31 ธ.ค. 2021 เวลา 08:05 • หนังสือ
🎊New Year is Nearly Coming!🧣🎁🎉
ใกล้จะปีใหม่ในอีกไม่กี่ชั่วโมง บางคนก็เริ่มเขียน New Year’s Resolution ปณิธานที่ตั้งมั่นว่าจะทำให้ได้ในปีหน้ากันแล้ว
แอดมินยังไม่มีปณิธานกับเขา เพียงแต่ว่าเพิ่งมีโอกาสได้อ่านงานเขียนของคุณโกโดะเล่มนี้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้อ่านงานเขียนเขามาบ้าง อย่างเช่น หนังสือพลังของคนที่กล้าทำอะไรคนเดียว ซึ่งส่วนตัวรู้สึกชอบเพราะทำให้ได้หัดอยู่กับตัวเองและเห็นคุณค่าแห่งตน
แต่ทำไมถึงเพิ่งได้อ่านเล่มนี้กัน ถ้าอ่านตั้งนานเราคงเลิกเป็นคนดีไปละ (หัวเราะ) เลยคิดได้ว่าเนี่ยแหละ มันจะเป็นปณิธานปีใหม่ของเรา คือ เลิกเป็นคนดีซะ! จะได้ไม่อมทุกข์ (อย่าเพิ่งคิดว่าแอดจะไปทำร้ายใครนะคะ โปรดอ่านที่จะเขียนต่อไปก่อนค่า ฮ่า ๆ) เอ้า เริ่มเลย
📚จิตวิทยาพัฒนาตนเอง
เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข
「いい人」をやめれば人生はうまくいく
เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข
“คนดีจะเห็นคุณค่าในตัวเองก็ต่อเมื่อได้รับการยอมรับจากผู้อื่น การถูกปฏิเสธตัวตนด้วยการบอกเลิกจึงเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก “
🍀🍀🍀
“ คนที่เอาแต่เออออไปกับคนอื่นโดยไม่พูดความคิดหรือความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง มักถูกคนอื่นมองว่า “ไม่รู้ว่าคิดอะไรอยู่” ดังนั้นคนรอบตัวก็จะไม่พูดหรือแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เรารู้สึกเหงาหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนเกินแม้อยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูง “
“ คนที่พูดจาว่าร้ายคุณ นอกจากเป็นพวกไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว ยังเป็นคนที่ไม่มีความสำคัญกับคุณเลย จึงไม่ควรเข้าใกล้หรือเพิกเฉยไปเลยจะดีกว่า “
“ สิ่งที่จะสร้างความมั่นใจให้เรายืนได้ด้วยขาของตัวเอง เดินได้ด้วยแรงของตัวเอง และใช้ชีวิตด้วยการตัดสินใจของตัวเองได้นั้น ไม่ได้มาจากคนอื่น แต่มาจากตัวเราเอง “
นับว่าเป็นหนังสือที่สะดุดตากับชื่อพอสมควร… (หัวเราะ) ในหัวเราตอนที่ยังไม่ได้อ่านแค่เห็นชื่อก็เอะใจว่า ‘จะให้เราเป็นคนชั่วใช่หรือไม่’ แต่กลับกัน นักเขียนได้นิยามคำว่า ‘คนดี’ ที่ความหมายน่าจะดูบวกนั้น ไว้อย่างเชือดเฉือนนิดหน่อย เจ็บแสบนิด ๆ
ดังนั้น ‘คนดี’ ในที่นี้ แลดูเป็นคนที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้เพราะต้องมารองรับอารมณ์คนอื่นตลอดเวลา(ความดี?) เออออไปตามคนอื่น(ความดี?) ไม่เป็นตัวของตัวเองเพราะกลัวจะถูกเกลียด(ความดี?) และในเรื่องที่คนอื่นเป็นทุกข์ระดับหนึ่งแต่คนดีเป็นทุกข์ถึงระดับสิบ?!?(และนั่นคือความดี?) และสารพัดนิยามคนดีในแบบฉบับที่นักเขียนถ่ายทอด อ่านแล้วก็รู้สึกว่า อา…นั่นคือคนดีหรือนั่น ทำไมคนดีช่างโอนอ่อนผ่อนตามคนอื่นไปเสียดื้อ ๆ และมานั่งอมทุกข์อุกในใจในภายหลังละนั่น
หากว่าสิ่งที่สังคมหล่อหลอมให้เราเชื่อมั่นในกฎเกณฑ์ ขนบธรรมเนียม หรือการทำอะไรที่ไม่ได้ดูแตกต่างออกไป แตกต่างในที่นี้ไม่ใช่การไปทำผิดกฎหมาย ฆ่าฟัน หรือหลอกล่อใคร นั่นเป็นสิ่งที่ผิดแน่นอน ทว่าอย่างเช่น ผู้หญิงต้องรับผิดชอบหน้าที่ในบ้านไม่ขาดตกบกพร่อง ยิ่งโตขึ้นยิ่งควรต้องมีเพื่อนเยอะ หรือกระทั่งการใช้ชีวิตตัวคนเดียวคือคนที่ไม่มีใครคบ (จนต้องหลบไปทานข้าวในห้องน้ำ) สิ่งเหล่านี้ช่างบีบคั้นจิตใจเรายิ่งนัก
หนังสือเล่มนี้ได้อธิบายว่าทำไม ‘คนดี’ จึงเป็นเช่นนั้น…
「いい人」をやめれば人生はうまくいく by Kodo Tokio
ภายในหนังสือแบ่งออกเป็นบทใหญ่ 6 บท ไม่รวมบทนำกับบทส่งท้าย ดังนี้
📚ตั้งแต่บทนำ คนดีในที่นี้คือคนที่ทำตัวให้ป๊อบเป็นที่ชื่นชอบ และแน่นอนคือการคอยแคร์สายตาผู้อื่นอยู่ตลอด แต่อาจทำให้ถูกมองข้ามได้ง่ายและถูกหลอกใช้ได้ ถ้าไม่อยากเป็นคนดีนักเขียนก็บอกว่าต้องสร้างหนทางปลดปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระ อย่างอิสระทางกาย จะทำแบบนี้ก็ต้องมีเงิน และอิสระทางใจ อันนี้คือไม่ปล่อยให้ผู้อื่นมีอิทธิพลเหนือเรา
📌ต่อมา บทที่ 1 ว่าด้วยเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล”
การที่ต้องปั้นยิ้มเสแสร้งก็คือการสวมหน้ากากเข้าหากัน ให้เราสังเกตปฏิกิริยาของอีกฝ่าย จะได้รู้ว่าควรจะตอบรับแบบไหน เรื่องการถูกเกลียดให้คิดว่าส่งผลเสียอะไรกับชีวิตบ้าง หรือพยายามทำตามคนอื่น จะมีข้อดีข้อเสียยังไง นำมาเปรียบเทียบกัน
การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราเป็นคนเลือกนับว่าเป็นอภิสิทธิ์ของผู้ใหญ่ที่ต้องใช้ให้เป็น หรือการอยู่คนเดียวที่อาจจะเหงาไปบ้าง แต่จะแย่ยิ่งกว่าคือมานั่งกังวลว่าคนอื่นจะคิดว่าอย่างไร
📌ต่อมาบทที่ 2 ว่าด้วยเรื่อง “ปฏิสัมพันธ์”
การสร้างรอยยิ้มที่เป็นธรรมชาติคือ การรู้สึกขอบคุณอีกฝ่ายและแบ่งปันความสุขที่ได้อยู่ด้วยกัน คนดีไม่เลิกปฏิเสธ นั่นเท่ากับเลือกใช้เวลาไปกับเรื่องน่าเบื่อหน่ายและเสียสะตางและการปล่อยให้อีกฝ่ายว่าร้ายเราเพียงฝ่ายเดียว มันช่างน่าโมโหเสียจริง จึงต้องตอบโต้ให้รุนแรงกว่า อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับคนดี แต่ให้ตอบไปว่า ‘แล้วยังไงล่ะ’
คนที่ปล่อยให้คนอื่นว่ากล่าวเพียงฝ่ายเดียว แต่ใช้ความสงบนิ่งเข้าสู้ คนอื่นจะมองว่า ‘พึ่งพาไม่ได้’ คนดีมักปล่อยให้เข้ากับคนรอบข้างเพื่อเลี่ยงการปะทะ คนดีมักขี้กังวลแถมคิดมากแม้กับเรื่องเล็กน้อยในสายตาคนทั่วไป คนดีจึงอายุสั้นเพราะเครียดง่าย
📌ต่อมาบทที่ 3 ว่าด้วยเรื่อง “ความเชื่อ”
ให้เลิกเป็นคนธรรมดา หากอยากสร้างสรรค์อะไรที่แปลกใหม่ไม่เหมือนชาวบ้านต้องทำอะไรให้ประหลาด คิดหักมุมจากที่อีกฝ่ายคาดการณ์ คนดีไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพราะเป็นคนธรรมดา เรื่องเพื่อนก็เช่นกัน เลิกกังวลกับการมีเพื่อนน้อย มันไม่ใช่เรื่องน่าอายขอแค่มีคนที่เปิดอกคุยกันแค่คนเดียว หัวเราะ ร้องไห้ไปด้วยกันก็พอ
การแคร์สังคมคือความกลัวแค่ว่าคนอื่นจะคิดกับเราแบบไหน ทั้ง ๆ ที่คนอื่นที่ว่าไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง คนดีเชื่อในสิ่งที่คิดไปเองแบบไม่มีมูลเหตุ คิดมากไปเองคนเดียว
📌ต่อมาบทที่ 4 ว่าด้วยเรื่อง “ทรัพย์สินเงินทอง”
‘ยิ่งเป็นคนดีก็ยิ่งจน’ คนดีคิดว่าการคุยเรื่องเงินแลดูไม่มีมารยาท แต่ความจริงแล้วประเด็นอยู่ที่ผู้ใช้ต่างหาก ถ้าไม่อยากขัดสนด้านนี้ ต้องพูดคุยเรื่องนี้ให้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ไปถามซอกแซกเรื่องรายได้ หรือถามว่ายื้มเงินหน่อยหรือช่วยเหลือคนจน ๆ แบบเราหน่อยอะไรแบบนี้ แต่เป็นการถามเพื่อให้รู้หัวข้อการเงินที่กว้างขึ้น เช่น มีวิธีประหยัดแบบนี้ด้วยนะ หรือที่นี่มีของลดราคาด้วย
คนดีตั้งค่าความสามารถของตัวเองถูก ๆ และมักขีดเส้นจำกัดความสามารถ และหักหลังตัวเองในอนาคต สังคมที่เต็มไปด้วยการต่อรองในเรื่องต่าง ๆ คนดีมักยอมรับเงื่อนไขที่เสียเปรียบ คนที่ต่อรองเก่งก็คือคนขี้โกงนิด ๆ และมีเสน่ห์
📌ต่อมาบทที่ 5 ว่าด้วยเรื่อง “ความรัก”
ยิ่งเป็นคนดี ยิ่งกลัวการเข้าไปอยู่ในใจของอีกฝ่าย ระยะห่างระหว่างกันจึงไม่มีวันลดลง การไม่แสดงความรู้สึกที่แท้จริง คนดีมักเห็นคุณค่าของตัวเองก็ต่อเมื่อได้รับการยอมรับจากคนอื่น ดังนั้นเมื่อถูกปฏิเสธตัวตน คนดีจึงเจ็บปวดมากกว่า ทั้งการทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับคนรักมากเกินไปก็เสี่ยงต่อการถูกหลอกใช้ เพราะคนประเภทนี้มีเยอะทีเดียว
บางครั้งคนดีมีรักที่ยืนยาวไม่ได้เพราะไม่มั่นใจในความรู้สึกตนเอง มีความนับถือตัวเองต่ำ คิดไปว่าอารมณ์ความรู้สึกของตนไม่ใช่ของจริง จึงไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่านั่นคือความรักหรือไม่
📌ต่อมาบทที่ 6 ว่าด้วยเรื่อง “การสร้างผลผลิตใหม่”
คนดีมักจะโหยหาความรัก มีความนับถือในตัวเองต่ำ และมักจะสอนให้ลูกเป็นคนดีเหมือนกับตน และอีกหนึ่งผลผลิตของคนดีคือโซเชียลมีเดียที่เป็นกลยุทธ์อันเหมาะกับคนที่โหยหาความรักอย่างมาก คนดีจึงไม่ลังเลที่จะโอ้อวดชีวิตที่แสนสำราญผ่านสื่อต่าง ๆ รู้สึกไม่ดีที่ไม่มีคนคอมเม้นต์ ไม่มีคนตอบข้อความ หรือกดไลก์
เพราะเมื่อได้รับการยอมรับจากผู้อื่นจึงค่อยรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง ผู้ใหญ่ที่ติดโทรศัพท์มือถือจนละเลยการเลี้ยงดูลูก ส่วนลูกก็เอะอะโวยวายเมื่อพ่อแม่ไม่ให้เล่นโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้เกิด ‘คนดี’ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้องการความรักที่ครอบครัวไม่มีให้
📚ส่วนบทส่งท้ายนั้น เรื่องน่าคิดจากการเปลี่ยน ‘คนดี’ เป็น ‘ผู้ใหญ่ที่แท้จริง’
- การเป็นผู้ใหญ่ ไม่ได้แปลว่าต้องอดทน ผู้ใหญ่ในที่นี้คือคนที่ไม่ปักใจเชื่อตามสิ่งที่ไม่มีมูลเหตุ ใช้ชีวิตด้วยความตั้งใจของตัวเอง
ไม่ดึงดันแต่ความคิดตัวเอง แต่แสดงให้คนอื่นรู้ว่า ‘มีวิธีคิดแบบนี้ด้วยนะ’
- สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราต้องมี ‘สติ’ แยกแยะ มีความกล้าหาญในสิ่งที่เปลี่ยนแปลง และเปิดกว้าง เพื่อยอมรับกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
สรุปแล้ว เราคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็น how to ที่ทำให้รู้สึกว่าเรากำลังเป็นคนดีอยู่ เพียงเพราะเราไม่อยากถูกเกลียดถูกชังแต่ท้ายสุดแล้วเราก็จะเป็นคนเลวให้กับตัวเราเอง เราเก็บกักความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นบอกว่าชอบหรือไม่ชอบ ได้ดั่งใจหรือไม่ได้ดั่งใจ พอใจหรือไม่พอใจ ไว้ในใจเพียงคนเดียว ไม่ให้ใครรู้ เพราะเดี๋ยวจะถูกมองว่า ‘ไม่ดี’ คนดีในการรับรู้ของคนอื่นกับของเราจึงต่างกัน
การจะทำได้ตามหนังสือบอกทั้งหมดก็ต้องพิจารณาเป็นสถานการณ์ ๆ ไป (ยังมีสิ่งที่บอกเล่าไม่หมดเพราะเอามาแต่ที่ตัวเองคิดว่าสำคัญ จึงต้องอ่านด้วยตนเอง) นักเขียนยังบอกเลยว่าไม่ขอเป็นผู้ตัดสินให้ใครและอาจจะชอบหรือไม่ชอบความคิดเขาก็ได้ เพราะนั่นเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของเขา เราก็เหมือนกัน ลางเนื้อชอบลางยา บางอย่างยังคิดว่ามันอาจจะมีข้อจำกัดของมันที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แบบฉับพลัน เพราะต่างคนก็ต่างระดับของความสามารถ การเงิน หรือช่วงวัย และบางอย่างที่ต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเช่นกัน
เขาถึงบอกให้ยอมรับว่าอะไรเปลี่ยนไม่ได้ หรือกล้าหาญเพื่อสิ่งใดที่เปลี่ยนได้
คนดีอาจจะชอบแก้ไข แต่ถ้าเลิกเป็นคนดีแล้ว เราก็คงไม่ต้องมานั่งแก้ไขหรอก ทั้งความกลัดกลุ้ม กังวล หรือแคร์สายตาใครมากเกินความจำเป็น เราคงได้ใช้ชีวิตที่ปรารถนา โดยที่ไม่ทีใครครอบงำเอาง่าย ๆ และมีความสุข
นักเขียน : โกะโด โทคิโอะ
นักแปล : อาคิรา รัตนาภิรัต
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ How to
โฆษณา