุดไปแล้วก็ตาม ก็ยังคงมีอาสาสมัครเพื่อนไทยปฏิบัติงานอยู่ในภูฏาน มีทั้งอาสาสมัครที่ทำหน้าที่ตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ จากตัวอย่างที่ถูกส่งมาจากทั่วประเทศภูฏาน วันละไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ ตัวอย่าง บางคนก็ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ โดยทำหน้าที่จัดการและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการระบาด รวมถึงให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ภูฏานในการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์และแผนการควบคุมโรค เพื่อเผยแพร่ให้กับประชาชนต่อไป โดยอาสาสมัครเพื่อนไทยเหล่านั้นต่างได้รับการยอมรับและชื่นชมจากรัฐบาลภูฏานที่ได้ให้ความช่วยเหลือในห้วงวิกฤตการระบาดของโควิด-๑๙
อาสาสมัครกับงานด่านหน้าในแล็บตรวจโควิด-๑๙ แห่งเดียวของภูฏาน             ภาพจาก Facebook กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
อาสาสมัครกับงานด่านหน้าในแล็บตรวจโควิด-๑๙ แห่งเดียวของภูฏาน  ภาพจาก Facebook กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
...ฟังแล้วรู้สึกภูมิใจมากเหมือนดิฉันมั้ยคะ
ไทยเองก็ได้รับประโยชน์จากโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทยเช่นกัน โดยตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี ที่เริ่มดำเนินการมา (ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗) TICA ได้ส่งอาสาสมัครไปปฏิบัติงานต่างประเทศแล้ว ๑๖๓ คน ไม่ว่าจะเป็นภายใต้โครงการความร่วมมือของรัฐบาลไทยหรือตามคำขอของประเทศผู้รับ โดยให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม และประเทศที่ไทยได้ให้ความสำคัญด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ เช่น ภูฏาน ติมอร์-เลสเต และประเทศในแอฟริกา เป็นต้น
สำหรับสาขาที่เน้น ส่วนใหญ่เป็นสาขาพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นสาขาที่คนไทยมีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เช่น ด้านการเกษตร สาธารณสุข และการศึกษา ซึ่งรวมถึงการสอนภาษาไทยและดนตรี การวางแผนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับนักท่องเที่ยว และการพัฒนาฝีมือแรงงานอาชีวะ ช่างไม้ ช่างกล และช่างไฟฟ้า เป็นต้น
การยอมรับในระดับสากล
การดำเนินงานของอาสาสมัครเพื่อนไทยได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จในระดับระหว่างประเทศและระดับโลก เนื่องจากปัจจุบัน สหประชาชาติ หรือ UN (United Nations) ได้ส่งเสริมบทบาทของอาสาสมัคร ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs) ได้คัดเลือกให้โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทยเป็นตัวอย่างของความสำเร็จและแนวปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนเป้าหมายเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
และในโอกาสที่โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทยเดินทางเข้าสู่ปีที่ ๑๕ ทาง TICA ได้จัดงาน TICA CONNECT ครั้งที่ ๗ ภายใต้หัวข้อ “TICA เชื่อมโยงเพื่อนจากประเทศไทย” (“TICA Connect Friends from Thailand”) แบบ New Normal โดยมีแนวคิด “เสริมสร้างบทบาทของอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาในระดับโลก” (“Enhancing the Role of Volunteers for Global Development”) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๘.๓๐ – ๒๑.๐๐ น. พร้อมทั้งเปิดตัวเว็บไซต์ www.ticaconnect.com เพื่อให้ผู้สนใจได้รับชมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการด้วยค่ะ
ภาพจาก เว็บไซต์กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
เชิญชวนเลยค่ะ...ผู้ที่สนใจงานอาสาสมัครสามารถเข้าไปดูข้อมูลต่าง ๆ ในเว็บไซต์ได้นะคะ และเปิดชมวีดิทัศน์รับฟังประสบการณ์ของเหล่าพี่น้องอาสาสมัครเพื่อนไทย พร้อมทอล์กโชว์จากครูเงาะ - รสสุคนธ์ กองเกตุ และมินิคอนเสิร์ตจากนนท์ – ธนนท์ จำเริญ ด้วยนะคะ... เข้าไปดูเว็บไซต์กันเลยดีกว่าค่ะ รับรองว่าประสบการณ์ของอาสาสมัครแต่ละคนน่าประทับใจและน่าสนุกมาก ๆ ค่ะ
นางสาวพิมพ์นารา กมลสินมหัต
เจ้าหน้าที่ประมวลและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา