30 ธ.ค. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
3 วิธีเปลี่ยนโลกให้เป็นแง่บวก แม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์ลบๆ
1
ถ้าเราต้องเลือกประโยคเพื่อบรรยายภาพแก้วน้ำที่บรรจุน้ำอยู่ครึ่งหนึ่ง เราจะเลือก “แก้วนี้มีน้ำอยู่ตั้งครึ่งหนึ่ง” หรือ “แก้วนี้ยังขาดน้ำอีกครึ่งหนึ่ง”
1
คนที่มองโลกในแง่บวกมักจะตอบว่า “แก้วนี้มีน้ำอยู่ตั้งครึ่งหนึ่ง” เพราะพวกเขาเห็นข้อดีของแก้วที่บรรจุน้ำใบนี้ หนึ่งในคนที่มองโลกเช่นนี้ได้แก่ Gottfried Wilhelm von Leibniz นักปรัชญาชาวเยอรมัน และนักคณิตศาสตร์ (เราอาจรู้จักเขาจากการเป็นผู้คิดค้นทั้งคำว่า “ฟังก์ชัน” ระบบเลขฐานสองที่ใช้ในคอมพิวเตอร์และวิชาแคลคูลัสที่หลายคนเกรงกลัว) ปรัชญาที่โด่งดังของ Leibniz คือ “โลกที่เราอยู่ในขณะนี้คือโลกที่ดีที่สุดจากความเป็นไปได้ทั้งหมด” ซึ่งแนวคิดนี้สื่อถึงความเป็น Optimism ในตัวเขาอย่างเต็มกำลัง
2
ในขณะที่คนมองโลกในแง่ร้ายนิยมเลือกคำตอบที่สอง ซึ่งมองว่าน้ำยัง “ขาด” อีกตั้งครึ่งหนึ่ง หนึ่งในนั้นได้แก่ Arthur Schopenhauer นักปรัชญาชาวเยอรมัน ผู้ที่ใช้เวลาตลอดชีวิตไปกับการมองโลกในแง่ร้าย โดยเขามองว่า “ความสุขคืออุปสรรคของชีวิต”
1
Schopenhauer ยังได้แย้งปรัชญาของ Leibniz ด้วยตรรกะที่ว่า “ความเป็นไปได้ที่ Leibniz สื่อถึง ไม่ใช่สิ่งที่เราจะมาจากการวาดฝันหรือคิดไปเองได้ แต่ควรมาจากความจริงที่เกิดในขณะนี้ แม้ยังไม่มีความเป็นไปได้ที่โลกเราจะยังเลวร้ายจนถึงจุดสิ้นสุด แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ตอนนี้โลกของเราก็ดำเนินไปในหนทางที่เลวร้ายที่สุด เพราะมันทวีความรุนแรงและใช้ชีวิตยากขึ้นเรื่อยๆ”
1
ในโลกปัจจุบันที่มนุษย์เราต้องเผชิญทั้งภาวะโลกร้อน โรคระบาด สงคราม และภัยพิบัติต่างๆ เราอาจเห็นด้วยกับปรัชญาของ Schopenhauer มากกว่า เพราะมันทำให้เรามองโลกด้วยความเป็นจริงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มุมมองนี้อาจทำให้ใครหลายๆ คนรู้สึกท้อกับชีวิตที่เป็นอยู่ในตอนนี้ มากกว่าจะเกิดแรงผลักดันที่จะลุกขึ้นสู้และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
1
ยิ่งไปกว่านั้น การมองโลกในแง่ร้ายนั้นยังมีผลเสียอีกอย่าง ซึ่งก็คือทำให้เรา “อายุสั้น” กว่าที่ควรจะเป็น
1
จากการวิจัยของมหาวิทยาลัย Boston ในปี 2019 นักวิจัยได้ติดตามชีวิตของชายและหญิงมากกว่า 70,000 คน พวกเขาพบว่า กลุ่มชายและหญิงที่มองโลกในแง่ดีมากที่สุดมีอายุยืนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 11-15% บ้างอาจมีอายุยืนยาวเกิน 85 ปีเลยทีเดียว
1
อีกหนึ่งการวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล Elizabeth Blackburn และนักจิตวิทยาด้านสุขภาพ Elissa Epel พวกเธอได้ศึกษาผลเสียที่เกิดจากการคิดเชิงลบ แล้วพบว่า พวกมันทำลาย Telomere ซึ่งเป็นปลายที่คอยปกป้องโครโมโซมของเรา โดยปกติแล้วโครโมโซมจะสั้นลงทุกครั้งที่มีการแบ่งเซลล์จากการใช้ชีวิต แต่การมองโลกในแง่ร้ายกลับสามารถกระตุ้นให้ Telomere หดสั้นเร็วกว่าปกติซึ่งส่งผลให้เรามีชีวิตสั้นลงกว่าเดิม
จะเห็นได้ว่าคิดลบนั้นน่ากลัว! แต่คิดบวกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนคงเริ่มสงสัยว่า “บนโลกที่มีแต่สถานการณ์เลวร้ายแบบนี้ แล้วเราจะสามารถมองโลกในแง่บวกได้ยังไงกัน”
หากยังคิดไม่ออก ลองมาอ่าน 3 วิธีที่จะช่วยให้เรารักษาความคิดเชิงบวกไว้ได้กันดีกว่า
1
1. ปล่อยให้ตัวเราได้เรียนรู้อารมณ์ที่เป็นอยู่
เวลาเราแสดงอารมณ์เชิงลบ ไม่ว่าจะโมโห เสียใจ หลายครั้งที่เราพยายามบอกให้ตัวเราฮึบๆ ไว้ เพราะมองว่าการระบายอารมณ์เหล่านี้ดูเด็ก หรือไม่เป็นมืออาชีพ แต่เมื่อเราอดกลั้นสะสมอารมณ์ลบไว้ในใจนานเข้า สักวันมันก็ต้องระเบิดออกมาและอาจรุนแรงเกินกว่าที่จะควบคุมไหว
ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกถึงอารมณ์เชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โมโห เศร้า ท้อแท้ ลองให้จิตใจเราได้กลั่นกรองอารมณ์เหล่านี้ เพื่อให้เราเข้าใจด้านลบในตัวเราได้ดีขึ้น ในช่วงเวลานั้นเราอาจรู้สึกว่า ตนเองช่างอ่อนแอ แต่นั่นคือสิ่งที่แสดงว่า เรายังมีชีวิตและมีความเป็นมนุษย์
1
หลังเราระบายอารมณ์ลบเรียบร้อยแล้ว แทนที่จะมานั่งเสียใจหรือเสียดายว่า ‘ฉันนี่มันช่างคิดลบจริงๆ’ หรือ ‘เจ้าอารมณ์แบบนี้คนอื่นต้องไม่ชอบแน่เลย’ ลองนำสิ่งที่ได้จากเหตุการณ์มาเป็นบทเรียนในการดำเนินชีวิตเสียใหม่
เช่น หากเราโมโหที่เหตุการณ์ต่างๆ ไม่เป็นใจให้เราเลย ลองระบายอารมณ์ที่คุกรุ่นในใจให้หมดสิ้น แล้วค่อยมาคิดหาวิธีว่า จะทำอย่างไรให้รับมือกับอารมณ์ได้ดีกว่านี้ หรือจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์เดิมๆ เช่นนั้นได้อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นซ้ำอีก
2. ทำใจยอมรับสถานการณ์ที่เลวร้าย
สาเหตุที่เราคิดบวกได้ยากเป็นเพราะเราไม่สามารถหนีจากสถานการณ์เลวร้าย หรือข่าวเชิงลบในชีวิตอย่างสิ้นเชิงได้ ดังนั้นก่อนจะข้ามขั้นไปมองโลกในแง่ดี ลองทำสิ่งที่ง่ายกว่าให้สำเร็จก่อน ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ การทำใจ “ยอมรับ” ว่า ณ ช่วงเวลานี้เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และทำได้เพียงแค่ปล่อยให้สถานการณ์นั้นเกิดขึ้น ดำเนินไปในแบบของมัน และจบไป
การยอมรับยังช่วยให้เรารับมือกับอารมณ์ได้ดีขึ้นหลังจากพบเจอสิ่งเลวร้าย หลายครั้งที่เจอเรื่องแย่ๆ เราไม่รู้ตัวเลยว่าเรากำลังอยู่ในอารมณ์เชิงลบ ซึ่งสภาวะนี้ส่งผลให้เราตัดสินใจอะไรได้ช้าลง ทำให้เรารู้สึกอ่อนแอ และอาจรู้สึกหมดหนทาง ลองหันมายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นดูไหม เพราะนั่นจะช่วยให้เรารับความจริงในแบบที่เป็น ค่อยๆ ก้าวข้ามความรู้สึกเชิงลบที่เป็นอยู่ และรู้สึกสงบมากกว่าที่จะเอาใจไปคิดถึงเรื่องเลวร้ายวนไปวนมา
1
โดยสรุปแล้ว หากเราประเมินสถานการณ์แล้วพบว่า มันเกินกำลังของเรา ก็ให้ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเดินหน้าต่อไปโดยไม่ต้องเสียเวลาและกำลังไปกับสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
3. ควบคุมการแสดงออกของเรา
ถึงเราจะไม่สามารถควบคุมความคิดได้ แต่เราสามารถเลือกยกด้านดีๆ ของทุกสถานการณ์มามองเป็นหลักได้ แต่หลักสำคัญคือ “เลือกวิธีแสดงออกทางพฤติกรรมหรืออารมณ์อย่างไรให้เป็นเชิงบวก”
หากอยากจะฝึกการเป็นคนมองโลกในแง่ดีในทุกสถานการณ์นั้น เริ่มจากฝึกมองหาสิ่งดีๆ ทั้งจากในตัวเราไปจนถึงหาจากคนรอบๆ ตัวเรา เราอาจเริ่มต้นเล็กๆ จากการฝึกพูดจากับตัวเองให้ดี ไม่เกิดความรู้สึกลบๆ หรือจะเป็นการควบคุมตัวเองให้โต้ตอบบทสนทนากับผู้อื่นอย่างเหมาะสม ไม่ใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ และไม่แสดงความเห็นในเชิงมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป
1
นอกจากนี้ ยังมีการฝึกควบคุมการแสดงออกเล็กๆ ที่ทุกคนทำได้ ซึ่งก็คือ การเลือกว่าจะตอบรับวันใหม่อย่างไรตั้งแต่หลังตื่นนอนเช่น เราจะเลือก “ต้อนรับเช้าวันใหม่ด้วยความสดใส และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่จะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น” หรือเลือกที่จะ “ให้ตัวเราจมอยู่กับอารมณ์แย่ๆ แล้วปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความรู้สึกไม่สดใสตลอดทั้งวัน”
สุดท้ายนี้ ถึงเราจะรู้สึกว่า ตอนนี้อารมณ์และความคิดเราไวเกินจะควบคุมได้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะควบคุมมันไม่ได้ตลอดไป เราลองมาฝึกตาม 3 ขั้นตอนนี้ แล้วเราจะพบว่า การมองโลกในแง่ดีท่ามกลางเหตุการณ์แย่ๆ อาจไม่ได้ยากแบบที่เราคิด
1
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- 5 วิธีหนี “Downward Spiral” เพราะวันดีๆ เริ่มต้นที่อารมณ์แรกของวัน: https://bit.ly/3yWUBjv
- จะตามหา ‘ความสุข’ ได้อย่างไรในช่วงเวลายากลำบาก: https://bit.ly/3Jhx41o
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
โฆษณา